พรีเซนต์งานอย่างไร? ให้สะกดใจผู้ฟังอย่างมืออาชีพ | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
พรีเซนต์งานอย่างไร? ให้สะกดใจผู้ฟังอย่างมืออาชีพ
By Connext Team เมษายน 28, 2021
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนอื่นถึงสามารถพรีเซนต์งาน หรือพูดในที่สาธารณะด้วยความมั่นใจ ขณะที่เราจะเหงื่อตกปากสั่นทุกครั้ง ที่ถูกจ้องมองด้วยผู้คนตรงหน้า?  

Credit ภาพประกอบ: freepikทักษะการนำเสนอและพูดในที่สาธารณะ เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงาน เพราะ ไม่ว่าเราจะทำงานตำแหน่งอะไร เกี่ยวข้องกับสายงานไหน ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าเจ้านายและเพื่อนร่วมงานอยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เราก้าวไปยืนต่อหน้าคนอื่นเพื่อที่จะนำเสนออะไรสักอย่าง เรามักจะรู้สึกตื่นเต้นผิดปกติ เหงื่อเริ่มหยดลงมาและมือก็เย็นโดยฉับพลัน เราจะเริ่มควบคุมความตื่นเต้นเหล่านั้นไว้ไม่ได้ จนส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานของเราในระยะยาว

เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีปัญหาในการพูดในที่สาธารณะ อย่าปล่อยให้ความตื่นเต้นและความกลัวมาขัดขวางเราจากความสำเร็จ ลองฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะตามเคล็ดลับเหล่านี้ดูสิ แล้วคุณจะพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปความมั่นใจของคุณจะเพิ่มขึ้น จนสามารถเอาชนะความตื่นเต้นและความกลัวจากสายตาของผู้อื่นที่จับจ้องได้ในท้ายที่สุด

การควบคุมน้ำเสียงให้มีพลัง

น้ำเสียงที่เหมาะสม นับเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการนำเสนอและพูดในที่สาธารณะ หากเราสามารถใช้น้ำเสียงในการพูดจาให้น่าฟัง และมีพลังที่จะสะกดจิตให้ผู้ฟังสนใจเรา จะทำให้การนำเสนองานของเรามีประสิทธิภาพและน่าจับตามอง วิธีที่ดีสุดในการฝึกฝนการใช้น้ำเสียงให้เหมาะสม คือ การควบคุมการหายใจเข้าและออกจากกะบังลมอย่างถูกต้อง

การควบคุมการหายใจเข้าและออกจากกะบังลมอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถดึงน้ำเสียงที่มีพลังมาใช้ในระหว่างการนำเสนอได้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีที่ประยุกต์มาจากการควบคุมเสียงของนักร้องมืออาชีพ ที่ทำให้เสียงที่เปล่งออกมามั่นคงและเสถียร อีกทั้งยังสามารถลดความสั่นของน้ำเสียงที่เกิดจากความตื่นเต้นได้ดีอีกด้วย  

สำหรับขั้นตอนการฝึกควบคุมน้ำเสียง เริ่มต้นจากวางมือลงบนหน้าท้อง จากนั้นหายใจเข้าเพื่อเติมลมบริเวณหน้าท้องและนับ1-10 หายใจออกและนับ 1-10 อีกครั้ง เมื่อนำวิธีการหายใจเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในระหว่างการพูดในที่สาธารณะ จะทำให้น้ำเสียงของเรามีพลังมากขึ้นและเต็มไปด้วยความมั่นใจ 

ภาษากายสื่อถึงความมั่นใจ

หากมองอย่างผิวเผิน ภาษากายอาจจะเป็นแค่การเคลื่อนไหวอวัยวะบนร่างกายธรรมดาๆ แต่ใครจะรู้ว่าจริงๆแล้ว ภาษากายเป็นวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดได้โดยไม่ต้องอาศัยการพูดเลยแม้แต่คำเดียว

ภาษากาย ประกอบด้วยการแสดงออกทางสีหน้า ลักษณะท่าทางและการเคลื่อนไหว ที่สามารถสะท้อนออกมาได้ว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ ณ ขณะนั้น เป็นผลให้เมื่อเรารู้สึกตื่นเต้นและประหม่าระหว่างการนำเสนองานหรือพูดในที่สาธารณะ เจ้านาย เพื่อนร่วมงานหรือผู้ฟังจะดูออกโดยทันที แม้ว่าเราจะพยายามซ่อนความรู้สึกเหล่านั้นด้วยการพูดที่ (แสร้งว่า)มั่นใจมากแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น การควบคุมการแสดงออกทางกายภาพ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมให้การนำเสนอและพูดในที่สาธารณะดูเป็นมืออาชีพขึ้นได้เช่นกัน 

ภาษากาย ที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ได้ว่าเรามั่นใจ ประกอบไปด้วย

  • ยืนตรงแบบพอเหมาะในระหว่างการนำเสนอ เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า ‘ยืนตรง หน้าอกผาย ไหล่ผึ่ง’ กันมาบ้าง ซึ่งเราสามารถนำคำพูดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการนำเสนองานและพูดในที่สาธารณะได้ เพื่อแสดงออกถึงความมันใจที่อยู่ภายใน แต่ที่สำคัญ คือ เราก็ต้องไม่เกร็ง แต่เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติด้วย

  • แสดงออกทางสีหน้าอย่างเหมาะสม การแสดงออกทางสีหน้าจำเป็นต้องสอดคล้องกับเรื่องราวที่เรานำเสนอ หากนำเสนอเรื่องราวเชิงบวกหรือสนุกสนาน เราก็ควรจะแสดงออกทางสีหน้าที่ผ่อนคลายและเพลิดเพลินไปกับเรื่องที่เรานำเสนอ

