เชื่อว่าทุกคนรู้จักนิยามของคนประเภท “Extrovert” และ “Introvert” กันอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทยุคใหม่เปรียบเสมือนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Extrovert เนื่องจากคนประเภทนี้มักเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นและเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้น
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บริษัทยุคใหม่หลายแห่งต้องการ Extrovert มากขึ้น และมักจะสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเข้าสังคมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ Introvert หลายคนจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น Extrovert แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ ConNEXT จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
การวิจัยพบว่าการเข้าร่วมสังคมก็จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ของคนประเภท Introvert ในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ และเมื่อ Introvert ได้ทำกิจกรรมเข้าสังคมมากกว่าปกติ พวกเขาจะรู้สึกดี มีความสุข และมีพลังงานบวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจจะให้ผลดีในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว Introvert ที่พยายามปรับตัวเป็น Extrovert มีแนวโน้มว่าจะมีความสุขและพลังงานที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพตามธรรมชาติของตนเองจะส่งผลให้ระดับพลังงานลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่อาการเหนื่อยล้าทางจิตใจในที่สุด
ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมงานสร้างเครือข่ายซึ่งเปิดโอกาสให้ได้พบปะผู้คนมากขึ้นอาจทำให้ Introvert รู้สึกเหนื่อยล้าจนเกิดความเครียดและทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงแนะนำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมและพอประมาณ ไม่รีบร้อน และจงให้เวลากับตัวเอง
ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรจึงจะเหมาะสมและเกิดความสมดุล?
การไตร่ตรองและประเมินตัวเองเป็นขั้นตอนแรกและเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ถามตัวเองว่า ถ้าเราต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์หรือสังคมที่แตกต่างกันไป เราจะรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์หรือสังคมนั้น ๆ และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจจากการเข้าไปอยู่ในที่นั้น ๆ การประเมินตัวเองและเลือกแนวทางเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นว่าแนวทางไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับตัวเอง
เมื่อประเมินตัวเองและกำหนดแนวทางได้แล้ว ขั้นต่อไป คือ การใช้เทคนิคจากนักวิจัยที่สามารถช่วยให้การเปลี่ยนแปลงจาก Introvert สู่ Extrovert เกิดความสมดุลได้ ซึ่งการกำหนดเวลาหรือจัดตารางเวลาเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ตัวอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Barack Obama เผยว่าตนเองเป็นคนประเภท Introvert แต่จำเป็นต้องทำงานแบบ Extrovert ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องจัดตารางเพื่อแบ่งเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งแบบ Introvert และ Extrovert เช่น หลังจากได้พบปะผู้คน เข้าร่วมการอภิปรายสาธารณะ และกล่าวสุนทรพจน์ เขามักจะใช้เวลาแกะสลักตามลำพังคนเดียว
การจัดตารางเวลาแบบนี้จะช่วยให้ Introvert ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุล เพราะจะมีเวลาพักที่สามารถอยู่กับตัวเองคนเดียวได้หลังจากที่ได้เข้าสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนการรีชาร์จหรือเติมเต็มพลังให้ตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือความวิตกกังวลมากเกินไป
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเป็น Extrovert มีผลประโยชน์แก่โลกการทำงาน เนื่องจากในการทำงานนั้นจำเป็นต้องมีการผลักดันตัวเองเข้าสู่สังคมเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน ไม่ว่าจะเป็นการพูดในประชุมหรือแม้แต่งานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เป็น Extrovert โดยธรรมชาติก็สามารถหมดไฟได้เช่นกัน ดังนั้น ก่อนที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น Extrovert ต้องรู้จักประเมินตัวเองก่อน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ การรู้จักขีดจำกัดของตัวเอง ใช้พลังงานของตัวเองอย่างชาญฉลาด และอย่าลืมให้เวลาตัวเองเพื่อชาร์จพลังงานในยามจำเป็นด้วย
เขียนโดย Chonlasit Tadapairot
อ้างอิง HBR