แม้ว่าตอนนี้ตลาดแรงงานอาจต้องการคนทำงานจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็ก Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบจะมีงานทำ
จากข้อมูลโดย Federal Reserve Bank of New York พบว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 41.3% ของผู้ที่เพิ่งเรียนจบ ซึ่งมีอายุประมาณ 22-27 ปี ได้งานทำในตำแหน่งที่ไม่ใช้วุฒิปริญญาตรี โดยเพิ่มขึ้นจาก 40.6% ในปี 2020
“การเพิ่มขึ้นของการทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment) ในหมู่เด็กจบใหม่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการได้รับค่าแรงต่ำในคนทำงานอายุน้อย นั่นหมายความว่าเด็กจบใหม่ที่กำลังดิ้นรนอยู่กับการหางานหรือประเมินเป้าหมายอาชีพของตัวเองใหม่ ยอมทำงานที่มีค่าจ้างต่ำในช่วงเวลานี้” Luke Pardue นักเศรษฐศาสตร์จาก Gusto กล่าว
ในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบันนี้การสร้างเนื้อสร้างตัวของเด็กจบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้ว เด็กจบใหม่ต้องทำงานที่ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียนมาและต้องยอมทำงานที่ไม่ต้องใช้ใบปริญญา ซึ่งหมายความว่าจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่า และสิ่งนี้อาจส่งผลต่อสถานะทางการเงินในระยะยาว
แนวโน้มเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งต่อคนทำงานและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลระยะยาวต่อ Gen Z
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายๆ อย่าง ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือช่วงเวลาหลังเรียนจบและต้องหางานทำ
จากข้อมูลแพลตฟอร์ม Gusto พบว่า การเติบโตของการจ้างงานคนอายุ 20-24 ปีก่อนการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นเดือน/เดือนหรือปี/ปี แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ขึ้นกลับทำให้อัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โอกาสในการได้งานลดลง
“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจาก COVID-19 ทำให้คนที่เรียนจบในปี 2020 เผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต้องหางานดีๆ ท่ามกลางการระบาด หรือการเปลี่ยนไปใช้สภาพแวดล้อมเสมือนจริงก็เข้ามาขัดขวางความสามารถของเด็กจบใหม่ในการสร้างคอนเนคชั่นและหาโอกาสทางอาชีพ ที่ตรงกับความสนใจและชุดทักษะอย่างมีนัยสำคัญ”
Underemployment อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตการเงินของ Gen Z
จากอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับของชาว Gen Z ทำให้มีแนวโน้มว่ากว่าคนกลุ่มนี้จะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ต้องใช้เวลาอีกนาน
การศึกษาโดย Brookings Institution อ้างว่า หากนายจ้างให้ค่าจ้างแรงงานต่ำหรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่ลงทุนในแรงงาน ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่สามารถก้าวหน้าในอาชีพการงานต่อไปได้ เนื่องจ้างงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำเป็นงานที่ไม่เน้นทักษะเหมือนงานที่ได้รับค่าจ้างสูง
คนที่ทำงานต่ำกว่าระดับก็มีแนวโน้มที่จะเห็นการเติบโตของเงินเดือนที่ช้าลง นอกจากนี้การที่คนจบการศึกษาระดับปริญญาต้องมาทำงานที่ไม่เน้นทักษะ ก็จะขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวด้วย
แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะก้าวเข้าสู่ปีที่สามแล้ว แต่ชาว Gen Z ก็ยังต้องเผชิญอยู่กับการดิ้นรนต่อสู้ในโลกแห่งการทำงาน สิ่งที่ Gen Z สามารถทำได้ตอนนี้คือ การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป โดยการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เช่น Elle Wilmot เด็กจบใหม่วัย 23 ปี ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานไม่ตรงสายมาก่อน แต่เธอหันมาทำเรซูเม่บน TikTok ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์การสร้างคอนเทนต์ดิจิทัล จนสุดท้ายได้งานทำที่ TikTok เนื่องจากการคิดนอกกรอบทำให้โดดเด่นเตะตา HR
ที่มา - Business Insider