หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Great resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงานมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่ามีหลายคนที่ยังคงทำงานอยู่ที่เดิม อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระมากกว่าเดิมด้วย
“เนื่องจากเพื่อนร่วมงานลาออกจำนวนมาก ทำให้คนที่อยู่ต่อต้องรับภาระงานต่อ” Tara Furiani อดีตหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหากนายจ้างไม่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ก็จะทำให้สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่พนักงานคนที่เหลืออยู่ลาออกตามคนอื่นๆ ไปจนถึงบริษัทเสียชื่อเสียงเพราะคนลาออกเยอะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจด้วย
Ricardo Von Groll ผู้มีตำแหน่ง Content Manager ที่ Talentify.io ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ โดยเขาบอกว่า เขาและทีมของเขาทำงานหนักกว่าที่เคย “เราขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งบางคนก็ไม่เต็มที่กับงาน ทำให้คนที่มุ่งมั่นกับการทำงานต้องดูแลงานมากขึ้น ซึ่งมันยากและมากเกินไป”
ดังนั้น นายจ้างจึงจำเป็นต้องใส่ใจพนักงานด้วยการรับฟังข้อกังวลใจของพนักงาน และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดภาระงานที่มากเกินไปของพนักงานให้ได้
ทำไมพนักงานหลายคนถึง Burnout?
เราจะเห็นได้ว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับการระบาดของ COVID-19 สงคราม ภัยธรรมชาติ และความไม่สงบทางสังคมและการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนต้องอยู่กับความวุ่นวายมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีภาวะซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น จากข้อมูลโดย American Psychological Association ก็ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันมีอัตราของภาวะหมดไฟในการทำงานสูงขึ้น
ผู้คนตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยการลาออก ซึ่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมาผู้คนได้ลาออกไปแล้วประมาณ 25 ล้านคน และเป็นอัตราการลาออกที่สูงสุดของสหรัฐฯ แม้แต่คนที่ไม่ลาออกก็ต้องเผชิญกับปัญหาแรงจูงใจในการทำงานลดลง การสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนที่ยังไม่ลาออกกำลังวางแผนจะลาออกจากงาน Nikki Innocent เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “Turnover shocks”
เราถูกจ้างมาเพื่อทำงาน 1 งาน แต่ตอนนี้เรามี 4 งานในมือ งานมันหนักจนเกินจะรับไหวแล้ว
นายจ้างควรจัดการปัญหาอย่างไร?
งานวิจัยจาก McKinsey ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่พนักงานลาออกพร้อมสาปส่งบริษัทคือ ผู้นำไม่ใส่ใจและความคาดหวังในผลการปฏิบัติงานไม่ยั่งยืน ซึ่ง Turnover shocks สามารถนำไปสู่สองอย่างนี้ได้ ทำให้พนักงานลาออกในที่สุด
สิ่งที่นายจ้างสามารถทำได้เพื่อลดปัญหานี้คือ การเริ่มจากทำแบบสำรวจพนักงานแบบไม่เปิดเผยตัวตน โดยในคำถามอาจจะเป็นไปในทำนองว่า “บริษัทจะสนับสนุนอะไรพนักงานได้บ้างในช่วงเวลานี้” และ “พนักงานต้องการอะไรเพื่อความสำเร็จตัวเองในตอนนี้” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนให้มีการเจรจากันอย่างเปิดเผย รวมถึงต้องมีการหาคนมาทดแทนตำแหน่งที่มีคนลาออกไปอย่างรวดเร็วด้วย
“นายจ้างต้องค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่สามารถดึงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานกลับมาได้ และค้นหาแนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน” Innocent กล่าว
การจัดลำดับความสำคัญของ Work-life balance ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะปัจจุบันหลายคนยังทำงานจากที่บ้าน พนักงานจึงต้องดิ้นรนต่อสู้กับการกำหนดขอบเขต Work-life balance ผู้นำจึงต้องพูดคุยกับพนักงานว่าสิ่งที่พวกเขาคาดหวังคืออะไร และผู้นำจะต้องทำเป็นแบบอย่างด้วย เช่น การไม่ส่งอีเมลนอกเวลางาน
สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้นายจ้างควรมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ‘การรักษา’ ผู้นำควรตั้งเป้าหมายให้พนักงานมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันในตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูง หากพนักงานเจอบริษัทที่ให้โอกาสมากกว่าก็อาจจะเดินหน้าต่อไป และไม่มีวันหันหลังกลับมาเพราะบริษัทใส่ใจไม่มากพอ
อ้างอิง Business Insider