ความขี้เกียจเป็นสิ่งที่ทุกคนมี อยู่ที่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย หลายคนมักทำงานยุ่งตลอดเวลา เพราะมองว่าความขี้เกียจเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ถ้ามันทำให้เราประสบความสำเร็จได้ล่ะ?
จริงๆ แล้วคนที่ขี้เกียจก็สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยเหตุผลเบื้องหลังที่แม้ว่าจะขี้เกียจแค่ไหนก็สามารถประสบความสำเร็จได้คือ
1. คนขี้เกียจ มักจะรู้ว่า เวลาไหนควรพัก และเวลาไหนควรทำงาน
2. คนขี้เกียจ มักจะโฟกัสไปยังจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
3. คนขี้เกียจ มักจะรู้สึกผ่อนคลายในการใช้ชีวิตมากกว่า
4. คนขี้เกียจ มักจะมองหาวิธีการทำงานที่รวดเร็ว แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอยู่เสมอ
Bill Gates เคยพูดไว้ว่า เขามักจะเลือกคนขี้เกียจเข้าทำงาน เพราะคนที่ขี้เกียจจะหาวิธีง่ายๆ ในการทำงานเสมอ ซึ่งการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Health Psychology ปี 2015 ก็พบว่า คนที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยมักจะฉลาดกว่าคนที่เคลื่อนไหวทางร่างกายที่มากกว่า
ธุรกิจจำนวนมากก็เกิดจากการใช้ประโยชน์ธรรมชาติของความขี้เกียจ ตัวอย่างเช่น Steve Jobs ได้สร้างสมาร์ทโฟนที่รวมทุกอย่างไว้ในเครื่องเดียวเพื่อความสะดวกสบาย Jeff Bezos สร้างเว็บไซต์อย่าง Amazon เพื่อให้ผู้คนช้อปปิ้งได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หรือ Mark Zuckerberg ที่สร้าง Facebook ขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายยิ่งขึ้น
บริษัทอย่าง Pizza company, Netflix, Zoom หรือเว็บไซต์ออนไลน์ ต่างก็เกิดขึ้นเพราะรู้ว่าทุกคนสามารถทำสิ่งที่ยากได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องการสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจในการทำธุรกิจจึงเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมาก
ขี้เกียจอย่างมีประสิทธิภาพ
ยอมรับและให้เวลาตัวเองได้ขี้เกียจเพื่อเติมพลังให้กับสมอง เพราะไม่มีอะไรบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานได้ดีไปกว่าจิตใจที่มีความวิตกกังวล ดังนั้นเราจึงต้องการปล่อยให้สมองหยุดคิดเรื่องต่างๆ เมื่อสมองทำงานช้าลงให้ลองไปเดินเล่น ดู Netflix หรือฟังเพลง
จากการศึกษาในปี 2011 พบว่า เมื่อความสนใจของเราที่หยุดลงขณะขี้เกียจ จะทำให้จิตใจเราล่องลอยไปถึงอนาคต 48% ปัจจุบัน 28% และอดีต 12% ซึ่งจะทำให้เรามีความสร้างสรรค์มากขึ้นและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
การปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจเป็นเหมือนการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้ว่าเวลาไหนควรพัก และเวลาไหนควรทำงาน คนเราสามารถขี้เกียจไปพร้อมกับการมี Productivity ได้ แต่ต้องขี้เกียจให้ถูกที่ถูกทาง
ที่มา: Techsauce, Psychology Today, CNBC (1)(2)