A.) เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน B.) เฟอร์นิเจอร์ที่เรานำมาประกอบเองที่บ้าน
ในแง่ของความสะดวกสบาย เราก็ย่อมเลือกข้อ A อยู่แล้ว เพราะ คงไม่มีใครอยากเสียเวลามานั่งประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านเองหรอกใช่ไหม?
แต่ถ้าในแง่ของความรักและผูกพันที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นล่ะ เราจะยังเลือกตอบข้อ A เหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า? เพราะ บางที การลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง อาจจะทำให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่าเดิมก็ได้นะ
แล้วถ้าการลงมือประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ด้วยตนเอง จะทำให้เรารู้สึกรักและผูกพันกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นมากขึ้นกว่าเดิม จะเป็นไปได้ไหมว่า การลงมือทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น จะทำให้เรารักและผูกพันกับงานที่เราทำอยู่มากขึ้นเช่นกัน?
‘IKEA Effect’ คือ อะไร? ทำไมการไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังจึงเกี่ยวข้องกับ ‘Value what we build’
‘การลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง จะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่าเดิมจริงหรือไม่?’
เพื่อตอบคำถามที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วโลก Michael Norton Daniel Mochon และ Dan Ariely นักวิชาการและนักวิจัยชื่อดัง จึงได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปรากฎการณ์ ‘IKEA Effect’ ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มแรกพวกเขาแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ นักสร้าง (Builder) และนักตรวจสอบ (Inspector)
โดยกลุ่มนักสร้าง (Builder) จะได้รับมอบหมายให้ประกอบชิ้นส่วนสิ่งของ 1 อย่าง โดยทำตามคู่มือประกอบชิ้นส่วนที่มาพร้อมกัน ขณะที่กลุ่มนักตรวจสอบ (Inspector) จะได้รับสิ่งของชิ้นเดียวกัน แต่พร้อมใช้งานแล้ว มาทดลองใช้งานจริง จากนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดจำเป็นจะต้องลองกำหนดราคาว่า สิ่งของที่ตัวเองถืออยู่ควรจะมีราคาเท่าไหร่ และชอบสิ่งของชิ้นนั้นมากแค่ไหน
ผลปรากฎว่า กลุ่มนักสร้าง (Builder) มีแนวโน้มที่จะกำหนดราคาสิ่งของเหล่านั้นสูงกว่ามาก เมื่อเทียบกับกลุ่มนักตรวจสอบ (Inspector) อีกทั้งระดับความชอบและพึงพอใจก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า ตามหลักการทางจิตวิทยานั้น ยิ่งเราทุ่มเทให้กับบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากแค่ไหน เราจะยิ่งให้คุณค่ากับสิ่งที่เราได้มามากเท่านั้น เหมือนกับคนที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จาก IKEA มาประกอบ ก็จะรู้สึกรักและผูกพันกับสิ่งของชิ้นนั้นมากกว่าสิ่งของสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน
ทีมนักวิจัยจึงสามารถสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์ ‘IKEA Effect’ จะเกิดขึ้น เมื่อเราได้ลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านั้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ทำมาจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจของเรานั่นเอง
แล้ว ‘IKEA Effect’ เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตการทำงานของคนรุ่นใหม่? หรือมันจะทำให้เรามองเห็นคุณค่าของงานที่เราทำมากขึ้น?
แน่นอนว่า เมื่อทุกคนได้อ่านบทความย่อหน้าแรกไปแล้ว ก็คงจะรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับบทความแนว Social & Lifestyle ที่เป็นแนวหลักของเพจกันล่ะ’ หากมองแบบผิวเผินก็คงจะเป็นเช่นนั้น การไปซื้อของที่ IKEA มาประกอบเองที่บ้าน ดูจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานของคนรุ่นใหม่เลยแม้แต่นิดเดียว
แต่ถ้าหากมองลึกลงไปยังแก่นของปรากฎการณ์ ‘IKEA Effect’ ที่เกิดขึ้น สิ่งของที่เรานำมาประกอบเองที่บ้าน ก็คงจะไม่ต่างอะไรจากงานที่เราทำด้วยตนเองในปัจจุบันนักหรอก เพราะ ทั้งสองสิ่งก็ล้วนเกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจของเราทั้งนั้น
ดังนั้น มันจะดีกว่าไหม? ถ้าหากเราสามารถมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำ ให้เหมือนกับสิ่งของจาก IKEA ที่เราประกอบขึ้นมาเองด้วยความผูกพันและภาคภูมิใจ
3 แนวทางการทำงานของ ‘IKEA Effect’ ที่จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าของงานที่ทำและมีความสุขกับชีวิต
- เปิดอิสระทางความคิดในการกำหนดทิศทางการทำงาน เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำ
ในแง่ของกำหนดทิศทางการทำงาน องค์กรควรเปิดโอกาสให้ทีมและสมาชิกแต่ละคนได้มีส่วนในการออกแบบและกำหนดทิศทางการทำงานของตัวเองบ้าง ตราบเท่าที่ยังเป็นไปตามแนวคิดและเป้าหมายหลักขององค์กร เพื่อให้ทุกคนภายในองค์กรรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตัวเองทำ เหมือนกับสิ่งของที่เรานำมาประกอบเองจาก IKEA ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนในองค์กรรู้สึกผูกพันและเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผลลัพธ์จากการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
- กำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และภารกิจร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าด้วยใจที่เป็นหนึ่ง
นอกจากเรื่องทิศทางการทำงานส่วนบุคคลและระดับทีมแล้ว ปรากฎการณ์ IKEA Effect ยังทำให้ผู้คนมากมายให้ความสำคัญต่อเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และภารกิจขององค์กร ที่พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากกว่าหลักการที่ถูกกำหนดมาไว้แล้วเป็นอย่างมาก
เพราะฉะนั้น แทนที่การกำหนดนโยบายสำคัญภายในองค์กรจะถูกตัดสินโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ เหมือนเมื่อก่อน ลองเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาบ้าง เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพอนาคตขององค์กรไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถพาองคืกรก้าวไปข้างหน้าด้วยใจที่เป็นหนึ่ง
- เลือกตัดงานส่วนที่ยากออกไป แต่เก็บงานส่วนที่เป็นแรงจูงใจไว้
เมื่อเปรียบการซื้อสิ่งของสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน กับการนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบด้วยตัวเอง แน่นอนว่า การซื้อของที่พร้อมใช้งานย่อมสร้างความสะดวกสบายให้กับเรามากกว่า การทำงานก็เช่นกัน งานอะไรก็ตามที่เป็นชุดคำสั่งและมีระเบียบขั้นตอนชัดเจน ทำให้เราประหยัดเวลาในการวางแผน และสามารถจัดการงานที่มีอยู่ได้ดีกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับงานที่ชุดคำสั่งเป็นขั้นเป็นตอน การทำงานที่เราเริ่มลงมือทำตั้งแต่ต้น จะทำให้เราผูกพันและพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมามากกว่า ไม่ว่างานนั้นจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม เหมือนกับการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ที่อาจจะไม่ดีมาก แต่เราก็ภูมิใจที่ประกอบจนสำเร็จนั่นเอง
ดังนั้น ลดขั้นตอนการทำงานในส่วนที่ควรจะเลือก และเก็บในส่วนที่จะเป็นแรงจูงใจในการทำงานของเราเอาไว้ให้ดี เพราะ ถ้าหากการทำงานของเรามันเป็นระบบมากเกินไป จนไม่มีส่วนไหนที่ออกมาจากแรงกายแรงใจของเราเลย เราก็คงจะไม่รู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้นอีกต่อไป
อ้างอิง: Tailored Thinking