‘พวกเราชาว LGBTQ ต่างกับเพศชายและหญิงตรงไหน ในเมื่อเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมพวกเราถึงไม่มีสิทธิเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากให้เป็น’
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เดือนมิถุนายน ถือว่าเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) โดยทุกๆปี เราจะได้เห็นเทศกาลเฉลิมฉลอง และขบวนพาเหรดตามท้องถนนมากมายทั่วโลก เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังมีความสุขกับการได้แสดงออกและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ พร้อมกับธงสีรุ้งที่โบกสะบัดไปมาอย่างสง่างาม
แต่กว่าที่ธงสีรุ้งจะได้โบกสะบัดอย่างสง่างามแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มันกลับแลกมาด้วยบาดแผลทั้งกายและใจของชาว LGBTQ มามากขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อเราย้อนกลับไปยังยุคที่ความหลากหลายทางเพศถูกกดทับด้วยความเป็นชาย-หญิงของสังคมกระแสหลัก และการแสดงออกทางเพศที่ผิดแปลกไปยังเป็นสิ่งต้องห้ามและน่ารังเกียจของผู้คนในสังคม
เพราะฉะนั้น เพื่อเชิดชูคุณค่าของอิสรภาพที่ได้มาและภาคภูมิใจในตัวเอง Connext จึงอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปสู่เส้นทางการต่อสู้ที่แสนยาวนานของชาว LGBTQ กว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ และร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ ‘The Stonewall Uprising’ ที่จุดประกายให้เกิด Pride Month ไปพร้อมๆกัน
1969: The Stonewall Uprising การลุกฮือของชาวสีรุ้งเพื่ออิสรภาพในการเป็นตัวเอง
จริงๆแล้ว กลุ่มความหลากหลายทางเพศมีมาทุกยุคทุกสมัยในสังคมมนุษย์นั่นแหละ เพียงแต่เราถูก filter ไม่ให้มองเห็นพวกเขาเท่านั้นเอง เพราะ มันขัดกับความเป็นชาย-หญิง ที่คนในสังคมกระแสหลักยึดถือกัน แต่ไม่ว่าสังคมจะกีดกันให้พวกเขากลายเป็นชายขอบมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะลบคำว่า LGBTQ ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่าพวกเขาอาจจะต้องอยู่อย่างหลบซ่อนๆก็ตามที
ในสังคมอเมริกันก็เช่นกัน กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อาศัยอยู่ในดินแดนเสรีภาพ ต่างต้องหลบซ่อนตัวตนที่แท้จริงและใช้ชีวิตให้เป็นไปตามที่สังคมเห็นว่าดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็น Safe Zone ในการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา นั่นก็คือ บาร์เกย์ (Gay Bar)
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่า บาร์เกย์จะเปิดรับแต่เฉพาะกลุ่มคนชายรักชายเท่านั้น เพราะ จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะมีการแสดงออกและรสนิยมทางเพศแบบไหน ก็สามารถเข้าร่วมชุมชนทางสังคมเหล่านี้ได้ทั้งนั้น ขอเพียงแค่ยอมรับในความแตกต่างของกันและกันได้อย่างเป็นสุขก็พอ
เมื่อสถานที่พบปะของชาวสีรุ้งเหล่านี้ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมกระแสหลัก ความพยายามที่จะลบคำว่า LGBTQ ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ก็รุนแรงขึ้นตามไปด้วย ตำรวจและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเริ่มเข้าควบคุมและทำลายบาร์เกย์ตามสถานที่และเมืองต่างๆ ผู้คนถูกจับกุมและทำให้อับอาย เพียงเพราะต้องการจะแสดงออกถึงตัวตนในพื้นที่เล็กๆของสังคมที่สร้างกันขึ้นมาเอง การปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
จนกระทั่ง ‘28 มิถุนายน 1969’ ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบาร์เกย์แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า the Stonewall Inn ในมหานครนิวยอร์ค และเริ่มจับกุมผู้คนออกไปข้างนอกร้านด้วยความรุนแรง ทำให้ผู้คนที่เป็นลูกค้าในบาร์แห่งนั้นไม่พอใจอย่างมาก เพราะ พวกเขาไม่ได้ทำความผิดเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จลาจลต่อต้านการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ต่อมาสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้คนท้องถิ่นในละแวกนั้นตามเข้ามาสมทบกับผู้คนในบาร์ และเริ่มขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความเคียดแค้น หลังจากถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นเวลาหลายปี จากนั้นเหตุการณ์ค่อยๆสงบลงหลังจากผ่านไป 3 วัน
จากการเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่ม LGBTQ ในครั้งนั้น ได้ปลุกกระแสให้เกิดการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งหน่วยงานอย่าง the Gay Liberation Front และ the Gay Activists Alliance เพื่อดำเนินการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQ อย่างเป็นรูปธรรม
และในอีกหนึ่งปีถัดมา การเดินขบวน ‘Pride Parade’ หรือการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยมีเหตุการณ์ The Stonewall Uprising เป็นตัวขับเคลื่อนอุดมการณ์และจุดประกายให้ผู้คนออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง
จากนั้นเป็นต้นมา กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงได้จัดให้มีการเดินขบวน Pride Parade เป็นประจำทุกปี พร้อมกับสัญลักษณ์ธงสีรุ้ง ที่สื่อความหมายถึง ความหลากหลายทางเพศของกลุ่มคนที่อยู่ใน Gay Community อีกทั้งยังได้กำหนดให้เดือนมิิถุนายน เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า ‘Pride Month’ นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า กว่าที่กลุ่มคน LGBTQ จะได้รับการยอมรับจากคนในสังคมกระแสหลักเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาต้องหลบซ่อน ต่อสู้ดิ้นรนกันมามากขนาดไหน ดังนั้น ปีนี้ 2021 แล้ว Connext ก็อยากจะให้ทุกคนลองปรับเปลี่ยนอคติที่มีต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเปิดรับพวกเราในฐานะที่เป็นมนุษยคนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกัน เพราะ ‘ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของใคร ทุกคนย่อมมีสิทธิได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเสรีเสมอ’
อ้างอิง: CNN