ปัจจุบันพนักงานหลายคนรู้สึกว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะตกงาน บริษัทหลายแห่งต่างก็สร้างความหวาดกลัวในการตกงานให้กับพนักงานเพื่อพยายามจูงใจพนักงานและลดต้นทุนของบริษัทลง เนื่องจากว่าพนักงานที่รู้สึกไม่มั่นคงในงาน (Job Insecurity) มีแนวโน้มที่จะเรียกร้องการขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการต่ำกว่า
อีกทั้งบางองค์กรยังเชื่อว่าการทำให้พนักงานกลัวตกงานเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย แม้ว่าจริงๆ การทำแบบนี้จะส่งผลลบต่อหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผูกพันทางสังคม อัตลักษณ์ สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานก็ตาม
Harvard Business Review จึงได้ทำการสำรวจดูว่า วิธีการสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานของบริษัทช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริงหรือไม่ ผ่านการสำรวจชาวอเมริกันมากกว่า 600 คนในหลายอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่า:
‘การกลัวตกงาน’ ช่วยให้พนักงานพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง
เมื่อมีการสอบถามว่า หากรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่มีความมั่นคงจะทำอย่างไร หลายคนให้คำตอบว่าจะทำงานให้มากขึ้นและจะพยายามปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อรักษาตำแหน่งที่มีไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณสามเดือนกลับพบว่าความรู้สึกไม่มั่นคงไม่ได้มีผลอะไรต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกต่อไป อีกทั้งยังพบว่าแม้ว่าคนทำงานจะรู้สึกว่าผลงานของตัวเองดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความกลัวในการตกงานลง
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า เมื่อรู้สึกไม่มั่นคงในงานคนทำงานมีความต้องการที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองจริง แต่ยิ่งรู้สึกไม่มั่นคงไม่ได้หมายความว่าจะยิ่งทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อทำงานได้ดีขึ้นก็ไม่ได้ช่วยลดความรู้สึกไม่มั่นคง
แต่จริงๆ แล้วการสร้างความไม่มั่นคงให้กับพนักงานมีโทษมากกว่า
เพราะแม้ว่าพนักงานจะได้รับแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น แต่ก็ทำให้ทำงานได้ยากขึ้นด้วยเพราะกลัวตกงาน ทำให้เกิดความเครียด ความคับข้องใจ ความขุ่นเคือง และความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ในท้ายที่สุดแล้วพนักงานก็หมดแรงจูงใจในการทำงานอยู่ดี
ผู้เข้าร่วมการสำรวจคนหนึ่งกล่าวว่า “ความกังวลเกี่ยวกับงานทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยลง เพราะเรามักจะวิตกกังวลและฟุ้งซ่านมากขึ้น” จะเห็นได้ว่า เมื่อพนักงานเครียดกับการกลัวโดนเลิกจ้าง จึงทำให้ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้เท่าเดิม ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าพนักงานจะมีแรงจูงใจในการปรับปรุงการทำงานของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม
พนักงานที่รู้สึกไม่มั่นคงมีแนวโน้มจะแหกกฎมากขึ้น
หลายคนอาจจะคิดว่าเมื่อพนักงานรู้สึกกลัวตกงานก็จะปฏิบัติตัวตามกฎมากขึ้น เช่น ไม่ไปทำงานสายหรือไม่ทำลายทรัพย์สินของบริษัท พูดง่ายๆ คือพยายามทำตัวให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้โดนหมายหัว แต่จากการศึกษาโดย Harvard Business Review กลับพบว่า ช่วงแรกๆ พนักงานมีความตั้งใจปฏิบัติตัวดีขึ้นจริง แต่ความตั้งใจนั้นก็ไม่ได้สอดคล้องกับการกระทำเสมอไป แม้ว่าจะมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎมากขึ้น แต่คนที่กลัวตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มที่จะฝ่าฝืนกฎในอีกสามเดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้พนักงานยิ่งรู้สึกไม่มั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก
จะเห็นได้ว่า ความไม่มั่นคงในการทำงานนำไปสู่วงจรอุบาทว์ เริ่มจากรู้สึกไม่มั่นคง ตามมาด้วยเริ่มมีพฤติกรรมแหกกฎ และหลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นเพราะพฤติกรรมตัวเอง พนักงานจึงต้องพยายามควบคุมตัวเองให้ปฏิบัติตามกฎให้ได้ แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องใช้แรงสมองมากทำให้มีภาระทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น
ยิ่งกังวลยิ่งพยายามเอาหน้า
ยิ่งพนักงานกลัวตกงานมากเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการเอาหน้ามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้พนักงานมองข้ามการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานไป บางคนอาจถึงขั้นใส่ร้ายเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น หรือบางคนอาจจะเลือกไม่ยอมแชร์ข้อมูลหรือความรู้ในการทำงานเพื่อลดความไม่มั่นคงในการทำงานของคนอื่น เพื่อทำให้รู้สึกว่าไม่มีใครแทนที่ตัวเองได้
Job Insecurity ไม่ได้ให้ผลที่คุ้มค่า แต่เป็นการสร้างวงจรอุบาทว์
ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่า การทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานไม่ใช่วิธีที่บริษัทควรทำ เพราะเรื่องการตกงานมีความสัมพันธ์กับหลายๆ เรื่องในชีวิตคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน อารมณ์ ความสัมพันธ์ สุขภาพจิตและความรู้สึกโดยรวม
เพราะฉะนั้นเมื่อพนักงานกลัวตกงานจึงไม่ได้ทำให้ผลงานดีขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มแหกกฎมากขึ้น ซึ่งทำให้ส่งผลเสียต่อทีมและองค์กร และในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ส่งผลต่อความผาสุกของพนักงานและผลลัพธ์ขององค์กร ดังนั้นผู้นำควรหาทางช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและมั่นคงในหน้าที่การงานมากขึ้น
อ้างอิง HBR