ไม่ว่าจะอ่านบทความจาก blog post ตรวจเอกสารงานต่างๆ หรือค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือในห้องสมุด ชีวิตประจำวันของเราล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘การอ่าน’ แทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอักษรมากมายเป็นเวลานาน อาจทำให้เราเสียสายตาและเสียเวลาได้ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการอ่านหนังสือให้ได้เร็วขึ้น แต่ยังคงเก็บใจความสำคัญของเรื่องได้ครบถ้วนเหมือนเดิม ลองทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ดูสิ!
อ่านเฉพาะใจความสำคัญในรอบแรก
การอ่านเฉพาะใจความสำคัญในรอบแรก เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เรากำลังจะอ่านคือ เรื่องอะไรและเกี่ยวข้องกับอะไร ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของหนังสือที่กำลังจะอ่านได้ดียิ่งขึ้น วิธีการอ่านเฉพาะใจความสำคัญที่ดี เริ่มจากกวาดสายตาอ่านแบบผ่านๆตั้งแต่ต้นจนจบ ให้ความสำคัญเฉพาะ heading subheading และอะไรก็ตามที่เป็นตัวเน้นสำคัญ จากนั้นจึงไปอ่านบทนำและบทสรุปท้ายเรื่อง พยายามคิดวิเคราะห์ว่า ผู้เขียนวางโครงเรื่องไว้อย่างไรบ้าง เพื่อที่เวลากลับมาอ่านอีกครั้ง จะสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม
กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า อยากได้อะไรจากการอ่านในครั้งนี้
การกำหนดเป้าหมายในการอ่านหนังสือที่ดี มีผลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจและการซึมซับสิ่งที่ได้จากการอ่าน เริ่มแรก ลองคิดก่อนว่าเป้าหมายในการอ่านหนังสือเล่มนี้ของเรา คือ อะไร? และเราต้องการจะเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่อ่าน? จากนั้นลองพิจารณาดูว่า เป้าหมายในการเขียนหนังสือของผู้เขียน คือ อะไร? โดยอาศัยการอ่านเฉพาะใจความสำคัญเป็นตัวตัดสิน เช่น หากเราลองอ่านแบบคร่าวๆแล้วพบว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยภาพรวมของอาณาจักรโรมัน แต่เป้าหมายของเรา คือ ต้องการเรียนรู้เจาะลึกไปยังบทบาทของสตรีทางการเมือง เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอ่านหนังสือทั้งเล่ม เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ แค่เลือกอ่านเฉพาะบทที่เราสนใจก็เพียงพอแล้ว
มีสมาธิและจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อ่าน
การอ่านหนังสืออย่างรวดเร็ว แต่ยังคงเข้าใจแก่นเรื่องได้เป็นอย่างดี จำเป็นต้องอาศัยสมาธิและการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อ่าน พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนภายนอกให้ได้มากที่สุด และมีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราอ่าน หากเริ่มรู้สึกว่า จิตใจกำลังไขว้เขวไปกับสิ่งอื่นๆ เช่น เริ่มคิดว่ามื้อเย็นจะกินอะไรดี หรือมีความคิดอื่นแทรกเข้ามาในสมอง ลองค่อยๆตั้งสติแล้วปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสืออีกครั้ง เพราะ ถ้าหากเราอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่อ่านจริงๆ สุดท้ายแล้ว เมื่อเราอ่านจนจบเล่ม เราจะไม่ได้แก่นเรื่องและสาระความรู้จากการอ่านครั้งนั้นเลย
พยายามอย่าอ่านหนังสือทุกตัวอักษรที่เราเห็น
เพื่อที่จะเพิ่มความเร็วในการอ่านหนังสือให้สูงขึ้น เราไม่ควรจะอ่านหนังสือทุกตัวอักษรที่เราเห็น พยายามใช้สายตาโฟกัสไปยังคำสำคัญที่ถูกเน้นไว้ แต่ก็ต้องไม่น้อยเกินไป จนกระทั่งจับใจความสำคัญจากการอ่านไม่ได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งกว่านั้น การใช้ปลายนิ้วหรือปากกาลากไปตามตัวหนังสือที่เราอ่าน ยังเป็นการฝึกสายตาของเราให้อ่านหนังสือได้เร็วขึ้น และยังเป็นการลดการอ่านออกเสียงทีละคำในใจ ที่ทำให้การอ่านของเราช้าลงอีกด้วยนะ
เลือกอ่านเฉพาะบทที่สำคัญและตรงกับเป้าหมายในการอ่าน
อ้างอิงจาก Dartmouth College’s Academic Skills Center ความเชื่อที่ว่า นักเรียนจำเป็นต้องอ่านหนังสือทุกบทในหนังสือเรียน กลายเป็นความเชื่อที่ล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน เพราะ จริงๆแล้ว การเลือกอ่านเฉพาะบทที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และข้ามบทที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในการเรียน เป็นการอ่านที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับนักเรียนและนักอ่านทั่วไป เนื่องจากการเลือกอ่านเฉพาะบทสำคัญ จะทำให้เราเข้าถึงแก่นหลักของเรื่องที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ดีกว่าเสียเวลาไปกับการเก็บรายละเอียดหนังสือทั้งเล่มโดยเปล่าประโยชน์
เขียนบทสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความ เผื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง
แม้ว่าจะอ่านหนังสือจนจบเล่มแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากเรายังอยากจะเก็บสิ่งที่ได้จากการอ่านไว้ให้ได้นานๆ สิ่งหนึ่งที่ควรทำเลยก็คือ การจดสรุปหลังจากการอ่าน โดยอาจจะเป็นการสรุปเพียงแค่ไม่กี่ประโยค แต่สามารถตอบคำถามในสิ่งที่เราอยากเรียนรู้ก่อนอ่านได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว ลองวิเคราะห์ดูว่า เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้จากการอ่านครั้งนี้แล้วหรือยัง? จากนั้นจึงค่อยเขียนสิ่งที่สกัดออกมาได้ลงไป หรือหากเราเป็นคนจำพวกชอบจำทุกสิ่งอย่างเป็นภาพมากกว่า ลองทำ mindmap เพื่อสรุปก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ วิธีการนี้ จะช่วยให้เราจดจำแก่นของเรื่องที่อ่านได้ดี เมื่อเรากลับมาอ่านสรุปที่เราทำไว้อีกครั้ง
อ้างอิง: mentalfloss
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่