ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พนักงานอยากลาออกจากงาน คือการมีหัวหน้าที่ไม่ดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหัวหน้างานอาจไม่เคยสังเกตตัวเองว่ามีส่วนทำให้พนักงานอยากลาออก หรืออยากทำงานต่อในองค์กรหรือไม่? จริงอยู่ที่บางครั้งการทำงานกับเจ้านายที่เข้าใจยากอาจสร้างสีสันให้กับชีวิตการทำงานของคุณ แต่หากคุณรู้สึกกลัวหรือกังวลทุกครั้งที่จะลางานหรือรู้สึกขัดขืนไม่ได้ในการทำงานล่วงเวลา นี่ก็อาจเป็นที่มาสู่บาดแผลทางใจขั้นเริ่มต้นของคุณได้
ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานทุกคนล้วนมีประสบการณ์การทำงานที่อาจส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในบางครั้งประสบการณ์เหล่านี้อาจไม่เพียงทำให้คุณรู้สึกอารมณ์เสียหรือหงุดหงิดเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อชีวิตและการทำงานของคุณในระยะยาวได้อีกด้วย
Trauma คืออะไร?
American Psychological Association หรือ สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า Trauma หรือ บาดแผลในจิตใจ คือการตอบสนองทางอารมณ์ต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนกับสภาวะจิตใจ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ ถูกคุกคามทางเพศ ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจหลายครั้ง
โดยบุคคลที่ถูกกระทบกระเทือนจิตใจอาจมีการตอบสนองหลายวิธี เช่น เกิดสภาวะช็อก เศร้า ไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมไปถึงการทำงานในระยะยาว เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับคนรอบข้าง ซึ่งนอกจากอาการทางจิตแล้ว Trauma ยังส่งผลต่อร่างกายอีกด้วย เช่น ทำให้ปวดหัว เฉื่อยชา และคลื่นไส้ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการเผชิญเหตุการณ์ที่ส่งผลให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัย และ Trauma สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท แต่ที่พบมากที่สุดในที่ทำงานสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- การบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute Trauma) เกิดขึ้นจากการประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่คุณอาจไม่มีวันลืมได้ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ ถูกคุกคามทางเพศ หรือการโดนทำร้ายร่างกายในที่ทำงาน
- การบาดเจ็บเรื้อรัง (Chronic Trauma) เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจหลายครั้ง เช่น การโดนบูลลี่จากเพื่อนร่วมงาน หรือโดนกลั่นแกล้งซ้ำๆ เป็นเวลานาน
Trauma ส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม
- ด้านความคิด ส่งผลให้มีสมาธิสั้นลง ขี้ลืม มีความคิดในแง่ลบ มักโทษตัวเอง และอาจฝันเห็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจซ้ำๆ เป็นประจำ
- ด้านอารมณ์ อาจเกิดความรู้สึกกลัว มีความวิตกกังวล หรือมีอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น
- ด้านพฤติกรรม เกิดความเครียด มีอาการเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ และแยกตัวออกจากสังคมภายนอก
วิธีการรับมือกับ Trauma
หลังจากที่คุณประสบกับเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมา สิ่งแรกที่คุณทำได้ คือ พูดคุยหรือปรึกษาหารือกับครอบครัวหรือคนที่ไว้ใจได้ เพื่อไม่ให้คุณรู้สึกว่าคุณอยู่ตัวคนเดียว และควรให้เวลากับตัวเองในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อไม่ให้นึกถึงเรื่องที่ผ่านมา
การเกิด Trauma อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรอบข้างและการทำงานได้
นี่จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลให้พนักงานเลือกที่จะลาออกจากการทำงาน ทางที่ดีองค์กรควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานด้วยการจัดสวัสดิการให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงการบำบัดโดยจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้น
อ้างอิง : CNBC