ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นเราจำเป็นต้องปรับตัว แต่ก่อนที่จะปรับตัวได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ และหากพูดถึงความสำเร็จทางอาชีพ การเรียนรู้แค่ภายในห้องเรียนหรือระบบการศึกษาเหมือนเดิมจะยังช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้อยู่หรือเปล่า?
วันนี้ ConNEXT ได้สรุป Tech ConNEXT Talk ในหัวข้อ “Lifelong Learning and Professional Fulfillment : ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเป็นที่ต้องการ เส้นทางสู่ความสำเร็จทางอาชีพ” นำโดย
คุณสรกฤช พฤทธานนทชัย SVP Channel Management System จาก Bangkok Bank ธนาคารให้การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย รวมถึงการจัดการและอำนวยสินเชื่อร่วม การรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ สินเชื่อโครงการ บริการรับฝากหลักทรัพย์ บริการเพื่อเอสเอ็มอีและร้านค้า และบริการให้คำแนะนำทางธุรกิจ นอกจากนี้ ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สามารถใช้บริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบและครบวงจร ผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ
คุณปราโมทย์ ผ่องสุวรรณ์ Head of Corporate Marketing & Branding จาก G-Able Public Company Limited องค์กรที่ให้บริการด้านดิจิทัลโซลูชั่นแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ตั้งแต่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การออกแบบระบบ และการใช้งานระบบ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย การจัดการพื้นที่เก็บข้อมูล ด้วยบริการระดับมืออาชีพ
คุณกัญจน์พร พาณิชย์เจริญรัตน์ Senior People Capability Development Manager จาก Thairath Group Media Tech Company อันดับ 1 ของประเทศไทย จากหนังสือพิมพ์ที่ถือกำเนิดมานานกว่า 70 ปี สู่สื่อออนไลน์ในเครือไทยรัฐ ที่มีวิสัยทัศน์ต้องการพาสังคมไทยให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมทั้งเป็นพื้นที่นำเสนอข่าวหลากหลายประเด็น เช่น ข่าวสังคม การเมือง กีฬา การเงิน และรายการบันเทิง
Lifelong Learning คืออะไร ?
คุณสรกฤช กล่าวว่า Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะการเรียนไม่มีที่สิ้นสุด และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบ Formal training หรือการศึกษาในระบบเสมอไป
คุณกัญจน์พร เสริมว่า ตัวเองเคยสมัครงานไปหลายที่ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครเรียกสัมภาษณ์เลย จนรู้สึกว่าการที่ไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์เป็นเพราะเราไม่มีองค์ความรู้ที่องค์กรต้องการหรือเปล่า? เลยทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีใครให้โอกาสเรา เราก็ต้องสร้างโอกาสหรือเปิดให้ตัวเองได้เรียนรู้จากที่อื่นเพิ่มเติม
คุณปราโมทย์ กล่าวเสริม ในส่วนของการเรียนรู้และการทำงาน อย่างแรกให้เราถามก่อนว่า Why ของเราคืออะไร ถ้าเราสามารถรู้ได้ เราก็จะสามารถ Upskill และ Reskill ได้ถูกจุดและปัจจุบันการที่เราจะเติบโตได้ จำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้จักอนุญาตให้ตัวเองเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ด้วย ฉะนั้นทุกอย่างต้องเริ่มจากการที่เรารู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราไปได้ไกลในการทำงาน
การเรียนรู้แบบแนวราบ VS การเรียนรู้แบบแนวดิ่ง เราควรจะเรียนรู้แบบไหนมากกว่า
