พนักงานในหลายอุตสาหกรรมมักจะชอบใช้เวลาการทำงานระหว่างวันไปกับการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการพูดถึงเรื่องส่วนตัว และถึงแม้ว่าการสื่อสารพูดคุยกันจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน แต่การนินทาคนอื่นในทางเสียๆ หายๆ อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานได้
ในบทความนี้ จะพาทุกคนไปสำรวจว่าเพราะเหตุใดคนเราถึงชอบนินทาคนอื่น พร้อมวิธีรับมือกับการถูกนินทาในที่ทำงาน
ทำไมคนเราถึงชอบนินทาคนอื่น?
การนินทาในที่ทำงานเป็นการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการบอกต่อเรื่องราวส่วนตัวของคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน โดยทั่วไปแล้วการนินทามีทั้งการนินทาเชิงบวก เช่น เพื่อนร่วมงาน 1 พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน 2 ว่าชอบครีมที่เพื่อนร่วมงาน 3 ชอบ และการนินทาเชิงลบ จะเกิดขึ้นเมื่อคนพูดมีแรงจูงใจหรืออคติเบื้องหลังในการพูดถึงคนอื่น เช่น การกีดกันพนักงานบางคนจากเชื้อชาติ ศาสนา อัตลักษณ์ทางเพศ หรือปัจจัยอื่นๆ
การนินทามีหลากหลายรูปแบบและมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น ใช้การนินทาเพื่อปลดปล่อยอารมณ์โกรธหรือความคับข้องใจ หรือใช้การนินทาเพราะอยากมีส่วนร่วมในปัญหาความขัดแย้งของคนอื่น ซึ่งการนินทาในรูปแบบหลังจะนำไปสู่ดราม่ามากมายในที่ทำงาน เพราะเป็นการนินทาที่ไม่มีความรับผิดชอบ เป็นการสมรู้ร่วมคิดในการแก้ปัญหาแบบผิดๆ
วีธีรับมือกับการนินทาในที่ทำงาน
แล้วถ้าเราเป็นคนที่ถูกนินทา ควรมีวิธีรับมือโดยไม่ทำให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นๆ อย่างไร?
ควบคุมอารมณ์ ทำใจให้นิ่งเข้าไว้
เมื่อเผชิญกับปัญหาถูกนินทาในที่ทำงาน คนเรามักจะใช้วิธีตอบสนองต่อสถานการณ์นี้แตกต่างกันไป หลายคนเริ่มตอบสนองด้วยความรู้สึกโกรธ หรือกังวล เพราะสิ่งที่ถูกนินทาไม่ใช่เรื่องจริง ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่แฟร์กับตัวเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะทำให้รู้สึกสูญเสียแรงจูงใจและจมอยู่กับความเครียดและความโกรธ
แต่ทางที่ดีควรใช้เวลาถอยออกมาจากสถานการณ์นั้นสักครู่ เพื่อสงบจิตสงบใจให้อารมณ์เบาลง จะได้ไม่แก้ปัญหาด้วยอารมณ์และสามารถคิดวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้น
สำรวจข้อกังวลของอีกฝ่าย
เมื่อควบคุมอารมณ์ได้แล้ว หลังจากนั้นควรโฟกัสไปที่ประเด็นเนื้อหาก่อนว่า เพราะอะไรเพื่อนร่วมงานถึงพูดแบบนี้ลับหลัง เขากำลังมีปัญหาในใจอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า เช่น เพื่อนร่วมงานอาจจะคิดว่าคุณมีความสามารถในการทำงานไม่มากพอ
เมื่อสังเกตเห็นถึงข้อกังวลของเพื่อนร่วมงานแล้ว แทนที่จะเข้าไปพูดว่า “เก่งนักหรอนินทาคนอื่นลับหลัง” เปลี่ยนมาเป็น “ฉันทำอะไรไม่ดีหรือทำอะไรให้คุณผิดหวังหรือเปล่า ถ้ามีคำแนะนำเรื่องการทำงานอะไรบอกมาตามตรงได้เลยนะ” วิธีนี้จะช่วยให้เข้าใจข้อกังวลของอีกฝ่ายมากขึ้น และช่วยไม่ให้เรื่องนี้บานปลายไปมากกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการเปิดกว้างต่อข้อเสนอแนะของผู้อื่นด้วย
โฟกัสไปที่ความสุขอื่นๆ
แม้ว่าโดยปกติแล้วจิตใจของคนเรามักจะยึดติดอยู่กับสิ่งแย่ๆ แต่มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในทุกๆ วัน มักจะเป็นสิ่งดีๆ มากกว่าสิ่งแย่ๆ เราสามารถใช้ชีวิตการทำงานให้มีความสุขกับสิ่งอื่นๆ แทนได้ หรืออาจจะหันไปโฟกัสกับความสุขที่ได้รับจากครอบครัว เพื่อน หรืองานอดิเรก เมื่อได้รับความสุขและความพึงพอใจแล้วหลังจากนั้นก็จะมีกำลังไปฝ่าฟันอุปสรรคอื่นๆ ต่อได้
ปรึกษาหัวหน้าหรือ HR
หากมีการพูดคุยกับคนที่พูดนินทาไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆ ให้เข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าพร้อมอธิบายให้ฟังถึงสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้หัวหน้าช่วยจัดการ แต่ถ้าหัวหน้าจัดการแล้วปัญหานี้ยังไม่หายไปอีก ก็ให้ไปที่แผนกทรัพยากรบุคคลและยื่นเรื่องร้องเรียน
การตกเป็นผู้ที่ถูกนินทาเชิงลบในที่ทำงานเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ต้องเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรื่องนั้นไม่เป็นเรื่องจริง เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่คนอื่นพูดเกี่ยวกับเราได้ตลอดเวลา แต่เราสามารถควบคุมวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพได้
อ้างอิง HBR, indeed, psychologytoday