จริงๆ แล้วคน Gen Z ไม่ได้ต้องการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)
จากการสำรวจของ National Society of High School Scholars (NSHSS) พบว่า 23% ของคน Gen Z รู้สึกว่าการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Work) สำคัญมาก โดยในรายงานซึ่งสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมปลายและนักศึกษาเกือบ 11,500 คน ระบุว่า การเรียนออนไลน์ในช่วงที่โควิค-19 แพร่ระบาด อาจทำให้คน Gen Z จำนวนมากไม่อยากทำงานแบบ Remote Work รวมถึงการเริ่มงานใหม่ผ่านโปรแกรม Zoom
มีเพียง 13% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่กล่าวว่า อยากให้จัดการฝึกอบรมและปฐมนิเทศพนักงานใหม่ในรูปแบบออนไลน์ ในขณะที่ 63% บอกว่าต้องการมาเจอกันตัวเป็นๆ มากกว่า การสำรวจของ NSHSS ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าคน Gen Z ไม่ได้ต้องการทำงานแบบ Remote Work เพราะสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นสามอันดับแรกในการทำงานคือ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ความยืดหยุ่น และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
พนักงาน Gen Z หลายคนอยากจะเติบโตในหน้าที่การงาน พวกเขาจึงสนใจงานที่เห็นลู่ทางในการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน การสำรวจของ LinkedIn เมื่อต้นปีนี้เป็นเครื่องยืนยันอีกเสียง หลังพบว่า 40% ของพนักงาน Gen Z ยินดีถูกลดค่าจ้าง 5% แลกกับการทำงานในตำแหน่งที่มีโอกาสเติบโต
“ใครๆ ก็อยากเติบโตในหน้าที่การงานแบบก้าวกระโดด การได้รับคำชี้แนะในการทำงาน (Mentorship) จากหัวหน้าหรือผู้อำนวยการจึงถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” Oliver Pour บัณฑิตปี 2022 กล่าวกับ Fortune เมื่อเดือนที่แล้ว “บริษัทที่เพิกเฉยต่อความคาดหวังของคน Gen Z กำลังจะสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ” เขาเสริม
ทั้งนี้ Gen Z ยังคงเป็นหัวหอกในการลาออกจากงานครั้งใหญ่ (Great Resignation) โดยรายงานของ Lever พบว่า ราว 40% ของพนักงานวางแผนจะลาออกจากงานภายในหนึ่งปี แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในกลุ่มคน Gen Z
“ผมคิดว่าการลาออกครั้งใหญ่ในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง แต่มันเกี่ยวกับเรื่องทีม ความไว้ใจ และจุดมุ่งหมายมากกว่า” John Driscoll ซีอีโอของบริษัท CareCentrix กล่าว
Gen Z ต้องการคำชี้แนะในการทำงาน
คน Gen Z ยังต้องการเข้ามาทำงานในออฟฟิศเพื่อจะได้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายกับคนอื่น แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คน Gen Z ไม่ได้รับคำชี้แนะในการทำงานแบบเจอกันตัวเป็นๆ ดังนั้น การสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวหน้าในหน้าที่การงานจึงเป็นเรื่องยากสำหรับ Gen Z
“มันคือการดิ้นรน” Rabmeet Singh พนักงานจากบริษัท Deloitte ซึ่งไม่ได้ทำงานในออฟฟิศ กล่าวกับ Fortune “การฝึกอบรมหรือแม้แต่โอกาสในการพบปะกับเพื่อนๆ ถูกจำกัดอยู่แค่ในโปรแกรม Zoom ซึ่งมันไม่มีความหมายเท่าการเจอหน้ากันจริงๆ”
“ผู้คนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนในทีม (Team Connection) ไม่เพียงเพื่อปรับปรุงผลิตภาพของการทำงาน (Productivity) และการทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ลดความเครียด และให้รู้สึกอุ่นใจหากต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงในที่ทำงาน” Joe Thomas ซีอีโอของบริษัท Loom กล่าวกับ Fortune เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ดังนั้น งานวิจัยของ NSHSS จึงเสนอทางออกให้กับคน Gen Z และบริษัทที่จ้างคนเหล่านี้ ว่าควรให้มีการเข้าออฟฟิศบ้างเพื่อให้เป็นผลดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง
เขียนโดย Parinya Putthaisong
อ้างอิง fortune