การเรียนรู้แบบแนวราบ หมายถึง การเรียนรู้ทั่วไปหรือมีความรู้และความสามารถรอบด้าน เข้าใจและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีเพียงระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียนรู้จนกลายเป็นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้แบบแนวดิ่ง คือการเรียนรู้เฉพาะด้าน และต้องมีทักษะและความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งแบบชัดเจน
คุณสรกฤช กล่าวว่า เราต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้แบบแนวดิ่งก่อน แล้วค่อยมาทำในแนวราบ แต่จริง ๆ การเรียนรู้ในแนวราบที่ไม่เข้าใจแนวดิ่งก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน ถ้าเราลองเปรียบเทียบว่าเราเรียนบริหาร แต่เราไม่เข้าใจ Technical ลึก ๆ ของศาสตร์นี้ เราก็จะเรียนบริหารได้ลำบาก เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญ Technical มากกว่า เพราะว่าประโยชน์ที่เราจะสร้างให้กับองค์กรต้องเกิดจากความรู้ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ดังนั้น ถ้าเรามีทั้งแนวดิ่งและแนวราบที่ดี สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้
คุณปราโมทย์ เสริมว่า Multiply success เป็นเรื่องที่สำคัญ จากที่กล่าวตั้งแต่ข้างต้นว่าเราจำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย บางคนมองว่าการเรียนเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเราเลือกโจทย์การเรียนรู้เหล่านี้ผิด สมการนั้นจะผิดพลาดไปด้วย และสิ่งสำคัญอย่างที่สอง คือ การมีพื้นฐาน เพราะบางทีเราอาจจะเบื่อกับการที่ต้องเรียนหลักสูตรแบบในระบบ แต่หลักสูตรแบบนี้ก็จุดฉนวนทำให้เราฉุกคิดและไปต่อได้เช่นกัน ซึ่งผมมักจะคิดเสมอว่าเราอย่าไปหาอะไรที่มันเป็นเฉพาะด้านหรือ Specialist ก่อนถ้าเรายังหาตัวเองไม่เจอ การที่เราไปเรียนอะไรที่เป็นพื้นฐานทั่วไปหรือ Generalist จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งไหนที่เราเก่งหรือถนัดมากที่สุด ที่สำคัญถ้าเราเจอ Final Generalist ตัวเองได้สัก 2-3 อย่างแล้ว สิ่งนั้นจะทำให้เรารู้แล้วว่า Specialist ที่เราจะไปต่อในอนาคตคืออะไร
Lifelong Learning เป็นสิ่งสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถมีเวลาไปเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ ได้ด้วย เพราะในเมื่อการทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยมากอยู่แล้ว
คุณกัญจน์พร บอกว่าอยากให้มองในมุมของการจัดการบริหารเวลามากกว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับอะไร สิ่งนั้นเราจะมีเวลาให้เสมอ แต่ถ้าบางอย่างเราไม่มีเวลาให้ แปลว่าสิ่งนั้นอาจจะยังสำคัญไม่มากพอ เพราะฉะนั้นจริง ๆ เป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญที่เราให้กับสิ่งนั้น ๆ มากกว่า
คุณสรกฤชและคุณปราโมทย์ กล่าวว่า เวลาเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งแต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ Passion เราต้องเริ่มที่การ Start with why แล้วเราจะรู้ว่า How หรือวิธีการที่จะไปจุดนั้นคืออะไร พอเรารู้ว่า How คืออะไร Passion, Strength และ Value จะตามมาเอง เพราะฉะนั้นเรื่องเวลาก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
วิธีจัดการกับ Mindset ว่าเราเรียนจบแล้ว เราเริ่มทำงานแล้ว ทำไมเรายังต้องเสียเวลาไปเรียนเพิ่ม
คุณกัญจน์พร บอกว่าจริง ๆ แล้วการเรียนเสริมหรือการเรียนเพิ่มเติม เป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษา เหมือนการวางพื้นฐานความรู้ให้เรา ข้อดีของการศึกษาในระบบมีอยู่ 3 อย่าง คือ
- สามารถต่อยอดความรู้ในอนาคตได้
- สร้าง Connection ได้ ปัจจุบันสิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง แล้วก็ไม่ได้เก่งทุกอย่าง บางอย่างที่เราไม่รู้ เราอาจต้องไปสอบถามจากคนที่รู้หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า
