สมัยนี้การสมัครงานเป็นเรื่องง่ายๆ ที่อยู่แค่ปลายนิ้ว เช่น การสมัครตามเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น JobThai JobsDB หรือ LinkedIn แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้สมัครงานหลายคนมักจะเจอคือ บางบริษัทประกาศรับสมัครงานแต่ไม่ระบุเงินเดือน
มุมมองฝั่งนายจ้าง: ทำไมประกาศรับสมัครไม่ระบุเงินเดือน?
1. นายจ้างมองว่าไม่จำเป็น
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การระบุเงินเดือนจะช่วยดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานด้วยได้หากเงินเดือนที่ระบุไว้มากพอ แต่บางบริษัทที่มีคนสมัครงานเข้าไปเยอะๆ ก็อาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องระบุเงินเดือนไว้เพื่อดึงดูดผู้สมัครเก่งๆ อีกต่อไป ทำให้เลือกที่จะระบุว่า “เงินเดือนขึ้นอยู่กับประสบการณ์” แทน เพื่อที่จะได้กำหนดเงินเดือนและสวัสดิการให้เหมาะกับความรู้และประสบการณ์ของผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบ
2. นายจ้างเพิ่มอำนาจต่อรองให้ตัวเอง
การที่บริษัทจะรับคนเข้าไปทำงานได้ เขาจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเงินเดือน เช่น บางบริษัทเมื่อรู้ว่าพนักงานอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพต่ำก็อาจจะจ่ายเงินเดือนได้น้อยลง เพราะบางทีคนที่ทำงานต่างจังหวัดอาจพอใจกับรายได้ที่ต่ำกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง แม้ว่าทั้งสองคนจะมีทักษะเหมือนกัน
3. หลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่
ในโลกของการทำงาน แม้ว่าคนสองคนจะทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินเดือนเท่ากัน เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เงินเดือนของแต่ละคนต่างกัน เช่น ทักษะ ประสบการณ์ หรือความยินยอมพร้อมใจที่จะรับเงินเดือนของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน หากบริษัทโพสต์ข้อมูลเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน อาจทำให้พนักงานในบริษัทเข้าไปเห็นข้อมูลเงินเดือนของพนักงานใหม่ได้ และอาจนำไปสู่การแข่งขันและความไม่สงบภายในบริษัท
4. ไม่อยากให้คู่แข่งรู้
เหตุผลที่บางบริษัทไม่ระบุเงินเดือน เพราะไม่อยากให้คู่แข่งรู้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันในการแย่งชิงผู้มีความสามารถ โดยบริษัทคู่แข่งอาจจะเสนอเงินเดือนให้มากกว่าบริษัทตัวเองเพื่อเอาชนะผู้สมัคร หรืออาจจะวางแผนดึงพนักงานอาวุโสเก่งๆ ในบริษัทไป
มุมมองฝั่งพนักงาน: คนรุ่นใหม่กับความโปร่งใส
คนทำงานรุ่นใหม่กล้าที่จะพูดเรื่องค่าตอบแทนมากขึ้น อีกทั้งยังคาดหวังให้นายจ้างเริ่มที่จะพูดถึงเรื่องนี้เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันเรื่องความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างมากยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรที่ต้องการคนรุ่นใหม่อย่างคน Gen Z เข้าไปทำงาน จะต้องสร้างนโยบายเรื่องค่าตอบแทนให้มีความโปร่งใสและเท่าเทียมกัน เพื่อลดการแบ่งแยกที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากคน Gen Z หลายคนมองว่า บริษัทที่ประกาศรับสมัครโดยไม่ระบุเงินเดือน แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส จึงตัดสินใจที่จะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ตนเองไม่ทราบค่าตอบแทนล่วงหน้า
ไม่ว่าใครก็ต้องการความโปร่งใสเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนโดยตรง แต่กลุ่มคนที่กระตือรือร้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษคือ พนักงานรุ่นใหม่ หรือคน Gen Z ผู้ซึ่งจะมาเป็นแรงงานขับเคลื่อนบริษัทในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงควรมีความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาและรักษาผู้มีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจ่ายเงินเมื่อคนรุ่นใหม่ต้องก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน
อ้างอิง fastcompany, flexjobs