หางานที่ใช่ สายอาชีพที่ชอบ ด้วยทฤษฎี Hierarchy of Needs จากนักจิตวิทยาชื่อดัง | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
หางานที่ใช่ สายอาชีพที่ชอบ ด้วยทฤษฎี Hierarchy of Needs จากนักจิตวิทยาชื่อดัง
By Siramol Jiraporn มกราคม 25, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับงานแบบไหน แล้วจะค้นหางานที่ใช่อย่างไรดี? การหาความเหมาะสมระหว่างบุคลิกภาพและอาชีพด้วยทฤษฎี Hierarchy of Needs คือคำตอบ 

จากการศึกษาพบว่า เมื่อโลกแห่งการทำงานมีความสอดคล้องกับตัวตนของเรา ก็จะทำให้เรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีความหมายมากขึ้น อีกทั้งหากงานที่ทำตรงกับค่านิยมก็จะทำให้เราเกิดความภาคภูมิในในตัวเองด้วย ความเหมาะสมระหว่างบุคลิกภาพกับงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การปรับงานให้เข้ากับบุคลิกของตัวเอง ทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นด้วย โดยจากการศึกษาก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีงานที่สอดคล้องกับตัวตนของตัวเองมีเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความสุขกับการทำงาน ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ดังนั้นจึงควรหางานที่ใช่ให้กับตัวเอง โดยพิจารณาจากทฤษฎีลำดับชั้นความต้องการด้านอาชีพ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากมาสโลว์ 

Hierarchy of Needs

ความต้องการขั้นพื้นฐาน

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ แสดงให้เห็นว่าบุคคลจะสามารถเติบโตและบรรลุศักยภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อได้รับความต้องการพื้นฐานแล้ว ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้กับการทำงานได้เช่นกัน โดยความต้องการขั้นพื้นฐานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ความต้องการด้านกายภาพ

ความต้องการทางกายภาพเรียกได้ว่าเป็นรากฐานความต้องการ และครอบคลุมทุกพื้นที่การทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้านหรือในออฟฟิศ การค้นหาพื้นที่ที่มีสิ่งรบกวนในระดับที่เหมาะกับตัวเองจะช่วยให้รู้สึกมั่นคงและสงบ รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีก็จะทำให้มีสมาธิได้เช่นกัน

คำถามที่ต้องคิด:

  • ต้องการพื้นที่ทำงานที่เงียบหรือเป็นส่วนตัวแค่ไหน?

  • รู้สึกตื่นเต้นหรือไม่โอเคกับสภาพแวดล้อมที่มีพลังงานสูง?

  • บรรยากาศแบบไหนที่ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วม ตั้งแต่สีสัน การตกแต่งห้อง ไปจนถึงแสง?

2. ความต้องการด้านความสัมพันธ์

ความต้องการด้านความสัมพันธ์นี้ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับงาน ตั้งแต่การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไปจนถึงความรู้สึกไว้วางใจและความรู้สึกเป็นที่รักในที่ทำงาน โดยเราอาจจะเป็น Introvert หรือ Extrovert ก็ได้ หรืออาจจะชอบทำงานเป็นทีมหรือชอบทำงานคนเดียว สิ่งสำคัญคือให้ลองนึกถึงว่า ความสัมพันธ์ในการทำงานแบบไหนที่จะทำให้เรามีความสุข 

คำถามที่ต้องคิด:

  • ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบ่อยแค่ไหน?

  • ชอบใช้เวลาในการประชุมหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นมากแค่ไหน?

  • สิ่งที่ต้องการเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและเป็นที่รักจากความสัมพันธ์ในที่ทำงานคืออะไร?

3. ความต้องการด้านองค์กร

ในลำดับขั้นนี้เราต้องประเมินประเภทองค์กรที่เราอยากร่วมงานด้วย โดยประเมินจากวิธีการทำงาน ขนาดขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร รูปแบบความเป็นผู้นำ รวมถึงชื่อเสียง และสิ่งที่โดดเด่นในตลาดขององค์กรนั้นๆ ด้วย

คำถามที่ต้องคิด:

  • ผู้นำแบบไหนที่สามารถจูงใจเราได้ และค่านิยมระหว่างผู้นำและเราจำเป็นต้องสอดคล้องกันหรือไม่?

