ในอดีต พื้นที่ระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ผู้คนต่างเร่งรีบเก็บข้าวของ และแยกย้ายกันกลับไปบ้าน เพื่อใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวและอยู่กับตัวเอง ทุกคนต่างมีเวลาได้พักหายใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย กลับพรากช่วงเวลาล้ำค่าเหล่านั้นไป เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มไม่ชัดเจน ผู้คนเริ่มทำงานล่วงเวลามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ทุกคนต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา และนั่น เปรียบเสมือนกับระเบิดเวลา ที่จะทำให้คุณหมดไฟในการทำงานในท้ายที่สุด คำถาม คือ เราจะยังปล่อยให้ชีวิตการทำงาน กัดกินช่วงเวลาส่วนตัวแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือปรับการทำงานใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
‘Work From Home’ วัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ทุกคนต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา
‘Work From Home’ คือ วัฒนธรรมการทำงาน ที่คนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่า เราทุกคนจะต้องพร้อมทำงานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ผู้คนสามารถทำงานได้ทุกที่และทุกเวลา ตั้งแต่การติดต่องานผ่าน E-mail การวางแผนการทำงาน หรือแม้กระทั่ง การประชุม แนวคิดนี้ ทำให้คุณค่าของการทำงานเปลี่ยนจาก ความตรงต่อเวลาในการทำงาน เป็นความพร้อมในการทำงาน โดยไม่สนใจเลยว่า นั่นเป็นช่วงเวลาที่คุณสมควรทำงานหรือไม่
จากการสำรวจของ Microsoft ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนในประเทศอังกฤษ พบว่า 56% กล่าวว่า พวกเขาต้องจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา และกว่า 43% รู้สึกว่า พวกเขาจำเป็นต้องสละเวลาส่วนตัว มาทุ่มเทให้กับการทำงาน เพื่อจะได้รับการเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ยิ่งกว่านั้น 86% ยังกล่าวอีกว่า พวกเขากำลังมีปัญหากับการแบ่งแยกระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวอีกด้วย
เพราะฉะนั้น แม้ว่า ‘การทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา’ (รวมถึงการทำงานแบบ Work From Home) อาจจะเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน ที่ไม่ต้องรีบตื่นมาทำงานแต่เช้า ตอกบัตรเข้าทำงานให้ทันเวลา และสามารถทำงานได้จากที่บ้านอย่างสบายใจ อย่างไรก็ตาม หากมองกลับกัน คุณจะต้องสูญเสียช่วงเวลาส่วนตัวไปกับการทำงาน และคุณคงจะไม่ได้พบกับคำว่า ‘เลิกงาน’ อีกเลย
‘Work From Home’ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ มากกว่าที่คุณคิด
หากบางคนรู้สึกว่า ‘การทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา’ เป็นความคิดที่ดี สำหรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ บางทีคุณอาจไม่รู้ว่า มันทำร้ายร่างกายและจิตใจของคุณได้มากกว่าที่คิด
จากงานวิจัยของ Dreams องค์กรที่ศึกษาและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของผู้คนในยุคปัจจุบัน พบว่า 3 ใน 4 ของคนที่ทำงานแบบ ‘Work From Home’ กำลังทุกข์ทรมานจากภาวะนอนไม่หลับ เนื่องจากความเครียดวิตกกังวลสะสม ที่เป็นผลมาจากการทำงานไม่เป็นเวลา และภาวะนอนไม่หลับในกลุ่มคนวัยทำงาน ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย
ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากการทำงานไม่เป็นเวลา เป็นผลให้ Dreams คิดค้น ‘Sleep Action Plan’ ขึ้นมา เพื่อใช้สำรวจพฤติกรรมการนอนของบุคลากรภายในองค์กร และคาดว่า อาจจะนำไปปรับใช้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของอังกฤษในอนาคต โดย Sleep Action Plan จะประกอบด้วย ตารางการสร้างเสริมประสิทธิภาพการนอนสำหรับ Managers การพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอน รวมไปถึงการติดตามผลจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้บุคลากรสามารถนอนหลับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อบุคลากรมีพฤติกรรมการนอนที่ดีขึ้น และทำงานเป็นเวลา จะทำให้ความเครียดวิตกกังวลลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงาน และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การทำงานแบบ ‘Work From Home’ สามารถทำร้ายร่างกายและจิตใจได้มากแค่ไหน
จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย
การทำงานแบบ ‘Work From Home’ จะมีประสิทธิภาพได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือขององค์กรและบุคลากร ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน โดยทุกคนจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำงานรูปแบบดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำงานตลอดเวลาเสมอไป
องค์กรควรกำหนดเวลาในการทำงานที่ชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากร ได้มีช่วงเวลาพักผ่อนส่วนตัวและทำกิจกรรมอื่นนอกจากเรื่องงานบ้าง ในขณะเดียวกัน บุคลากร ก็ควรปรับทัศนคติของตนเองด้วยเช่นกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ก็ควรจะพักจากการทำงาน และหากิจกรรมอื่นทำบ้าง เพื่อผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลจากการทำงาน และยังเป็นการป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีอีกด้วย เพียงเท่านี้ เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว จะกลับมาชัดเจนดังเดิมและเราจะสามารถทำงานภายใต้การทำงานแบบ ‘Work From Home’ ได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง: stylist
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่