- รู้ว่าเราควรอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างไร ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงวิธีการสื่อสาร
ส่วนใหญ่แล้วสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะอยู่ในการศึกษาที่เป็นระบบ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของวินัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันในเรื่อง Lifelong Learning การศึกษาในระบบจะช่วยปลูกฝังสิ่งเหล่านี้เรื่องนี้ให้เรารวมถึงเรื่องวินัยด้วยเช่นกัน
Lifelong Learning จำเป็นมากน้อยแค่ไหนกับการที่จะช่วยให้เราเติบโตขึ้น
คุณสรกฤช กล่าวว่า การเรียนรู้เราสามารถเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ แต่สำหรับวัยทำงานแล้ว เราอาจจะเจอคนที่มีสไตล์การทำงานที่ไม่หมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นคนเปิดกว้างทางความคิดหรือ Open minded เพื่อให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเราสามารถเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองได้ แต่เราต้องเข้าใจตัวเองว่าตัวเองขาดหรือต้องการอะไร
คุณปราโมทย์ กล่าวว่า ในการเปลี่ยนสายงานจะมี 2 เรื่องด้วยกัน หลัก ๆ คือ การเปลี่ยนอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนสายงาน ซึ่งการมี Formal Learning และ Formal Certificate จำเป็นและสำคัญมาก เพราะสำหรับผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับ Certificate สมมติเรามองในมุมคนทำงานสายเทค Certificate จะเป็นสิ่งการันตีพื้นฐานความรู้ของเราได้
อยากให้ลองจินตนาการดูว่าถ้าองค์กรจะรับคน ๆ หนึ่งเข้าในทีม องค์กรก็มีความเสี่ยง และเราในฐานะคนที่เข้าไปเป็นพนักงานในองค์กร เราก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน การที่องค์กรจะเลือกเสี่ยงกับพนักงานคนหนึ่ง ผมมองว่าจะเป็น Starting point ที่ดี การที่ Specialist 1 คน จะเข้าไปทำงานได้ ต้องมี Certificate รับรอง แต่ใช่ว่าต้องบังคับให้ตัวเองเรียนทุก ๆ อย่างที่เป็นรูปแบบ Formal อย่างเดียว พอเรามี Formal ที่ดี เราจะรู้ได้ทันทีว่าเราจะไปต่อ Informal อย่างไร อาจจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือ ฟัง Podcast เพิ่มเติมให้ตัวเองไปเรื่อย ๆ ก็ได้ หรือถ้าอยากจะเปลี่ยนสายงานเราก็จะรู้ได้ทันทีว่าเราชอบอะไร และเราต้องเรียนรู้อะไรเพิ่ม
คุณสรกฤช เสริมว่าการที่เราจะเติบโต เราต้องมีความสามารถในการลดช่องโหว่ของเราได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะลดช่องนั้นได้ เราต้องหาความรู้ พัฒนาตัวเอง อย่างน้อย อาจจะฟัง Podcast เพิ่มเติมให้ได้มุมมองจากคนอื่น ๆ เพราะฉะนั้นยิ่งเราลดจำนวนช่องโหว่ของเราได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ถ้าคนในทีมของเราไม่มี Mindset ที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม ในฐานะหัวหน้าทีมจะจุดประกาย Mindset ให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างไร
ถ้าน้อง ๆ ภายในทีมไม่มี Mindset ในการเรียนรู้ ก็คงต้องคุยและปรึกษากับน้องว่าเป็นเพราะอะไร ต้องหาสาเหตุที่ไม่อยากเรียนรู้ในสิ่ง ๆ นั้นเพราะอะไร เพราะรู้สึกว่ามันไม่ Relate กับงาน หรือว่ารู้สึกว่าการเรียนสิ่งนั้นไม่ได้ส่งผลอะไรกับเป้าหมายหรือไม่? ซึ่งในเรื่องของ Mindset เราต้องปลูกฝังในเรื่องของการเรียนรู้ให้เขาก่อน ต้องให้เขาเชื่อว่าทุกคนพัฒนาได้ บางทีที่เขาไม่พัฒนา เพราะอาจรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีความเชื่อว่าเราไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ เราจะไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้เลย เพราะว่าเราเชื่อว่าเราทำไม่ได้ไปแล้ว คุณกัญจน์พร กล่าว
