ไม่เห็นเดดไลน์งานไม่เดินทำอย่างไรดี? รู้จัก Parkinson’s Law เพราะชีวิตขับเคลื่อนด้วยเดดไลน์ | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ไม่เห็นเดดไลน์งานไม่เดินทำอย่างไรดี? รู้จัก Parkinson’s Law เพราะชีวิตขับเคลื่อนด้วยเดดไลน์
By Siramol Jiraporn ธันวาคม 22, 2021
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เมื่อมีเวลาหนึ่งเดือนในการทำงาน คุณปล่อยให้เวลาผ่านไป 3 อาทิตย์โดยไม่ทำอะไรเลย และใช้เวลา 2-3 วันสุดท้ายในการทำงานหรือไม่?

หลายคนอาจเคยทำพฤติกรรมดังกล่าว เมื่อมีเวลาเหลือเฟือก็จะเลื่อนเวลาการทำงานออกไปตามเวลาที่ถูกกำหนด เมื่อใกล้หมดเวลาก็จะพร้อมลุยอย่างเต็มที่

ทำไมเราถึงทำพฤติกรรมดังกล่าว? ชีวิตจะง่ายกว่านี้ถ้าเราเริ่มทำงานไปทีละนิดๆ แต่เรากลับไม่ทำอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Parkinson’s Lawรู้จัก Parkinson’s Law

Parkinson’s Law คืออะไร?

“การขยายเวลาทำงานออกไปตามเวลาที่มี” ซึ่งก็คือ “ยิ่งมีเวลามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้เวลาทำงานนานขึ้นเท่านั้น” คือคำนิยามโดย Cyril Northcote Parkinson นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอังกฤษ โดยปรากฏขึ้นครั้งแรกในบทความ The Economist และต่อมาได้กลายเป็นหนังสือเรื่อง Parkinson’s Law: The Pursuit of Progress

เมื่อมีเวลาเหลือเฟือเท่าไหร่ ก็จะผ่อนคลายมากขึ้น ขี้เกียจมากขึ้น หรือใช้เวลาไปกับการเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาเดดไลน์ก็จะเปลี่ยนความสนใจทั้งหมดไปที่งานเพื่อทำงานให้เสร็จทันเวลา

ทำไมไม่เห็นเดดไลน์แล้วงานไม่เดิน?

1. รู้ว่ามีเวลาเหลือเฟือ

เมื่อมีงานต้องทำให้เสร็จ สมองจะคำนวณว่าต้องใช้เวลาในการทำงานเท่าไหร่ถึงจะเสร็จ เช่น เมื่อมีเวลาในการทำโปรเจกต์ 6 เดือน สมองจะรู้ว่าถ้าทำงานทุกวันจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

ดังนั้น ในช่วงเดือนแรกๆ เราจะบอกตัวเองว่ามีเวลาเหลือเฟือในการทำงาน หลังจากนั้น 2-3 เดือน ก็จะเริ่มรู้สึกผิด เพราะยังไม่ได้เริ่มทำงาน

เมื่อถึงเดือนสุดท้ายก็พยายามปรับปรุงพฤติกรรมและจริงจังมากขึ้น แต่เพราะความมั่นใจที่มีมากเกินไปก็จะทำให้ผัดวันการทำงานไปอีก 15 วัน

และใน 15 วันสุดท้าย ก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดแพนิค สมองรู้ว่าเราเหลือเวลาน้อยและต้องทำงานหนักขึ้น สิ่งรบกวนทั้งหลายอย่างข้อความ การคุยเล่นกับเพื่อน หรือการเล่นโซเชียลมีเดียก็จะหายไปทันที และให้ความสนใจและพลังงานทั้งหมดไปกับงานที่ต้องทำให้เสร็จ แต่ถึงแม้จะทำงานเสร็จทันเวลา แต่งานก็ไม่ได้ออกมาดีอะไร

2. เชื่อว่าต้องใช้เวลาในการทำงานมากกว่าความเป็นจริง

เราเชื่อว่าต้องการเวลาในการทำงานเพื่อทำงานให้เสร็จมากกว่าที่จำเป็น เช่น ปกติแล้วต้องใช้เวลา 45 นาทีในการอาบน้ำ แต่งตัว และเตรียมตัวให้พร้อม ดังนั้น เราจึงโน้มน้าวจิตใจตัวเองว่าต้องใช้เวลาเท่านี้ในการทำทุกอย่างให้เสร็จ

แต่วันหนึ่งนาฬิกาปลุกไม่ดัง ทำให้เหลือเวลาในการเตรียมตัวแค่ 20 นาที แต่เราก็ยังคงเตรียมตัวให้พร้อมได้แม้ว่าอาจจะสายไปบ้าง ด้วยการก้าวข้ามขีดจำกัดและทำสิ่งต่างๆ ให้เร็วขึ้นเพื่อเตรียมตัวให้เสร็จทันตามเวลาเดิม

