ในโลกที่พยายามจะสร้าง ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา ทั้งจากแนวคิด Beauty Standard ที่ต้องการให้เรางดงามตามอุดมคติของคนในสังคม หรือค่านิยมแปลกๆ ที่ทำให้เราแก่งแย่งชิงดีกับคนอื่น มันยากมากที่เราจะถอยหลังกลับมามองและชื่นชมกับคุณค่าในสิ่งที่เรามีอยู่
เราจะพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีได้อย่างไร? ถ้าเราเอาแต่วิ่งตามหลังคนอื่น แล้วไม่หยุดที่จะมองตัวเราเอง
ทำความรู้จัก ‘Wabi-Sabi’ คตินิยมของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ที่สอนให้เรารู้จักคุณค่าของ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ และชื่นชมตัวเราในแบบที่เราเป็นอย่างแท้จริง
Wabi-Sabi คือ อะไร?
เมื่อนึกถึงคำว่า ‘Wabi-Sabi’ เรามักจะนึกถึงหรือคุ้นเคยคำๆนี้ในแง่ของศิลปะความงามแบบญี่ปุ่น ภาพของถ้วยน้ำชาเซรามิคใบเก่าๆที่มีรอยร้าวจากการใช้งานอย่างยาวนาน ตัวอย่างของภาพที่สะท้อนคตินิยมของ Wabi-Sabi ได้เป็นอย่างดี คือ ศิลปะแบบ Kintsugi ที่นำถ้วยชามที่แตกเป็นชิ้นมาเชื่อมด้วยน้ำขัดเงาสีทอง สะท้อนให้เห็นถึงความงามที่มีอยู่เดิม แม้ว่ามันจะไม่สมบูรณ์แบบอีกต่อไป
เดิมที Wabi-Sabi เป็นคำสองคำที่แยกออกจากกันในภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า ‘Wabi (侘)’ สื่อถึงการชื่นชมความงามที่สมถะและเรียบง่าย ขณะที่ ‘Sabi (寂)’ สื่อถึงการทำลายและการเปลี่ยนผ่านในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนฤดู หรือการชราภาพของมนุษย์ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เมื่อนำสองคำมารวมกัน Wabi-Sabi จึงหมายถึงคตินิยม ที่เชิดชูความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เรียบง่าย จากการเปลี่ยนผ่านของชีวิตมนุษย์ โดยที่ไม่ต้องพยายามปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
Leonard Koen นักเขียนชื่อดัง ยังได้กล่าวถึง Wabi-Sabi ไว้ในหนังสือ Wabi-Sabi: for Artists, Designers, Poets & Philosophers ของเขาอีกด้วยว่า
Wabi-Sabi คือ ความงามของทุกสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่จีรัง และไม่ยั่งยืน เป็นขั้วตรงข้ามของแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่ยึดถือความสมบูรณ์แบบนิรันดร์
Wabi-Sabi ในฐานะปรัชญาชีวิต ที่สอนให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองในแบบที่เราเป็น
ปัจจุบัน ปรัชญาชีวิต Wabi-Sabi ไม่ใช่แค่แนวคิดเก่าคร่ำครึที่ชาวญี่ปุ่นเก็บไว้บนหิ้งอีกต่อไป แต่กลับนำมาประยุกต์ใช้กับแนวคิดในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่ มักจะปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และยังโหยหาความสมบูรณ์แบบให้กับชีวิต
โซเชียลมีเดีย กระแสสังคม และการเปรียบเทียบกับผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มักจะเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากความจริงที่ว่า ‘ชีวิตของเรานั้นดีอยู่แล้ว’ เสมอ และแม้ว่าความทะเยอทะยาน ที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น จะเป็นสิ่งที่ดีและนำไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้า แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรจะได้มีช่วงเวลาชื่นชมกับชีวิตและสิ่งที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันบ้าง
สำหรับการใช้ชีวิตในแง่ของการทำงาน ไม่ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือออกมาทำงานด้วยตัวคนเดียว ชีวิตการทำงานมักจะต้องเจอกับเวลาส่งงานที่กระชั้นชิด แรงกดดันจากลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงการโหยหาความสมบูรณ์แบบจากงานที่ได้ทำ ไม่มีที่ว่างให้กับความผิดพลาดในชีวิตเลย อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราพยายามจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบมากเท่าไหร่ ทุกอย่างก็จะยิ่งพังมากเท่านั้น
ดังนั้น หากเรามีงานและโปรเจคมากมายที่ต้องทำให้เสร็จ ลองนำแนวคิด Wabi-Sabi มาปรับใช้ในการทำงานดูสิ เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบนักหรอก งานทุกชิ้นย่อมมีข้อผิดพลาดได้เสมอและมันไม่ผิดแปลกอะไรเลย แค่เรารู้จักให้คุณค่ากับสิ่งที่ผิดพลาดไปในฐานะบทเรียนของชีวิตก็พอ
สำหรับการใช้ชีวิตในโลกของความงาม กรอบความคิดของสังคม มักจะกำหนด Beauty Standard ไว้ที่ความอ่อนเยาว์และรูปร่างที่สวยงามตามขนบเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวคิดของ Wabi-Sabi ที่ให้คุณค่ากับความงามทุกรูปแบบของมนุษย์โดยสิ้นเชิง แม้ว่า การดูแลสภาพร่างกายให้แข็งแรงจะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การดูแลสภาพจิตใจด้วยการยอมรับว่า บางสิ่งบางอย่างก็ต้องเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา กลับเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะเครียดวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว ริ้วรอย หรือสิ่งอื่นที่ไม่ตรงกับ Beauty Standard ของสังคม เราควรจะมองเห็นคุณค่าความงามในแบบที่ตัวเองเป็น เพราะ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนตลอดไป และในทุกความไม่สมบูรณ์แบบย่อมสวยงามเสมอ
อ้างอิง: Savvytokyo