คุณปราโมทย์ กล่าวเสริม ให้มองเป็นเรื่องของ Challenge ในการทำงานมากกว่า การนำ Challenge หรือความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาในทีมให้เห็นถึงความสำเร็จร่วมกัน สิ่งนี้จะเป็น แรงผลักดันกระบวนการเรียนรู้การที่เราได้ทำงานด้วยกันบ่อย ๆ จะเกิดเป็นคำถาม และการเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นบ่อย ๆ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็น Lifelong Learning ไปโดยอัตโนมัติ ผมมองว่าคนเราเวลาทำงาน Challenge จะทำให้เรามองเห็นอนาคต
คุณสรกฤช กล่าวว่า ถ้าเขาไม่อยากเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไมเขาถึงไม่อยากเรียนรู้ อย่างแรกเขาไม่เห็นความจำเป็นหรือเปล่า ให้ลองกลับมาที่ Start with why ซึ่งในการทำงานเราต้องมองไปข้างหน้าไปด้วยกัน พนักงานเห็นในสิ่งที่เราเห็นหรือเปล่า ถ้าเรากำลังบอกว่าบริษัทของเรากำลังจะเป็น First Tech Company พนักงานเห็นทางนั้นกับเราหรือไม่? พนักงานมีทักษะที่พร้อมแล้วหรือยัง ในบางครั้งพนักงานอาจมองเห็นเส้นทางที่เขาต้องเดินไปกับองค์กรอยู่แล้ว และเขาอาจจะต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ในบางกรณีเราไปบอกให้เขาเรียนเพิ่ม แล้วถ้าสมมติเขา Burnout อยู่ มันก็อาจไม่แฟร์กับพนักงาน เพราะฉะนั้นให้ใช้กฎ 80/20 ในส่วนของ 80% ให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่ และอีก 20% ให้พนักงานได้เรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่จะช่วยให้เขาพัฒนาศักยภาพได้
ผมมองว่าการที่พนักงานไม่อยากเรียนรู้ หลัก ๆ มีด้วยกัน 2 อย่าง คือ
- ไม่เห็นด้วยกับการทำสิ่งนั้น
- ทำไปแล้วแต่ติดปัญหา และไม่กล้าบอกหัวหน้า
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้นำต้องแยกแยะให้ออกว่าทำไมเขาไม่อยากทำ ผู้นำที่ดีต้องกล้าที่จะผลักดันลูกทีมให้เติบโตขึ้น ไม่ใช่แค่สั่งอย่างเดียว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำงานแล้วน้อง ๆ ในทีมไม่โต มันจะกลายเป็นวงจรทำงานแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเราเป็นผู้นำที่ผลักดันให้น้อง ๆ ในทีมเก่งขึ้นได้ เขาจะทดแทนเราได้ และเราจะสามารถนำตัวเองไปช่วยงานในส่วนอื่นขององค์กรได้เช่นกัน
ตัวอย่างของบุคคลที่เคยประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งเรื่องส่วนตัวและอาชีพที่ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ถ้าพูดถึงตัวบุคคลอาจจะพูดยาก เพราะทุกวันนี้มี Role model เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน แต่ผมมองว่าคนที่จะเป็น Role model ต้องมี Cognitive learning ที่ดี ต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีแนวความคิดที่ดี เพราะว่า ณ ตอนนี้เราอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ความคิดของเราอาจผิดพลาดได้เลยในเสี้ยววิ ถ้าเราไม่มีสติ ข้อมูลที่เราอ่านจำเป็นต้องผ่านการการคัดกรอง ไม่งั้นเราอาจกลายเป็นคนที่มีตรรกะผิดได้ง่าย ๆ ทันที
อย่างที่สอง ผมมองว่าต้องมี Flexibility และ Creativity เพราะตอนนี้เราอยู่ในโลกที่มีคนหลายช่วงอายุ เราจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อหาตรงกลางในการทำงานและการอยู่ร่วมกัน
อย่างที่สาม ต้องมี Entrepreneurship หรือ ความเป็นผู้ประกอบการ เพราะผมมองว่าถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของธุรกิจ เราจะอยู่กับวิสัยทัศน์ที่เป็นไปได้ และนำวิสัยทัศน์ตรงนั้นมาฝึกฝน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้น 3 ข้อนี้ถ้าบุคคลใดมีก็จะสามารถเป็น Role model ของคนในปัจจุบันและเป็น Role model ที่สามารถ Work ได้จริง ๆ คุณปราโมทย์ กล่าว
