การประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบใหม่ หรือ Post Graduate Blues เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับหลายคน ดังนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าเราต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่เพียงลำพัง
จากโพสต์ในเว็บไซต์ข่าวของ BBC เรื่อง “graduates ‘need mental health support’” ชี้ให้เห็นว่า เด็กจบใหม่ต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านและต้องดิ้นรนไปกับการหางานทำหลังเรียนจบ
นอกจากนี้ Bernard Luskin นักบำบัดโรค ได้อธิบายว่า อาการของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเรียนจบก็ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด Post-Grauate Blues
ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงหลังเรียนจบ
แต่ละคนมีวิธีปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป การเรียนจบและต้องกลับไปอยู่บ้านถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากชีวิตในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้น เรามีตารางชีวิตเป็นของตัวเอง หรือมีเวลาไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ แต่เมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ไม่รู้ว่าต้องไปทางไหนต่อ
การเรียนจบทำให้เราต้องเผชิญกับคำถามใหญ่ๆ หนึ่งคำถามคือ เราจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้ โดยเด็กจบใหม่หลายคนบอกว่า รู้สึกหลงทางไม่รู้จะไปทางไหนต่อหลังจบการศึกษา
การที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหนต่อเป็นสาเหตุให้เด็กจบใหม่บางคนรู้สึกดาวน์ จากเมื่อก่อนจนถึงตอนนี้การศึกษาให้โครงสร้าง ชีวิตประจำวัน และความปลอดภัยกับเรา เรียกได้ว่าชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นเหมือน Comfort Zone แต่เมื่อเรียนจบแล้วชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน
ในยุคของโซเชียลมีเดีย การหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับผู้อื่นที่เขาแสดงให้เห็นในโลกโซเชียลไม่ใช่เรื่องง่าย
ลองคิดดูว่าการเห็นเพื่อนมีชีวิตดีๆ และงานดีๆ ทำหลังเรียนจบ ในขณะที่เราทำได้แค่นอนอยู่บ้านเฉยๆ และสมัครงานไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าสิ่งนี้คงทำให้เรารู้สึกดาวน์ได้
เมื่อเกิด Post-Graduate blues ควรจัดการอย่างไร?
ทำตัวแอคทีฟอยู่เสมอ
ถ้าเราต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านและยังไม่ได้เริ่มทำงาน อย่านั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ และมองเวลาผ่านไปวันๆ สร้างนิสัยการออกไปข้างนอก เช่น ออกไปเดินเล่น ออกไปยิม หรือสามารถออกกำลังกายอยู่ที่บ้านก็ได้ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกแอคทีฟอยู่เสมอ การออกกำลังกายจะช่วยให้เราดีขึ้นจากภาวะซึมเศร้า
รักษาชีวิตสังคมของตัวเองไว้
การเรียนจบไม่ได้หมายความว่าเราต้องไม่เจอเพื่อนอีก มีนักศึกษาหลายคนที่มีเพื่อนแท้ที่สามารถคบกันได้ยาวๆ จากมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว ก็อย่าตีตัวออกห่างจากเพื่อนและแยกมาอยู่ตัวคนเดียว
ใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว และคนที่สามารถซัพพอร์ตเราได้ให้มากๆ แม้ว่าตารางชีวิตจะยุ่งมากแค่ไหน ก็ต้องออกไปเจอคนเหล่านี้และใช้ชีวิตให้มีความสุขบ้าง
ขอความช่วยเหลือ
การไม่รู้ว่าเส้นทางอาชีพไหนเหมาะกับตัวเองหลังเรียนจบเป็นเรื่องที่น่ากังวล การสมัครงานไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้งานทำสักทีก็เป็นเรื่องที่น่าท้อใจ การสัมภาษณ์งานไม่ผ่านบ่อยๆ ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นใจและ Self-Esteem
หากใครที่กำลังประสบกับปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อนสนิท หรือขอคำปรึกษาจากทางมหาวิทยาลัยในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต หรือแม้กระทั่ง Grauate Coach เพื่อช่วยไกด์ด้านการทำงานว่าควรทำอะไรต่อไป จะได้รู้สึกกังวลน้อยลง
จำไว้ว่าอย่าจมอยู่กับความทุกข์เพียงลำพัง Omar Sattaur ที่ปรึกษาด้านอาชีพและการทำงานของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องคุยกับใครสักคน อย่ามองข้ามความรู้สึกของตัวเองและคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
การเปลี่ยนจากชีวิตนักศึกษาเป็นชีวิตที่ต้องเข้าสู่โลกการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคน ถ้าตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบก็สามารถนำทริคเล็กๆ จากบทความนี้ไปใช้เพื่อช่วยให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้ารู้สึกกังวลเรื่องสุขภาพจิตก็สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จะได้ไม่ต้องผ่านเรื่องนี้ไปเพียงลำพัง
ที่มา - BBC, Graduate Coach