คิดว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี
หลายคนอาจนึกถึงไอคิว (IQ) เป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากผู้ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในด้านเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Isaac Newton, Charles Darwin, Albert Einstein ต่างก็มีไอคิวสูง ๆ กันทั้งนั้นนี่นา
แต่แท้จริงแล้ว ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่หลายครั้งอาศัยคุณสมบัติอื่นเป็นหลัก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
คุณสมบัติเหล่านี้เองฝังอยู่ในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Cognitive Flexibility
Cognitive Flexibility คืออะไร
Cognitive Flexibility หรือ การคิดยืดหยุ่น คือทักษะที่ช่วยให้เราสามารถสลับไปมาระหว่างแนวคิดต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุดได้
คนที่มี Cognitive Flexibility จะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จเสมอไปและรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
ลองนึกภาพตามว่า สมมติเราขับรถผ่านถนนเส้นเดิมทุกวันเพื่อไปทำงาน แต่วันนี้ถนนเส้นนั้นกำลังซ่อมอยู่ เราจะทำอย่างไร บางคนยังคงใช้ถนนเส้นนั้นต่อไปแม้ว่าจะเกิดความล่าช้าก็ตาม แต่คนที่คิดแบบยืดหยุ่นจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและหาทางแก้ไข
การล็อกดาวน์อันเนื่องมาจาก Covid-19 ได้สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในด้านการทำงานและการเรียน และแน่นอน Cognitive Flexibility ของแต่ละบุคคลส่งผลต่อวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน บางคนสามารถปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ทำกิจกรรมภายในบ้านได้ง่ายขึ้น คนที่คิดแบบยืดหยุ่นอาจเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเป็นครั้งคราว พยายามหาวิธีที่ดีและหลากหลายมากขึ้นในแต่ละวัน ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งยึดติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิม ๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ข้อดีของการมี Cognitive Flexibility
การคิดแบบยืดหยุ่นคือกุญแจสู่ความคิดสร้างสรรค์ (สามารถคิดแนวคิดใหม่ ๆ เชื่อมโยงแนวคิดใหม่ ๆ และสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ) นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนทักษะทางวิชาการและทักษะการทำงาน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา (problem solving) ดังนั้น อย่างที่เกริ่นเรื่องไอคิวไปข้างต้น ไม่ใช่ทุกคนที่ฉลาด มีไอคิวสูงจะมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น ศิลปินหลายคนอาจมีสติปัญญาปานกลาง แต่มีความคิดสร้างสรรค์สูงและมีผลงานชิ้นเอก
ยิ่งไปกว่านั้น คนจำนวนมากเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่สำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย จากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการที่สร้างบริษัทหลายแห่งจะมี Cognitive Flexibility มากกว่าผู้จัดการที่มีอายุและไอคิวใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า Cognitive Flexibility เชื่อมโยงกับความสามารถด้านการเข้าใจอารมณ์ ความคิด และความตั้งใจของผู้อื่น
สิ่งที่ตรงข้ามกับ Cognitive Flexibility คือ Cognitive Rigidity ซึ่งพบได้ในอาการผิดปกติทางจิตหลายอาการ รวมถึงโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า และโรคออทิสติกสเปกตรัม
หลายงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการฝึก Cognitive Flexibility เช่น หลังจากที่เด็กออทิสติกฝึก Cognitive Flexibility แล้ว พวกเขามีความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น มีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารทางสังคมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การฝึก Cognitive Flexibility ยังมีประโยชน์สำหรับเด็กที่ไม่เป็นออทิสติกและผู้สูงอายุ
เราสามารถพัฒนา Cognitive Flexibility ได้อย่างไรบ้าง
1.ทำสิ่งเดิม ๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างเป็นประจำ
เราทุกคนล้วนมีกิจวัตรประจำวันที่คาดเดาได้และสบายใจ แต่การทำกิจวัตรเดิม ๆ เป็นเวลานานทำให้ความสามารถด้านการรู้คิดของเราลดลงได้ ดังนั้น ลองเปลี่ยนกิจวัตรเล็ก ๆ เหล่านี้ดู เช่น ขับรถกลับบ้านด้วยเส้นทางที่ต่างไปจากเดิม ลองอาหารใหม่ ๆ เปลี่ยนเวลาออกกำลังกาย หรือแม้แต่เปลี่ยนเก้าอี้นั่ง
2.ไล่ตามความท้าทายและประสบการณ์ใหม่ ๆ
หากหนูยังสามารถเรียนรู้วิธีขับรถได้ มนุษย์ก็สามารถเรียนรู้วิธีการทำอะไรใหม่ ๆ ได้เช่นเดียวกัน ลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ฝึกการเรียนรู้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น เต้นรำ ต่อยมวย วาดภาพ เรียนภาษาใหม่ เปลี่ยนงาน หรือเดินทางไปยังที่ใหม่ ๆ
3.พบปะผู้คนใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ยิ่งเราเปิดเผยตัวเองต่อผู้คนที่แตกต่างกัน เรียนรู้มุมมอง วัฒนธรรม และความคิดของพวกเขา ก็ยิ่งช่วยพัฒนา Cognitive Flexibility ของเราได้ ลองพูดคุยกับผู้คนใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูล หรือการช่วยเหลือผู้อื่นผ่านการเป็นอาสาสมัครก็ได้เช่นเดียวกัน
ทักษะ Cognitive Flexibility ช่วยให้เราเป็นคนยืดหยุ่นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมที่จะเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากช่วยให้คนในสังคมเกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมและแก้ไขความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง: World Economic Forum Psychology Today
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn
ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]