คุณกัญจน์พร ได้ยกตัวอย่างเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คือคุณกำพล วัชรพล ท่านได้รับรางวัลจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นในเรื่องการศึกษาและสื่อสารมวลชน ท่านอาจจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย จบการศึกษาในระดับ ป.4 แต่ได้เริ่มเข้าสู่วงการสื่อสิ่งพิมพ์จริง ๆ ตอนอายุ 29 ปี เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งขายโฆษณา จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้จนวันหนึ่งได้มาทำตำแหน่งขายโฆษณา คุณกำพลก็มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นจนได้ร่วมทุนทำหนังสือพิมพ์กับเพื่อน แต่ในช่วงแรกก็มีความยากลำบาก แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงมุ่งมั่นและหาทางเปิดหนังสือพิมพ์ จนสุดท้ายมีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจนถึงทุกวันนี้ นอกจากคุณกำพลจะชอบเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ยังให้ความสำคัญเรื่องของการศึกษา ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเอง แต่ยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้กับคนอื่นด้วยเพราะเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี
วิธีรักษา Lifelong Learning ให้อยู่กับเราไปตลอด
คุณสรกฤช กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญเราต้องทำให้ Learning เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เราต้องพัฒนาตัวเองให้มี Growth Mindset แล้วเราจะเห็นช่องโหว่ของตัวเอง พอเราเห็นว่าเรามีข้อผิดพลาดตรงไหน เราก็อยากที่จะแก้จุดนั้น การมี Growth Mindset เข้ามาเสริม จะช่วยให้เราสามารถปิดช่องโหว่ของตัวเรา กับสังคม ที่ทำงาน และเพื่อนร่วมงานได้
คุณปราโมทย์ กล่าวว่า ไม่ควรทำให้เรื่องการเรียนรู้เป็นการเตรียมตัวสำหรับการไปทำงานหรือทำอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียว เพราะอาจทำให้เราเครียดได้ แต่จะทำอย่างไรให้ Learn เท่ากับ Life ถ้าสองสิ่งนี้เท่านั้นกันได้มันจะกลายเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะถ้าเรายังดำรงชีวิตอยู่ การเรียนรู้จะเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ก็เช่นกัน บางครั้งการที่เราโตขึ้น ทักษะความคิดเราก็โตขึ้นตามเหมือนกัน แต่ถ้าเราขาดการเรียนรู้ Learn กับ Life จะเกิดความไม่บาลานซ์กันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราบาลานซ์ 2 สิ่งนี้ได้ Lifelong Learning จะเป็นสิ่งที่ตามมา และผมมองว่าอย่าไปฝืนตัวเองว่าเราต้องเรียนสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ เพราะสุดท้ายแล้วจะเกิดอาการ Burnout แต่ต้องหาตัวเองให้ชัด แล้วเราจะรู้ว่าเราควรเรียนอะไร
คุณกัญจน์พร กล่าวว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เราสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ได้ คนเรามี สไตล์ในการเรียนที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้เราเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เรารู้สึกว่าเรียนแล้วสนุก พอเราสนุกกับสิ่งนั้นเราอาจจะตั้ง Challage ให้ตัวเอง และถ้าเราทำสำเร็จ เราสามารถให้รางวัลตัวเองได้ เพื่อให้เรามีกำลังใจให้ตัวเองทำ Challage ต่อ ๆ ไป
สุดท้ายนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนแค่ในห้องเรียนอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะประสบความสำเร็จในยุคนี้ เราจำเป็นต้องมีทักษะ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตติดตัวไว้ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จและเติบโตในการทำงานได้