ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ? | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ?
By Chanapa Siricheevakesorn กันยายน 17, 2023
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ในโลกการทำงานปัจจุบัน หลายองค์กรเริ่มเน้นผลลัพธ์ของงานและปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นมากขึ้น จึงทำให้พนักงานรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลากลางคืนในการทำงาน 

แม้ความเงียบสงัดและบรรยากาศตอนกลางคืนจะทำให้คุณมีสมาธิ สมองแล่นและคิดงานได้เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่! ว่ามีผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองและสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

ทำงานตอนกลางคืน เสี่ยง! สมองเสื่อมไวกว่าปกติ จริงหรือ?

ผลวิจัยชี้การทำงานดึกส่งผลให้สมองเสื่อมไวกว่าปกติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในแคนาดาได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 45–85 ปี รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน ตารางการทำงาน และผลการทดสอบสมรรถภาพทางปัญญากว่า 47,811 คน และเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ในวารสาร PLOS ONE 

จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่ทำงานเป็นกะหรือทำงานนอกเวลาปกติระหว่าง 9.00 น. ถึง 17.00 น. มีอัตราความบกพร่องทางสติปัญญาสูงกว่าปกติถึง 79% และส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะคิดอะไรไม่ค่อยออก สมองประมวลผลได้ช้าลง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและส่งผลให้สมองเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้คนทำงานเป็นกะ มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาด้านความจำ แต่คนที่ทำงานประจำในเวลาปกติมักจะต้องเผชิญกับการจัดการความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเองมากกว่า

นาฬิกาชีวิตกับการทำงานช่วงกลางคืน  

เซลล์ในร่างกายของมนุษย์จะมีระยะวงจร "Circadian rhythm หรือ นาฬิกาชีวิต" อยู่ที่ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยจะรีเซ็ตใหม่ในทุก ๆ วันตามวัฏจักรของดวงอาทิตย์ แต่อาจถูกรบกวนจากการได้รับแสงแดดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปสำหรับคนทำงานเป็นกะหรือคนที่ทำงานนอกเวลาปกติ

ซึ่งนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ใน 24 ชั่วโมง จะกำหนดเวลาสำหรับการทำงานของร่างกายที่สำคัญหลายอย่างตามเวลาที่เหมาะสมในรูปแบบนาฬิกาชีวิตของแต่ละบุคคล เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิในร่างกายที่จะถูกปรับให้อยู่ในระดับสูงเพื่อทำให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงกลางวัน และถูกปรับลดระดับลงเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและพักผ่อนในช่วงเวลากลางคืน 

หากร่างกายและวงจร Circadian rhythm ทำงานในเวลาไม่สอดคล้องกัน ก็อาจส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจให้เกิดภาวะผิดปกติ นำไปสู่สาเหตุของอาการป่วยต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ภาวะนอนหลับไม่เพียงพอและความผิดปกติของอาการปวดศีรษะได้อีกด้วย

จากการวิจัยแสดงให้เห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า การไปรบกวนวงจร Circadian rhythm นอกจากจะสร้างความเครียดให้กับร่างกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสมองในส่วนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ ความจำ สุขภาวะทางจิตโดยรวมและการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมออีกด้วย

จากข้อมูลทั้งหมดได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้การทำงานตอนกลางคืนจะดีขนาดไหนแต่กลับแอบพ่วงผลเสียมาด้วยในระยะยาว ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือเรื่องของการใส่ใจสุขภาพ มารักษาสมดุลการทำงานและดูแลสุขภาพโดยรวมของคุณด้วยการรักษารูปแบบการนอนหลับที่ดี ใช้ร่างกายและสมองให้ตรงตาม Circadian rhythm เพื่อลดอัตราเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมและโรคอื่น ๆ ให้ตัวเองในอนาคต


อ้างอิง NEW YORK POST, dailymail, psy.chula 


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/working-at-night-is-dangerous-is-it-true-that-the-brain-ages-faster-than-usual