  • ยืนในท่าที่รู้สึกว่าตัวเองทรงพลังที่สุดก่อนการนำเสนอ ฟังดูอาจจะพิลึกไปสักหน่อยสำหรับคำแนะนำข้อนี้ แต่ถ้าหากเรารู้สึกประหม่าก่อนการนำเสนอ ลองใช้เวลาสักครู่ยืนในท่าที่รู้สึกตัวเองทรงพลังที่สุด แล้วหายใจเข้าออกช้าๆ วิธีนี้จะช่วยเพิ่ม Testosterone ลดความวิตกกังวล และเรียกความมั่นใจกลับมาได้ โดยท่าที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน คือ การยืนลักษณะคล้ายซุปเปอร์ฮีโร่ ด้วยการวางมือวางที่สะโพก เชิดคางและยืดอกขึ้น *ทำเฉพาะก่อนการนำเสนอเท่านั้น*

หากเรายังรู้สึกว่า ทักษะในการนำเสนอและพูดในที่สาธารณะยังไม่น่าดึงดูดมากพอ ลองศึกษาจากคลิปวิดีโอของนักพูดชื่อดังระดับโลก สังเกตการเคลื่อนไหวร่างกายของพวกเขาเมื่ออยู่บนเวที จากนั้นลองปรับวิธีการเหล่านั้นมาใช้ในแบบของตัวเอง และหมั่นฝึกฝนจนเกิดความมั่นใจ

ฝึกจังหวะจะโคนในการพูดให้ลื่นไหลและเข้าใจง่าย

เมื่อกล่าวถึงการนำเสนอและพูดในที่สาธารณะ จังหวะจะโคนในการพูดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะ แม้ว่าเราจะมีน้ำเสียงที่ทรงพลังและมีภาษากายที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ แต่ถ้าหากเราไม่มีจังหวะจะโคนในการพูดที่เหมาะสม สิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปอาจจะไปไม่ถึงหูผู้ฟังได้

เคล็ดลับในการฝึกจังหวะจะโคนในการพูดให้ลื่นไหล ประกอบไปด้วย

  • พูดให้ชัดถ้อยชัดคำและไม่ยืดยาวจนเกินไป หากเราพูดเร็วและรัวเกินไป ผู้ฟังอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่คุณพูดมากนัก แต่ขณะเดียวกัน หากเราพูดช้าจนเกินไป ผู้ฟังก็อาจจะรู้เบื่อได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น การพูดจาช้ดถ้อยชัดคำด้วยความพอดี จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

  • เว้นจังหวะเล็กน้อย ก่อนนำเสนอเรื่องถัดไป นักพูดที่ดีควรจะเน้นจังหวะสัก 2-3 วินาที หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ฟังได้ซึมซับสิ่งที่เราพูดในหัวข้อก่อนหน้า แล้วจึงเริ่มนำเสนอในเรื่องถัดไป วิธีการนี้จะช่วยให้เราสามารถควบคุมผู้ฟังให้มีจิตใจจดจ่อกับเราและเสริมความมั่นใจอีกด้วย

  • พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ Filler words ระหว่างการนำเสนอ Filler words หรือคำที่เรามักจะใช้เวลานึกอะไรบางอย่างไม่ออก เช่น อืม… แบบ… ทำให้การนำเสนอของเราขาดความน่าเชื่อถือ หากนึกสิ่งที่ต้องการจะพูดจริงๆ เว้นวรรคสักนิด จะเป็นทางออกที่ดีกว่า 

มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้ฟังอย่างเป็นธรรมชาติ

ทักษะการนำเสนอและพูดในที่สาธารณะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การพูดต่อหน้าผู้คนแล้วจบไปเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้ฟัง เพื่อดึงดูดความสนใจอย่างเป็นธรรมชาติด้วยนะ

  • ดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังทันทีที่เริ่มนำเสนอ เมื่อเราเริ่มนำเสนอหรือพูดอะไรสักอย่าง เราจะมีเวลาประมาณ 60 วินาที ที่จะดึงความสนใจจากผู้ฟังก่อนที่พวกเขาจะไม่สนใจอีกต่อไป เราจึงจำเป็นต้องใช้โอกาสนี้ ด้วยการเกริ่นนำที่เป็นธรรมชาติ แต่ดึงดูดให้ผู้ฟังสนใจได้ทันที เช่น การเปิดด้วยคำถามน่าคิด การเล่าเรื่องย่อคร่าวๆ หรือการแชร์สถิติที่น่าตกใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การนำเสนองานของเราเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น

  • ค้นหาใบหน้าที่เป็นมิตร แล้วแสร้งว่าเรากำลังพูดกับคนนั้นๆ บางครั้ง เมื่อเราสบตาไปยังผู้ฟัง แต่กลับพบใบหน้าที่เฉื่อยชา หรือไม่ได้ประทับใจในสิ่งที่เรานำเสนอ อาจทำให้เราวิตกกังวลหนักกว่าเดิม จนกระทั่งไม่สามารถนำเสนอได้อีกต่อไป วิธีการแก้ปัญหา คือ พยายามสบตากับผู้ฟังที่ดูท่าทางเป็นมิตร แล้วแสร้งว่าเรากำลังพูดอยู่กับคนนั้นๆ เพื่อให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น เพียงเท่านี้ การนำเสนองานของเราก็จะเป็นไปได้โดยสวัสดิภาพ

อ้างอิง: Verywellmind

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่ 

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/how-to-present-your-work-to-engage-audiences-professionally