‘โห พี่ทำงานจนดึกดื่นไม่ยอมนอนเลยหรอ ทำได้ไงอ่ะ สุดยอดมาก’
‘กลับบ้านแล้วหรอ เพิ่งจะถึงเวลาเลิกงานเองนะ’
ทุกๆเช้าของวันทำงาน จะต้องมีหนึ่งคนที่ทำงานจนดึกดื่นไม่ยอมนอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยภาระหน้าที่รับผิดชอบ หรืออยากจะทำงานให้เสร็จไวๆก็ตาม และเมื่อทุกคนรู้เข้า เขาก็มักจะได้รับเสียงชื่นชมจากคนรอบข้างมากมายที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับงาน ในทางตรงกันข้าม คนที่เลือกจะแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน กลับถูกมองว่า ไม่ทุ่มเทให้กับการทำงานเอาเสียเลย
เมื่อคนหนึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากการทำงานอย่างหนัก คนอื่นก็เริ่มรู้สึกว่าเขาควรทำตามบ้าง เพื่อให้องค์กรและคนรอบข้างเห็นคุณค่าในตัวเขา ต่างคนต่างเริ่มเกทับกันทำงานหนักกว่าเดิมโดยเฉพาะช่วง WFH ที่เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวหายไป จนกระทั่งกลายเป็นการทำงานที่ต้อง Productive กันตลอดเวลา
หากมองอย่างผิวเผิน วัฒนธรรมองค์กรที่เน้น Productivity ในการทำงานก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดีนี่ ทุกคนต่างตั้งใจทำงานกันขยันขันแข็ง งานเสร็จครบตามกำหนดและเป็นระเบียบ แต่ถ้าเรามองลึกลงไปถึงวิถีชีวิตของคนทำงาน เราคงจะคิดแน่ๆว่า ‘นี่เราถูกสังคมบังคับให้ต้องทำงานถวายหัวขนาดนั้นเลยเหรอ?’
และเมื่อใดก็ตาม ที่เราเริ่มรู้สึกว่า Productivity ที่ใช้ในการทำงานเริ่มมากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถแบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนกายและใจ เมื่อนั้น Productivity จะกลายเป็น ‘Toxic Productivity’ ทันที
‘Toxic Productivity’ คือ อะไร?
จริงๆแล้ว ‘Toxic Productivity’ เป็นอีกคำหนึ่งที่แยกออกมาจากคำที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Workaholism หรือ บ้างานนั่นเอง โดยคำๆนี้ สื่อถึงความต้องการที่จะทำงานตลอดเวลาจนเสียสุขภาพ เพื่อให้ตัวเองรู้สึก Productive สูงสุด ทั้งๆที่อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมและไม่รู้สึกผิดต่อตนเองจึงต้องทำ
Simone Milasas ที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดัง และเจ้าของหนังสือ Joy of Business กล่าวว่า แม้ว่าเราจะทำงานเสร็จทุกอย่างจนไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่า ตัวเองยังขยันไม่พอและต้องหาอะไรทำต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ดี และเมื่อเราปล่อยให้ Toxic Productivity เข้ามาควบคุมชีวิตเราไปเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด เราจะเอาแต่มองหาสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำในแต่ละวัน จนไม่สนใจอีกเลยว่าเราได้ทำอะไรสำเร็จแล้วบ้าง
แทนที่ WFH จะช่วยให้เรามีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่กลับทำให้ชีวิตของเรา Toxic หนักกว่าเดิม?
