โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธุรกิจ TED Talks หลักสูตรออนไลน์ หรือบทความบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น LinkedIn HBR.org การเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและใช่สำหรับตัวเองที่สุดจากรูปแบบการเรียนรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
โดย Bersin แผนกหนึ่งของ Deloitte กล่าวว่า พนักงานสมัยใหม่มีเวลาในการเรียนรู้ค่อนข้างจำกัด เรียกได้ว่ามีเวลาน้อยกว่า 1% ของเวลาทั้งหมดด้วยซ้ำ และสิ่งที่สำคัญในยุคสมัยนี้ก็คือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะเส้นทางอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทักษะที่เรียนมาอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปจึงต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด
ทำให้หลายคนอาจรู้สึกกดดันว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราควรเรียนรู้เรื่องไหน? แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การใช้ Time-Utility Analysis หรือการเปรียบเทียบระหว่างเวลา (Time) และประโยชน์ (Utility) ของสิ่งที่สนใจอยากเรียนรู้
Time คือ เวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ เป็นค่าเสียโอกาสเพื่อบรรลุสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ส่วน Utility คือ การดูว่ามีแนวโน้มที่จะใช้ทักษะที่ต้องการเรียนรู้มากแค่ไหน เช่น ในแต่ละวันเมเนเจอร์ใช้เวลาไปกับการส่งอีเมล รวบรวมข้อมูล จัดประชุม ดังนั้น Untiliity สำหรับการพัฒนากิจกรรมเหล่านี้จึงสูงเป็นพิเศษ
เมื่อรวม Time กับ Utility แล้ว ก็จะได้เป็นตารางสี่ช่องง่ายๆ (คล้ายๆ กับ Eisenhower Matrix) ดังนี้
- เรียนรู้ทันที: มีประโยชน์สูง, ใช้เวลาเรียนรู้น้อย – สิ่งนี้จะทำให้พัฒนาทักษะให้กับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
- วางแผนเวลาในการเรียนรู้: มีประโยชน์สูง, ใช้เวลาเรียนรู้มาก – แม้ว่าสิ่งนี้จะมีประโยชน์ แต่การได้มาซึ่งทักษะนี้จะต้องใช้เวลาสูง ดังนั้นจึงต้องคิดดีๆ ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
- เรียนรู้เมื่อมีโอกาส เช่น ระหว่างเดินทางหรือเวลาพัก: มีประโยชน์น้อย, ใช้เวลาเรียนรู้น้อย – เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการตอนนี้ แต่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย ควรเช็กให้ดีอยู่เสมอเผื่อวันใดวันหนึ่งสิ่งนี้อาจมีประโยชน์มากขึ้น
- ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องเรียนรู้หรือไม่: มีประโยชน์น้อย, ใช้เวลาเรียนรู้มาก – สิ่งนี้ไม่ต้องสนใจก็ได้ เพราะไม่มีทั้งประโยชน์และเวลาในการเรียนรู้
เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่าง Time และ Utility ได้แล้ว ก็จะทำให้เรารู้ได้ว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ โดยวิธีนี้สามารถใช้ได้ทั้งกับตัวเราเอง คนในทีม แผนกต่างๆ หรือแม้แต่บริษัท เพราะหลายคนอาจไม่ค่อยมีเวลามากนักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้จึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เราใช้เวลาในการพัฒนาทักษะได้อย่างคุ้มค่า
ที่มา - Harvard Business Review