ช่วงนี้หลายคนอาจเผชิญความเครียดจากเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมือง ไหนจะโควิด ไหนจะปัญหาส่วนตัว สุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพจิตที่ดีไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม แต่เกิดจากการปลูกฝังนิสัยที่ดีต่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เราจะมีสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างไรบ้าง ตามมาดูกัน
หมั่นสังเกตความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ
เคยไหมโกรธแล้วก็โวยวายออกมาทันที ไม่ว่าจะเป็นการพูดเสียดสี ปิดประตูเสียงดัง หรือครุ่นคิดว่าทำไมเขาคนนั้นถึงทำตัวแย่แบบนี้
เคยไหม รู้สึกกังวลจึงพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองทันที ไม่ว่าจะเป็นการโทรคุยกับเพื่อนหรือนั่งไถโซเชียล
เคยไหม รู้สึกเศร้าจึงหันไปหาอะไรกินหรือดื่มแอลกอฮอล์ทันทีเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
รู้ไหมว่า ความหุนหันพลันแล่นพวกนี้ไม่เพียงนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ดี แต่ยังทำให้เราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เกี่ยวกับตัวเองเลย
แล้วเราต้องทำอย่างไรล่ะเพื่อให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น?
ลองเปลี่ยนมาสังเกตความรู้สึกของตัวเองดู เช่น ถ้ารู้สึกโกรธ ลองสังเกตและสงสัยความโกรธนี้ เราอาจพบว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความโกรธก็คือ ความกลัว กลัวว่าคนอื่นจะไม่รักเราในแบบที่เราเป็น กลัวว่าจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว แท้จริงแล้ว ความโกรธและพฤติกรรมที่เราแสดงออกมาทั้งหมดเป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ความกลัวและความไม่มั่นคงของเรานี้เอง
ดังนั้น เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์รุนแรง ไม่ว่าจะโกรธ เศร้า เกลียด ลองหยุดนิ่งสักพัก แล้วถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นในใจของฉันตอนนี้กันแน่
เห็นอกเห็นใจตัวเองเมื่อรู้สึกทุกข์
น่าแปลกที่หลายคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ดี แต่กลับเห็นอกเห็นใจตัวเองได้แย่
ความเห็นอกเห็นใจตัวเอง (Self-compassion) คือ การปฏิบัติต่อตัวเองเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อเพื่อนที่ดีของเราในยามที่พวกเขาเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมาน เป็นการปฏิบัติอย่างเห็นอกเห็นใจ สมดุล และไม่ตัดสิน
เคยไหม เมื่อทำผิดพลาด จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองในแง่ลบทันที
เคยไหม เมื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือกลัว จะวิจารณ์ตัวเองทันทีว่าอ่อนแอและมองความเจ็บปวดของตัวเองเป็นเรื่องไร้สาระ
เคยไหม เมื่อรู้สึกสับสนหรือไม่แน่ใจ จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอย่างกับว่าความอับอายจะช่วยให้คิดออก
พูดง่าย ๆ คือ เรามักตอบสนองต่อความผิดพลาดหรือความเจ็บปวดด้วยการกดดันตัวเอง ราวกับว่าการกดดันตัวเองเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุข
แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การกดดันตัวเองไม่ได้ช่วยเพิ่มความสำเร็จหรือความสุขในระยะยาว ในทางกลับกัน ความเห็นอกเห็นใจตัวเองคือการมองความผิดพลาดและความล้มเหลวอย่างสมดุล
ลองหันกลับมาเห็นอกเห็นใจตัวเอง ยอมรับความผิดพลาดโดยไม่ต้องครุ่นคิดถึงมัน ยอมรับว่าเพียงเพราะเรารู้สึกแย่ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนแย่ ไม่มีพลังใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการอ่อนโยนกับตัวเองหรอกนะ
ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ความยืดหยุ่น (Flexibility) คือ กุญแจสู่สุขภาพจิตที่ดีและเข้มแข็ง
เคยไหม ทุกครั้งเมื่อรู้สึกผิดหรือละอายใจ เราจะทบทวนความผิดพลาดในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่งครุ่นคิดวิจารณ์ตนเอง แล้วพบว่าการทบทวนความผิดพลาดซ้ำ ๆ นี้เอง ยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดหรือละอายใจมากขึ้นกว่าเดิม
เคยไหม รู้สึกเศร้า เราจะเริ่มครุ่นคิด แล้วพบว่ายิ่งครุ่นคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม
เคยไหม รู้สึกโกรธ เราจะเริ่มวิจารณ์คนอื่น แล้วพบว่าการวิจารณ์มีแต่จะทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองในระยะยาวมากขึ้นกว่าเดิม
เราไม่สามารถทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ได้ ลองยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตอบสนองต่อความรู้สึกแย่ ๆ ดู ไม่ว่าจะเป็น
#ใช้มุมมองใหม่ ๆ ถามตัวเองว่า คนอื่นจะมองเรื่องนี้อย่างไร?