หลายคนมักจะคิดว่า เมื่อเราได้ Work From Home ทำงานจากที่บ้านสบายๆแล้ว จะช่วยให้ Toxic Productivity ของเราจากการทำงานลดลง แต่จริงๆแล้ว ผลกลับเป็นในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว
Kathryn Esquer นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง the Teletherapist Network กล่าวว่า Work From Home ไม่ได้ช่วยให้เราให้ทำงานน้อยลงเลยแม้แต่น้อย แถมยังจะทำให้เราทำงานหนักขึ้นอีก เนื่องจากเดิมที เรามีหลายสิ่งหลายอย่างต้องทำในแต่ละวัน ทั้งเดินทางไปทำงาน ไปออฟฟิศ ซื้อข้าวของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อนกลับบ้าน
แต่เมื่อเราต้องทำงานจากที่บ้าน 100% กิจวัตรประจำวันของเราถูกหยุดไปโดยสิ้นเชิง อยู่ดีๆเราก็มีเวลาว่างทั้งวัน แน่นอนว่าเวลาพักผ่อนของเราเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ตามมา คือ เรารู้สึกว่าเราควบคุมชีวิตของตัวเองไม่ได้ เพราะ มันอิสระเกินไปจนไม่มีอะไรมากำหนด ผู้คนมากมายจึงเอาเวลาว่างเหล่านั้นไปทำงานกันหนักขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ว่า อย่างน้อยเราก็มีอะไรทำในชีวิต
นอกจากนั้นแล้ว Work From Home ยังทำให้ผู้คนแข่งขันกันทำงานหนัก เพื่อให้ได้รับความสนใจและการยอมรับจากคนในองค์กรเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากทุกคนไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำสิ่งอื่นอีกต่อไป และสามารถทุ่มเทให้กับการทำงานได้อย่างเต็มที่ตลอด 24/7 ดังนั้น การเกทับกันทำงานหนักระหว่างคนในองค์กรจึงสูงขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งเผชิญกับภาวะ Burnout Syndrome ในท้ายที่สุด
คงจะเห็นแล้วว่าการทำงานด้วย Productivity ที่มากจนเกินไป ไม่ว่าจะเพราะแรงกดดันจากสังคมหรือตนเอง ทำให้ชีวิตของเรา Toxic ได้มากขนาดไหน ดังนั้น เราจะควบคุม Productivity อย่างไร ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นสุข
ยอมรับซะว่า เรากำลังทำงานหนักเกินไป จนลืมไปว่าชีวิตยังมีอะไรอีกมากมายให้ค้นหา
ลองมานั่งคิดกันดูว่า เราตกหลุมพรางของค่านิยมที่เชิดชูการทำงานหนักไปมากแค่ไหนแล้ว? เราทำงานหนักจนลืมใช้ชีวิตด้านอื่นเกินไปหรือเปล่า? และยอมรับอย่างจริงใจว่า ชีวิตของเราจะต้องมีปัญหาแน่ๆ ถ้ายังปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป
เมื่อเรายอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นได้แล้ว สิ่งที่เราต้องค้นหาต่อไป คือ อะไร เป็นสิ่งที่สังคมบอกเราว่าสำคัญ และอะไร เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆสำหรับชีวิตของเรา เพื่อให้เรารักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนอื่นที่ต้องเรียนรู้ได้ดีขึ้น
เลิกถามตัวเองสักทีว่า ‘ตอนนี้เราควรจะหาอะไรทำดี?’ และถามด้วยคำถามนี้แทน
เมื่อทำงานจนเสร็จ เราสมควรที่จะมอบรางวัลชิ้นใหญ่ให้กับตัวเองด้วยการพักผ่อน ไม่ใช่คิดต่อไปว่า เราควรจะหาอะไรทำดี? เพราะ เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้แล้ว เราก็จะกลับเข้าสู่โหมดการทำงานเหมือนเดิม จนสั่งสมกลายเป็น Toxic Productivity ในที่สุด
เพราะฉะนั้น ลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น ‘เราจะไปทำอะไรเพื่อพักผ่อนหย่อนใจดีนะ’ น่าจะดีกว่า เพื่อให้เราตัดชีวิตการทำงานออกไปในเวลาพักผ่อนของเราอย่างสิ้นเชิง และเพื่อเตรียมพร้อมให้เราเริ่มต้นทำงานในวันใหม่อีกครั้ง
อย่าไปสนใจว่า เจ้านายจะเห็นคุณค่าจากการทำงานหนักของคนอื่นมากกว่าเราหรือไม่ ใช้ชีวิตให้มีความสุขก็พอ
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่บางครั้งเราอาจจะถูกกดดันจากสังคมให้ทำงานหนักมากขึ้นจากค่านิยมที่เชิดชูการทำงานหนักเพื่อองค์กร จนกระทั่งรู้สึกไขว้เขวและคิดว่า หรือเราควรจะทุ่มเททำงานแบบนั้นบ้าง?
อย่างไรก็ตาม หากเรากำลังคิดที่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำจนเสียสุขภาพ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ก็จงหยุดเสียเถิด เพราะ ชีวิตของเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียวและจากไป ยังมีอะไรอีกหลายด้านให้ค้นหา แค่เพียงเรารับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และส่งงานตามกำหนดเวลาครบถ้วนก็เพียงพอแล้ว
เปลี่ยน ‘Toxic Productivity’ ให้เป็น ‘Professional Detachment’
ถ้าหากว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะ Toxic Productivity จากการทำงานอย่างรุนแรง ทักษะสำคัญที่เราจำเป็นต้องฝึกฝน คือ Professional Detachment หรือทักษะในการแยกอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกจากงาน เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจด้วยหลักเหตุและผล
ทักษะที่สำคัญนี้ จะช่วยให้เราจัดการอารมณ์และความรู้สึกแย่ๆที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ดีขึ้น แบ่งแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญ ทำให้เราเข้าใจว่า การรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนให้มีความสุขเป็นอย่างไร
สุดท้ายนี้ ถ้าเราต้องการที่จะใช้ชีวิตโดยปราศจาก ‘Toxic Productivity’ จริงๆ จงกำหนดทางเดินชีวิตของเราด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้งานหรือค่านิยมของสังคมมากำหนดทางเดินชีวิตของเรา เพราะ ชีวิตเป็นของเรา
อ้างอิง: huffpost