รู้จัก Tsundoku พฤติกรรมการซื้อหนังสือมาดองทิ้งไว้ แต่ไม่ได้อ่านสักที | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
รู้จัก Tsundoku พฤติกรรมการซื้อหนังสือมาดองทิ้งไว้ แต่ไม่ได้อ่านสักที
By Connext Team สิงหาคม 11, 2021
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เคยไหม? ซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ด้วยความหวังว่าจะอ่านให้จบก่อนซื้อเล่มใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังซื้อหนังสือเล่มอื่นมาอ่านเรื่อย ๆ จนอ่านหนังสือที่มีอยู่ไม่ทันอีกต่อไป หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ดองหนังสือทิ้งไว้จนลืมนั่นเอง

สำหรับหนอนหนังสืออย่างเรา การได้ไปเดินตามร้านขายหนังสือ และเห็นหน้าปกสีสันสดใสมากมายวางอยู่บนชั้นวาง ก็คงอดไม่ได้ที่เราจะอยากหยิบจับและพลิกดูหน้าหลังด้วยความสนใจ 

มันคงเหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างจากปกหนังสือ กำลังบอกกับเราว่า “ซื้อชั้นสิ เนื้อเรื่องข้างในสนุกนะ ไม่อยากลองอ่านดูหน่อยเหรอ” ยิ่งถ้าเราได้ไปงานสัปดาห์หนังสือประจำปี ที่มีหนังสือเป็นหมื่นเป็นแสนให้เลือก แรงดึงดูดนั้นจะยิ่งมากทวีคูณ จนกระทั่งเพียงแค่เสี้ยววินาที หนังสือเล่มใหม่ ๆ มากมาย ก็มาอยู่ในมือเราแบบไม่ทันตั้งตัว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชำระเงินเรียบร้อย ภาพเดจาวูซ้ำ ๆ ก็จะปรากฎขึ้นมาในหัว พร้อมกับความรู้สึกว่า “เอ๊ะ! ชั้นเพิ่งจะจ่ายตังค์ไปเมื่อวันก่อนเองนี่น่า” และเมื่อนั้นแหละ เราถึงจะรู้ตัวว่า เราเพิ่งซื้อหนังสือเล่มใหม่อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่เราแทบจะไม่ได้แตะหนังสือกองพะเนินที่ซื้อไปก่อนหน้าเลยแม้แต่น้อย

แต่ไม่ต้องแปลกใจไปนะ ไม่ใช่เราคนเดียวแน่นอน ที่ชอบซื้อหนังสือไปดองทิ้งไว้จนเต็มชั้นหนังสือที่บ้าน ใคร ๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น (และเชื่อว่าใครสักคนที่ได้อ่านบทความนี้ ก็เป็นเช่นกัน) จนกระทั่งในประเทศญี่ปุ่น มีคำอธิบายถึงความรู้สึกเหล่านี้โดยเฉพาะเลย ซึ่งคำ ๆ นั้น ก็คือ ‘tsundoku’ นั่นเอง

‘Tsundoku’ เป็นคำที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำ 3 คำในภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ tsunde (หนังสือที่กองเป็นตั้ง) + oku ( ทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง) + doku (อ่าน)

หมายถึง ความรู้สึกที่อยากจะซื้อหนังสือไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น จนกระทั่งไม่สามารถอ่านหนังสือที่มีอยู่ได้ทัน หรืออาจหมายถึง บุคคลที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจำนวนมากได้เช่นกัน ซึ่งคำ ๆ นี้ เริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 หรือตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น และใช้มาจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า ‘Bibliomania’ ในภาษาอังกฤษที่อธิบายถึง อาการทางจิตของคนที่คลั่งไคล้การสะสมหนังสือมากเกินไปแล้วล่ะก็ Tsundoku จะมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกมากกว่า 

เนื่องจากกลุ่มคนที่มีอาการ Bibliomania มักจะหมกมุ่นอยู่กับการสะสมหนังสืออย่างบ้าคลั่ง และรู้สึกเสียใจอย่างมากหากไม่ได้หนังสือเล่มที่ต้องการ ขณะที่ Tsundoku เป็นเพียงแค่ความรู้สึกอยากซื้อและอ่านหนังสือที่ซื้อไป แต่ก็ยังไม่ได้อ่านสักทีเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นแล้ว หากเรารู้สึกว่า “    ไม่อยากดองหนังสืออีกต่อไปแล้ว” ลองมาทำ Reading a book Challenge ดูดีไหม? เราอาจจะลองท้าทายตัวเองด้วยการกำหนดจำนวนหนังสือที่ต้องอ่านในแต่ละวันหรือสัปดาห์ ก่อนที่จะไปซื้อหนังสือเล่มถัดไป และแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือที่มีอยู่เยอะขึ้นกว่าเดิม เพียงเท่านี้ หนังสือกองพะเนินที่ไม่ได้แม้แต่จะเอาปกพลาสติกออก ก็จะค่อย ๆ ถูกอ่านจนครบในท้ายที่สุด 

อ้างอิง: Huffpost , Thomas Deneuville

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/tsundoku-the-act-of-buying-books-but-do-not-read-them