  • การที่บริษัทมีเป้าหมายตรงกับความชอบของตัวเองมีความสำคัญแค่ไหน?

  • วัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่จะทำให้เราเจริญเติบโต? (เช่น องค์กรมีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ด้วยการฟังเสียงข้างมากหรือฟังแค่ผู้อาวุโส เป็นต้น)

ความต้องการในการเจริญเติบโต

เมื่อเราสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ ความต้องการในการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราก้าวไปสู่การเป็นบุคคลที่เราอยากจะเป็นได้

1. ความต้องการด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์

เมื่อนึกถึง Work-life balnce และปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้สุขภาพกายและจิตใจดี สิ่งสำคัญก็คือการดูแลสุขภาวะโดยรวมและควบคุมพลังงานของตัวเองให้ดี

คำถามที่ต้องคิด:

  • ชอบให้คนมาควบคุมตารางเวลาการทำงานแค่ไหน และต้องการหยุดพักบ่อยแค่ไหน?

  • เวลาการไปทำงานและเลิกงานในอุดมคติคือเวลาใด?

  • ต้องการระดับความยืดหยุ่นในการทำงานแค่ไหน?

2. ความต้องการเรียนรู้และการมีศักยภาพ

ขั้นบนสุดของความต้องการคือการค้นหาหน้าที่ ทักษะ และจุดแข็งของตัวเองที่ต้องการใช้ไปกับงาน ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนอาจตอบสนองความต้องการด้วยการทำสิ่งที่ตัวเองรัก แต่บางคนอาจให้ความสำคัญกับรายได้ที่มากพอ การรู้ความต้องการตรงนี้จะทำให้รู้ว่าเราอยากจะเติบโตไปอย่างไรในอนาคต 

คำถามที่ต้องคิด:

  • คิดว่าอะไรเป็นความสามารถพิเศษของตัวเอง?

  • งานทำให้มีพลังหรือทำให้หมดพลังมากแค่ไหน?

  • ความสนใจหรือทักษะใดที่อยากพัฒนาขึ้น?

วิธีการค้นหาความต้องการของตัวเอง

การหาความต้องการพื้นฐานและเงื่อนไขในอุดมคติจะช่วยให้หางานที่เหมาะสมกับตัวเองได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานในปัจจุบันหรืองานที่กำลังหาอยู่ หากยังไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไร ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการช่วยให้หาความต้องการของตัวเองได้มากขึ้นอีกขั้น

1. มองย้อนกลับไปในอดีต

มองย้อนกลับไปถึงงานที่เคยทำในอดีต ซึ่งรวมถึงโปรเจกต์และงานอาสาสมัครอื่นๆ ด้วย และลองคิดดูว่าชอบอะไรมากที่สุดในสิ่งที่เคยทำมา อะไรคือสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ทำอีก และอะไรเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเจออีกต่อไป

2. เลือกสิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่า

หากพบความขัดแย้งกันระหว่างความต้องการของตัวเองในแต่ละขั้น ก็ต้องเลือกว่าสิ่งไหนสำคัญกับตัวเองมากกว่า และสิ่งไหนที่เราสามารถยอมปล่อยมันไปได้

3. Job Craft

Job Craft คือการปรับงานเพื่อหาความชอบของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีความพึงพอใจในงานที่ทำมากขึ้น เช่น หากเป็นคนที่ชอบให้ความรู้แก่ผู้อื่น แต่งานที่ทำอยู่เน้นการบริหาร ก็ให้ลองออกแบบงานใหม่โดยการสร้างแบบฝึกหัดการอบรมให้กับทีมอื่น 

4. ลองมองให้แคบลง 

วางแผนชีวิตการทำงานที่เราสามารถจัดการได้ เช่น ลองนึกภาพตัวเองในอีก 1 ปีข้างหน้าว่าเราจะเป็นอย่างไรในตอนนั้น สิ่งที่จะเหมือนเดิมและแตกต่างไปจากเดิมคืออะไร หลังจากนั้นก็มองให้แคบลงอีก ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือนหรือ 3 เดือน แล้วถามตัวเองว่าเราเห็นอะไร

ที่มา - The Muse

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/how-to-find-right-job-by-hierarchy-of-needs