Mid-life crisis หรือ วิกฤตวัยกลางคน คืออาการท้อกับชีวิต ไม่มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัวหรือการใช้ชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับคนที่กำลังจะเข้าเลขสามหรืออายุ 30 ขึ้นไป
ในปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมาก หลายคนต่างอวดความสุขหรือความสำเร็จของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ในอีกมุมหนึ่งหลายคนก็อาจเอามาเปรียบเทียบกับตัวเองจนเกิดคำถามในใจว่า...
- เมื่อไหร่เราจะประสบความสำเร็จเหมือนเขานะ
- ทำไมเพื่อนคนนั้นประสบความสำเร็จเร็วจัง
- คนนั้นมีบ้าน มีรถ มีกิจการเป็นของตัวเอง แล้วเราล่ะ
- เพื่อนรุ่นเดียวกันประสบความสำเร็จกันหมดแล้ว แล้วเราทำอะไรอยู่
- ทำไมอายุเท่านี้แล้ว..ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอันเลย
ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจแวบเข้ามาในหัวเราแบบเสี้ยววิ ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง ว่าทำไมเราไม่มี ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนอื่นเขาสักทีนะ
ซึ่ง ConNEXT อยากบอกว่าการที่เราจะมีความรู้สึกแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรและสามารถคิดได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องรีบประสบความสำเร็จตามคนอื่นก็ได้ หากเรายังไม่พร้อม เพราะว่าถ้าเราเร่งรัดหรือบีบคั้นให้ตัวเองต้องมีรถ มีบ้าน ต้องประสบความสำเร็จเหมือนคนนั้น คนนี้ เราเองนี่แหละที่จะเครียด ไม่มีความสุข และถ้าเครียดหนักเข้ามาก ๆ ก็อาจเสี่ยงเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้เหมือนกัน
ในมุมมองของการทำงานคนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยนี้อาจมีความรู้สึกเบื่องาน หมดไฟ หมด Passion ในการทำงานบ้าง เนื่องจากมีความคาดหวังความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพราะเริ่มอยากมีความมั่นคงให้กับตัวเอง แล้ว “วิกฤตวัยกลางคน” มีสาเหตุมาจากอะไร มีวิธีจัดการไหม?
“Mid-life crisis” เกิดจากอะไร?
- มาจากแรงกดดันทางสังคม ที่บอกว่าเราต้องมีรถ มีบ้าน ต้องประสบความสำเร็จในอายุเท่านั้น เท่านี้ ทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนโดนแรงกดดันที่ต้องก้าวหน้าให้ทันคนอื่น
- ร่างกายเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนตอนวัยรุ่น บางคนก็เกิดภาวะ “วัยทอง” ทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย และรู้สึกแย่กับตัวเอง
- เริ่มรู้สึกไม่พอใจกับชีวิต
- รู้สึกชีวิตไม่สนุกเหมือนช่วงวัยรุ่น เพราะต้องแบกความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น
- เริ่มรู้สึกอยากได้ความสดใสจากวัยรุ่นกลับคืนมา เพราะพอถึงช่วงวัยกลางคนพวกเขาจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเรียบเกินไปและใช้ชีวิตรูทีนแบบเดิม ๆ
- เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตเราต้องการอะไร และตอนนี้ชีวิตเรามีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้วบ้าง”
- คนในช่วงนี้จะเริ่มรู้สึกว่าความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม
- รู้สึกว่าตัวเองถูกโดนลดบทบาทและความสำคัญลงในทุก ๆ ความสัมพันธ์ จนรู้สึกแย่และท้อกับตัวเอง
แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าเรากำลังมีแนวโน้มเป็น Mid-life crisis อยู่หรือเปล่า ?
สัญญาณเตือนภาวะ Mid-life crisis
- รู้สึกเบื่องานที่ทำ ไม่รู้ว่าทำงานไปเพื่ออะไร และเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “งานที่ทำอยู่ตอบโจทย์ชีวิตเราจริงไหม”
- ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เริ่มทำงานไปวัน ๆ ไม่ได้อยากเติบโตหรือก้าวหน้า
- รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุขได้ รู้สึกเริ่มเบื่อโลก เบื่อทุกอย่าง ไม่พอใจกับชีวิต
- หมกหมุ่นกับการตั้งคำถาม ไม่รู้ว่าต้องการอะไรในชีวิต
- รู้สึกชีวิตไม่ได้เป็นแบบหวัง รู้สึกตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่อายุเท่ากันหรือคนที่อายุน้อยกว่าที่เขาประสบความสำเร็จ
- เริ่มรู้สึกไม่อยากทำอะไร อยากทิ้งความรับผิดชอบที่แบกไว้ทุกอย่าง
- อยากทำอะไรที่ท้าทายตัวเอง บางคนถึงขั้นอยากออกเดตกับคนที่อายุน้อยกว่า เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับตัวเอง แม้ว่าตัวเองจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม
- พึ่งพาแอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ
- เริ่มรู้สึกกังวลกับสุขภาพของตัวเอง
สุดท้ายวิกฤตวัยกลางคน เป็นเหมือนช่วงวัยเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่งของมนุษย์ คล้ายกับช่วงวัยรุ่นที่เราจะเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งสเต็บ คนวัยนี้เองก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ได้มีชีวิตแบบที่คาดหวังไว้ก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราต้องไม่มีความสุข ConNEXT เลยอยากแนะนำว่าลองหาเวลาว่างให้กับตัวเอง พาตัวเองไปทำในสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ไม่เคยทำ ออกไปข้างนอก ไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปพบผู้คนใหม่ ๆ เพื่อให้เรารู้สึกว่าชีวิตเราไม่ได้มีแค่นี้ และสิ่งนี้อาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้เราได้ด้วย
และอยากบอกว่าในบางครั้งถ้าเราเผลอเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร แต่ ConNEXT อยากบอกว่าชีวิตคนเราเกิดมาก็มีต้นทุนที่ไม่เท่ากันแล้ว พอถึงช่วงวัยทำงานชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นิยามความสำเร็จของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจนทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพราะสุดท้ายลู่วิ่งหรือต้นทุนชีวิตที่เราเติบโตมานั้นไม่เท่านั้น
อ้างอิง: forbes