การทำงานทางไกลยังเป็นรูปแบบที่หลายบริษัทใช้อยู่ แต่ก็มีบริษัทอีกไม่น้อยที่ยังคงคิดไม่ตกอยู่ว่ารูปแบบการทำงานนี้เหมาะกับการนำมาใช้หลังโรคระบาดหายไปหรือไม่
แต่สำหรับบางบริษัท การทำงานไฮบริดคือคำตอบของปัญหานี้ โดยการทำงานแบบไฮบริดคือการทำงานในออฟฟิศผสมกับการทำงานทางไกล และจริงๆ แล้ว 83% ของพนักงานในปัจจุบันก็มองว่าการทำงานแบบไฮบริดเป็นวิธีการทำงานที่เหมาะสมที่สุด
แต่การจะรักษาวัฒนธรรมการทำงานแบบไฮบริดที่ดีต่อสุขภาพพนักงานทุกคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการเปลี่ยนไปทำงานแบบไฮบริดต้องใช้การวางแผนอย่างรอบครอบและรัดกุม ไม่อย่างนั้นก็อาจจะส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี
จากการสำรวจโดย McKinsey พบว่า บริษัท 9 ใน 10 แห่ง กล่าวว่า กำลังวางแผนจะนำรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดมาใช้ แต่ 68% ก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการนำรูปแบบการทำงานดังกล่าวมาใช้
สัญญาณเตือนความ Toxic
ตอนนี้หลายบริษัทได้นำรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดมาใช้ พนักงานจึงจำเป็นต้องรู้ว่าบริษัทไหนที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดที่ Toxic และสังเกตได้ว่าบริษัทตัวเองจะสามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานได้ดี รวมถึงมีความเป็นธรรมทั้งต่อพนักงานในออฟฟิศและพนักงานทางไกลหรือไม่
1. ไม่มีแผนที่ชัดเจน
บริษัทไหนที่ดูไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบไฮบริด หรือไม่มีแผนการปฏิบัติต่อพนักงานที่ทำงานทางไกลกับพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศอย่างเท่าเทียมกันแบบชัดเจน ก็เป็นไปได้ว่าพนักงานที่ทำงานทางไกลในบริษัทนั้นอาจไม่ได้รับความเท่าเทียมในการทำงาน แต่อาจได้รับความ Toxic กลับมาแทน
2. ผู้นำระดับสูงไม่ทำงานทางไกล
บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการทำงานทางไกลจริงๆ พนักงานทุกระดับจะทำงานทางไกล ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับสูงด้วย หากบริษัทไหนมีเพียงพนักงานระดับล่างหรือระดับกลางที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทางไกล แต่ผู้บริหารระดับสูง ‘ทุกคน’ กลับทำงานในออฟฟิศ ก็ถือได้ว่าพนักงานที่ทำงานทางไกลอาจไม่มีโอกาสก้าวหน้าในบริษัทนั้น
3. ไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องมือสื่อสารดิจิทัล
ในสภาพแวดล้อมที่ต้องทำงานทางไกลหรือไฮบริด เราไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้แบบทันทีทันใด ทำให้พนักงานทางไกลอาจเสียเปรียบในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันก็มีเครื่องมือสื่อสารมากมายที่สามารถอุดช่องว่างตรงนี้ได้ ถ้าผู้บริหารไม่จัดเตรียมหรือไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องมือดิจิทัลที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นั่นหมายความว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานที่ต้องทำงานทางไกลมากขนาดนั้น
4. กิจกรรมและการให้รางวัลมีแค่ในออฟฟิศ
วัฒนธรรมองค์กรส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมและการให้รางวัลเพื่อขอบคุณพนักงานและให้คุณค่าแก่พนักงาน แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้มีเฉพาะในออฟฟิศและไม่พยายามที่จะทำให้พนักงานทางไกลรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย เช่น การให้คำชมหรือกำลังใจกับทุกคนผ่าน Slack และ Zoom ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานไฮบริดที่ Toxic
5. หัวหน้าไม่มีแผนการสื่อสารที่ชัดเจน
ทีมไหนที่ทำงานแบบไฮบริด เมื่อมีประชุมหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่านับรวมพนักงานที่อยู่ทางไกลไว้แล้วหรือยัง ดังนั้นผู้จัดการจึงควรมีแผนการสื่อสารที่ชัดเจนและครอบคลุมพนักงานทุกคนในช่วงที่พนักงานต้องทำงานทางไกล
6. เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพไม่ชัดเจน
ถ้าเส้นทางความก้าวหน้า การเลื่อนตำแหน่งและการขึ้นเงินเดือนของพนักงานที่ทำงานทางไกลมีความชัดเจนน้อยกว่าพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศ แสดงว่าที่ททำงานนั้นมีปัญหาแล้ว นอกจากนี้หากสังเกตเห็นได้ว่าบริษัทสงวนโอกาสในการเรียนรู้และการเติบโตภายในบริษัทไว้ให้กับพนักงานในออฟฟิศ ก็เป็นสัญญาณว่าบริษัทที่ทำงานแบบไฮบริดบริษัทนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานที่ทำงานทางไกล
สถานที่ทำงานที่ Toxic อาจไม่ได้มีสัญญาณเหล่านี้ทั้งหมด แต่ถ้าบริษัทไหนมีสัญญาณเตือนที่กล่าวมาแม้แต่อย่างเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทนั้นมีความ Toxic ต่อคนที่ทำงานทางไกล เนื่องจากเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานที่ต้องทำงานทางไกล
อ้างอิง inc.com