ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งการแสวงหาความสุขจากการทำงานมักถูกกดให้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จและความทะเยอทะยาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องตามที่ศาสตราจารย์แห่ง Harvard Business School และนักเขียนชื่อดังอย่าง Arthur C. Brooks กล่าวว่า “กุญแจสำคัญในการมีชีวิตนั้น อยู่ที่การค้นหาความสุขไม่ใช่เพียงแค่ชีวิตส่วนตัว แต่ยังอยู่ในการทำงานของเราด้วย”
ซึ่งในบทความนี้ ConNEXT จะพาไปเจาะลึกข้อมูลของ Arthur เกี่ยวกับการทำงานอย่างมีความสุขกัน!
ความสุขที่ลดลงกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากผลสำรวจในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 จนถึงต้นทศวรรษที่ 90 ได้ชี้ให้เห็นว่าประชากรเริ่มมีความสุขน้อยลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือโซเชียลมีเดีย เพราะผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หันไปพึ่งโซเชียลมีเดียเพื่อบรรเทาความเบื่อหน่ายและความเหงาแบบชั่วคราว แม้โซเชียลมีเดียจะมีข้อดีมากมายแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกด้านหนึ่งโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและความว่างเปล่าอีกด้วย
นอกจากนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของการทำงานทางไกล (Remote Working) ยังเป็นผลทำให้เกิดการถกเถียงว่าเป็นส่วนสำคัญที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกพนักงาน เนื่องจากการทำงานในรูปแบบนี้อาจก่อให้เกิด Work Life Balance ที่ไม่ดีจนอาจทำให้พนักงานไม่มีความสุขได้
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขในการทำงาน
จากศึกษาของ Arthur เรื่องของ เงินเดือน ตำแหน่งงาน และระดับการศึกษา ไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงานมากที่สุด คือ
- การถูกยอมรับในที่ทำงาน: ผู้คนที่พบความสุขในที่ทำงานมักจะรู้สึกว่าพวกเขากำลังสร้างงานที่มีคุณค่าและรู้สึกดีที่งานของตัวเองได้รับการยอมรับ
- การได้ทำงานที่มีคุณค่า: ได้ทำงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกที่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม
ความสุขเป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ถึงกันได้
Arthur กล่าวว่าความสุขสามารถเป็นโรคติดต่อได้ เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทสำคัญต่อสภาวะทางอารมณ์ของมนุษย์ โดยอ้างอิงถึงงานวิจัย Framingham Heart Study ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกับบุคคลที่มีความสุขสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้คนอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม Arthur ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าความทุกข์นั้นก็ติดต่อได้ง่ายเช่นกัน ทำให้วิธีการหลีกเลี่ยงพลังงานลบ ๆ หรือสภาวะที่ทำงานแบบ Toxic จึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยสรุปในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมการทำงานและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแสวงหาความสุขในชีวิตและการทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่าละเลยการรู้เท่าทันและการจัดการทางอารมณ์ของตัวเอง พร้อมทั้งสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพราะจะทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขได้มากขึ้น
ส่วนด้านองค์กรและหัวหน้าควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานรับรู้และเข้าถึงการมีส่วนร่วมของพวกเขาในงานให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรับรู้ว่าความพยายามของพวกเขาสามารถสร้างความแตกต่าง สร้างคุณค่าให้ต่อสังคมหรือแม้กระทั่งพวกเขาเองได้ เพราะสุดท้ายแล้วผู้นำที่ดีจำเป็นต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เกิดการทำงานเชิงบวกมากกว่าเชิงลบจึงจะทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความสุข
อ้างอิง HBR