วันต่อมาก็จะรู้สึกว่าเวลาในการเตรียมตัว 45 นาทีมีความจำเป็นมากและกลับไปทำแบบเดิม ในวันปกติเราเชื่อว่าต้องใช้เวลาที่เฉพาะเจาะจงเพื่อทำงานให้เสร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีศักยภาพที่จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นกว่าที่เราคิด

เราให้เหตุผลกับตัวเองว่าทำไมถึงต้องใช้เวลานานขนาดนั้น และเหตุผลหลักๆ ก็คือเรื่องของคุณภาพ เราคิดว่าถ้าทำงานเสร็จเร็ว งานจะไม่มีคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น

จะเลิกผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างไร?

เราไม่สามารถหนีพฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่งได้ 100% แต่เราสามารถใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อลดเวลาที่เสียไปได้

1. กำหนดเวลาในการทำงานแต่ละวัน

ให้กำหนดเวลาว่าแต่ละวันจะทำงานถึงกี่โมง เช่น เวลา 20.00 น. จะหยุดทำงานและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เมื่อมีกำหนดเวลา ก็จะเป็นเหมือนการบังคับให้ตัวเองทำงานเสร็จตามเวลา 

2. กำหนดเดดไลน์ของตัวเอง

พยายามกำหนดเดดไลน์ในการทำงานของตัวเอง เพราะการมีกำหนดเวลาจะเพิ่มแรงกดดันให้กับตัวเองว่าให้ทำงานเร็วขึ้น 

คำเตือน: บางคนไม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำงานตรงตามเวลา ดังนั้นการกำหนดเดดไลน์ให้กับตัวเองจะส่งผลเสียมากกว่า เพราะโน้มน้าวตัวเองว่าการทำงานเกินเดดไลน์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สิ่งนี้ก็จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในพฤติกรรม และสุดท้ายก็ส่งผลต่อการตรงต่อเวลาของตัวเอง

นอกจากนี้ อย่ากำหนดเวลาที่ไม่สมจริง ถ้ากำหนดเดดไลน์สั้นเกินไปจนไม่สามารถทำงานเสร็จทัน ก็อาจนำไปสู่ความผิดหวัง ความคับข้องใจ และการผัดวันประกันพรุ่งได้

3. ให้รางวัลตัวเอง

การให้รางวัลจะช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อมากขึ้น โดยรางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นรูปธรรมเสมอไป เราสามารถให้รางวัลเล็กๆ กับตัวเอง เพื่อทำตามเป้าหมายเดดไลน์ให้ได้ เช่น ตั้งเป้าหมายเดดไลน์สำหรับงานไว้ 3 เดือน และให้รางวัลตัวเองด้วยไอศกรีมเมื่อทำตามเป้าหมายได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีวินัย โดยจะต้องให้รางวัลตัวเอง เมื่อทำตามกำหนดเวลาได้เท่านั้น

4. ท้าทายตัวเองด้วยการทำงานให้เร็วขึ้น

โดยธรรมชาติแล้ว เรามีแนวโน้มที่จะทำงานให้เสร็จโดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด เช่น ถ้ากำลังอ่านหนังสือ ความเร็วในการอ่านของเราจะช้า แต่ถ้าท้าทายตัวเองโดยการพลิกหน้าเร็วขึ้นก็จะอ่านเร็วขึ้น เพราะสมองปรับตัวให้เข้ากับความเร็วใหม่ได้ ต่อมาความเร็วก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ 

การทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราตั้งใจทำงานให้เร็วขึ้น ก็จะสามารถลดผลกระทบของ Parkinson’s Law ลงได้

5. กำหนดช่วงเวลาสำหรับแต่ละงาน

เมื่อมีงานต้องทำหลายอย่าง ให้กำหนดช่วงเวลาสำหรับแต่ละงาน เช่น กำหนดเวลาในการทำงานแรก 15 นาที งานที่สอง 30 นาที งานที่สาม 20 นาที และอื่นๆ หากใช้เวลาเกินในแต่ละงาน ให้ปล่อยงานที่กำลังทำอยู่ไปก่อนและไปทำงานต่อไป และเมื่อเคลียร์งานตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้หมดแล้ว ก็กลับไปทำงานที่ทิ้งไว้ให้เสร็จ

ใครที่กำลังพบเจอกับปัญหาไม่เห็นเดดไลน์แล้วงานไม่เดิน สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำงานของตัวเองได้ เพื่อจัดการเวลาการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม จะได้ไม่ต้องมาทำงานแบบไฟลนก้นอีกต่อไป

ที่มา - ProductiveclubLifehack


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/parkinsons-law