หนึ่งในคำแนะนำที่หลายๆ คนมีให้กับเด็กจบใหม่ คือ “ทำในสิ่งที่ตัวเองรักสิ” แต่พอเรียนจบและลองสมัครงานตามที่วาดฝันไว้จนผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ยังไม่มีงานทำสักที คำแนะนำนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่ต้องออกมาเผชิญโลกการทำงานเป็นครั้งแรก
ทำให้เด็กจบใหม่หลายคนอาจคิดว่าเมื่อการหางานที่ใช่เป็นเรื่องยากมากนัก ถ้างั้นก็ทำงานอะไรก็ได้ไปก่อนดีกว่า ซึ่งเมื่อพูดถึงงานที่ใช่แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่เมื่อเรียนจบมาแล้วรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรต่อไปด้วย
แล้วระหว่างการลดความคาดหวังของตัวเองลงแล้วไปทำงานอะไรก็ได้ไปก่อนกับรองานในฝัน เด็กจบใหม่ควรเลือกเส้นทางไหน สิ่งไหนจะถูกต้องหรือเหมาะสมกว่าเมื่อมองเป็นเป้าหมายในระยะยาว? มาลองพิจารณาจากเกณฑ์ 3 ข้อต่อไปนี้
ประสบการณ์
ลองถามตัวเองดูว่า อยากเรียนรู้อะไร อยากได้ทักษะอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น หากต้องการพัฒนาทักษะด้านการเขียนของตัวเอง เราก็ไม่จำเป็นต้องทำงานในบริษัทสื่อหรือบริษัทมาร์เก็ตติ้งที่มีชื่อเสียง เราอาจจะหันไปทำงานเขียนระดับ Entry-level กับบริษัทที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก
หากรู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไรจริงๆ ก็อย่าเพิ่งทำอะไรก็ได้ไปก่อนและหันมาเน้นบทบาทที่อยากทำจริงๆ ในภายหลัง ให้ลองคิดดูว่าทักษะไหนที่เราต้องมีเพื่อให้ได้งานที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น หากต้องการสร้างโฆษณา ให้นึกถึงตำแหน่ง Copywriter หรือ Account Manager ที่ต้องใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์แทน แต่อย่าจำกัดตัวเองอยู่แค่เพียงเอเจนซี่อันดับต้นๆ เท่านั้น
เช่นเดียวกันกับการที่คิดไว้ว่าสักวันจะเปิดธุรกิจส่วนตัว ก็ให้ลองนึกถึงการทำงานในบริษัท Startup การเรียนรู้จากผู้ที่เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราได้ พูดง่ายๆ ก็คือหากยังไม่สามารถทำงานที่ชอบโดยตรงได้ ก็ให้ลองหางานที่มีความเกี่ยวข้องดูก่อน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปสู่งานในฝัน
ความน่าเชื่อถือ
แน่นอนว่าการเลือกอุตสาหกรรมในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เช่น P&G เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนั้นหากสามารถเข้าไปทำงานที่นี่ได้ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ตาม ก็จะทำให้ดูเป็นคนมีเครดิตในโลกของมาร์เก็ตติ้งหรือ Brand management
หากใครที่ต้องการเครดิตในการทำงานก็ให้มองหาบริษัทที่ทุกคนรู้จัก เช่น Deloitte, Dropbox, หรือ Delta Airlines ไปก่อนก็ได้ เพราะการมีบริษัทระดับ Goldman Sachs ในเรซูเม่ ก็จะเป็นเหมือนจดหมายที่ทำให้เราได้งานต่อๆ ไปง่ายขึ้น
รายได้
หลายคนอาจจะทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างรองานที่ใช่ เช่น ทำงานร้านกาแฟ หรืออาจจะไปฝึกงานแบบได้เงินแค่นิดเดียว เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้ายังไม่เจองานที่ใช่ แต่หากมีโอกาสได้ทำงานที่ได้เงินดี อาจจะลองดูก่อนก็ได้เพื่อรอสมัครงานที่ใช่ เพื่อคลายกังวลเรื่องเงินลงไปอีกขั้น
โอกาสในเส้นทางอาชีพของคนเราก็เป็นเหมือนคลื่นที่มีขึ้นและมีลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความท้าทาย ความสำเร็จในเส้นทางนี้ก็ขึ้นอยู่กับความผิดพลาดที่เราทำ และเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น การได้งานแรกแย่หรือการยังไม่ได้ทำงานในฝัน ก็สามารถทำให้เราเติบโตต่อไปได้ อย่าไปสนใจกับสิ่งเล็กๆ และมองหาโอกาสที่จะให้ประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ หรือรายได้กับเรา และคิดไว้เสมอว่าสักวันเราจะได้พบเจอกับงานที่ใช่ในเส้นทางที่เราเลือก
ที่มา - Harvard Business Review