ไม่ว่าใครก็อาจจะเคยรู้สึกอิจฉามาก่อน เช่น อิจฉาในความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน อิจฉาที่เจ้านายชื่นชมอีกคนมากกว่า คนเราอิจฉาคนอื่นได้ แต่การจัดการความรู้สึกเหล่านี้อย่างเหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อทุกคนในอนาคต
วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานขี้อิจฉา
เคยรู้สึกไม่สบายใจเวลาอยู่กับเพื่อนร่วมงานคนไหนไหม? เช่น โดนเมินไอเดียที่เสนอไป โดนพูดแบบตรงไปตรงมาใส่จนรู้สึกเสียใจ? นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีคนกำลังอิจฉาคุณอยู่ แล้วจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรดี?
พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานตรงๆ
หากคุณรู้สึกว่ามีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะเพื่อนร่วมงานคนนั้น ให้รวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ แล้วเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานตรงๆ เพื่อหาต้นตอของปัญหา แต่จะต้องเป็นการพูดคุยอย่างสุภาพและมืออาชีพ เพื่อไม้ให้เขารู้สึกว่าถูกคุณจู่โจม
โดยทั่วไปแล้วความอิจฉามักจะเกิดจากความกลัว เช่น กลัวตกงาน กลัวจะอาย กลัวคนอื่นคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ หากคุณรู้สึกว่าคนคนนั้นเปิดใจพูดคุยกันจนรู้ถึงต้นตอของปัญหาแล้ว ก็จะช่วยให้คนคนนั้นรู้ถึงปัญหาของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ความอิจฉาหายไป และความสัมพันธ์ระหว่างคุณสองคนก็จะดีขึ้น
จำไว้ว่าความอิจฉาของคนอื่น ไม่ใช่ปัญหาของคุณ
เราไม่สามารถช่วยคนอื่นแก้ปัญหาเรื่องความอิจฉาได้มากนัก ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกหรือต้องมานั่งตีความความรู้สึกของคนอื่น ถ้าคุณทำงานได้ดีแล้วเพื่อนร่วมงานอิจฉา นั่นก็เป็นปัญหาของเขาที่เขาต้องไปจัดการเอง คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความพยายามในการทำงานเพื่อเอาใจคนขี้อิจฉา ให้ทำงานด้วยเจตนาดีต่อไป รักษาความซื่อสัตย์ และภูมิใจที่ตัวเองทำงานได้ดี
แล้วถ้าคุณเป็นคนอิจฉาเองควรทำอย่างไรดี?
ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรผิดๆ จนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา คุณควรใช้เวลาตรวจสอบตัวเองเพื่อค้นหาที่มาที่ไปของความรู้สึกที่อยู่ในใจ วิธีนี้จะช่วยลดความเข้มข้นของอารมณ์ได้ และสามารถหาทางแก้ที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม โดยคุณอาจจะเริ่มจากการถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
- ฉันเริ่มรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
- อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ฉันรู้สึกแบบนี้?
- ฉันจะจัดการกับสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกนี้อย่างไรดี?
ทบทวนตัวเอง
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า การนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะวิธีนี้ไม่สามารถบ่งบอกถึงความสามารถจริงๆ ของคุณได้ สิ่งที่ควรทำคือให้ทบทวนตัวเองและเตือนตัวเองถึงสิ่งที่เคยทำสำเร็จมาตั้งแต่เริ่มทำงาน แล้วจะเห็นได้ว่าเราทุกคนต้องเรียนรู้อะไรต่างๆ มากมายถึงจะมีความเชี่ยวชาญในอาชีพเหมือนอย่างทุกวันนี้ และทุกคนก็มีวิธีการเรียนรู้ แรงจูงใจ และประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อวิธีการทำงานของเรา
ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมงานจะดูก้าวหน้าในอาชีพการงานมากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือแม้เส้นทางของคุณกับเพื่อนร่วมงานจะดูคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วเราทุกคนต่างก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนในการทำงานในแบบของตัวเอง คุณไม่ใช่คนเดียวที่ต้องพยายาม แม้ว่ามองจากภายนอกอาจจะไม่เห็นว่าคนอื่นก็ต้องดิ้นรน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้พยายาม
พูดคุยแบบตรงไปตรงมากับหัวหน้า
บางครั้งอาจจะมีเหตุการณ์เข้าใจอะไรผิดจนทำให้คุณเกิดความอิจฉาขึ้นมา เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่เพื่อนร่วมงานได้รับเป็นสิ่งที่คุณสมควรได้รับมากกว่า ให้พิจารณาว่าอะไรคือความจริงกันแน่ โดยการถามตัวเองดังนี้
- มีข้อมูลอะไรที่จะมาสนับสนุนความรู้สึกของคุณหรือไม่?
- คุณสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ให้พูดคุยกับหัวหน้าตามตรง แต่ในการพูดคุยครั้งนี้จะต้องไม่เป็นไปในเชิงกล่าวหาผู้อื่น แม้ว่าคุณจะรู้สึกแบบนั้นก็ตาม แต่คุณต้องพูดด้วยข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนได้ว่าทำไมคุณถึงสมควรได้รับสิ่งนั้นมากกว่า
ท้าทายตัวเองด้วยการยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น
การยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเป็นมืออาชีพ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีว่าเรา แค่ปล่อยผ่านมันไป แล้วหัดที่จะยินดีกับผู้อื่นบ้าง สร้างพลังบวกให้กับตัวเองเยอะๆ แล้วพลังงานที่ดีจะสร้างพลังงานที่ดียิ่งขึ้นให้กับคุณ
ความอิจฉาในที่ทำงานเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะที่ทำงานเป็นเหมือนแหล่งเพาะพันธุ์ความรู้สึกของการแข่งขันและการเปรียบเทียบทางสังคม สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรู้เท่าทันและจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ได้
อ้างอิง Fastcompany, Businessinsider