#ทดลองทำพฤติกรรมใหม่ ๆ ทดสอบดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพยายามไม่พูดในสิ่งที่อยากพูด แทนที่จะฟาดฟันพูดออกไป หรือลองโทรหาเพื่อน แทนที่จะแยกตัวอยู่คนเดียว
#ศึกษาผู้อื่น ดูว่าคนที่เราชื่นชอบตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือความเครียดอย่างไร พวกเขาทำอะไรที่แตกต่างออกไปบ้าง และถ้าฉันลองทำตามล่ะ
เราสามารถคิดหาหนทางนำไปสู่ความทุกข์ได้แทบทุกรูปแบบ แต่การลงมือปฏิบัติเท่านั้นที่จะเปลี่ยนชีวิตของเราไปสู่สิ่งใหม่ได้
มั่นใจกล้าแสดงออกในคุณค่าของตัวเอง
เรามักมองหาวิธีบรรเทาความเจ็บปวด จนลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ คุณค่าและแรงบันดาลใจ
เมื่อเรารู้สึกเจ็บปวด เราจะค้นหาวิธีที่เร็วที่สุดในการบรรเทาความเจ็บปวดนั้น เมื่อเราใช้เวลาทั้งหมดไปกับการวิ่งหนีสิ่งที่ไม่ต้องการ เราจะเหลือเวลาเพียงนิดเดียวสำหรับการวิ่งไปหาสิ่งที่เราต้องการ เช่น การหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลทางสังคมโดยการไม่ออกไปข้างนอก ก็มีแต่จะทำให้ความวิตกกังวลเข้มข้นขึ้น หรือการหลีกเลี่ยงเป้าหมายเพราะกลัวความล้มเหลว ก็มีแต่จะทำให้การเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) แย่ลง
วิธีกำจัดชีวิตที่มีแต่การหลีกเลี่ยง คือ ความกล้าแสดงออก (assertiveness) กล้าที่จะยืดหยัดในความคิด ความต้องการของตน และกำหนดขอบเขตสิ่งที่ไม่ต้องการอย่างหนักแน่น เช่น ตัดสินใจลาออกจากงานและลองทำอาชีพใหม่ แม้จะรู้สึกกลัว
ในท้ายที่สุด วิธีเดียวที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นอย่างแท้จริงและสม่ำเสมอ คือ การเริ่มก้าวไปสู่สิ่งที่สำคัญที่สุดแม้เราจะไม่อยากทำมันก็ตาม
ให้เหตุผลและคุณค่าของเราเป็นแนวทางตัดสินใจ แล้วความรู้สึกของเราจะตามมาในที่สุด
สุดท้ายนี้ หวังว่าทุกคนจะมีสุขภาพจิตดีที่ดีไปด้วยกันนะ
อ้างอิง: Nick Wignall
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn
ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]