“แค่ล้อเล่นนิดเดียวเอง ทำเป็นซีเรียสไปได้” หนึ่งในคำพูดคลาสสิกที่ใครหลายๆ คนอาจเคยได้ยิน แม้ว่าคำบางคำอาจดูเป็นเรื่องตลกสำหรับคนพูด แต่รู้หรือไม่ว่าคำพูดบางอย่างที่คิดว่าเป็นแค่การหยอกล้อธรรมดาๆ นั่นคือ ‘การบูลลี่’ และคำพูดนั้นจะส่งผลกระทบต่อจิตใจคนอื่นขนาดไหน?
หลายคนอาจจะคิดว่าการบูลลี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแค่กับเด็กเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้กลับเกิดขึ้นในวัยทำงานด้วย เมื่อดูสถิติผลสำรวจการบูลลี่ในที่ทำงานตั้งแต่ปี 2008 พบว่า 75% ของพนักงานเคยได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ในที่ทำงาน
นอกจากนี้ จากการสำรวจโดย Monster.com ในปี 2019 พบว่า พนักงานเกือบ 94% จาก 2081 คน ถูกรังแกในที่ทำงาน ซึ่งมากกว่าครึ่งถูกรังแกโดยเจ้านาย เช่น การได้รับอีเมลที่ใช้โทนคำพูดรุนแรง การนินทากัน หรือบางคนก็ตะโกนใส่ อย่างไรก็ตาม การบูลลี่ไม่ได้ขึ้นโดยหัวหน้างานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็เกิดขึ้นโดยเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน
การบูลลี่ในที่ทำงานคืออะไร? ทำไมต้องให้ความสำคัญ?
Workplace Bullying Institute ได้ให้คำจำกัดความของการบูลลี่ในที่ทำงานไว้ว่า “การทารุณกรรมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือมากกว่า โดยมีผู้กระทำผิดตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งกระทำการข่มขู่ ทำให้อับอายหรือรบกวนการทำงาน และถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม”
เมื่อมาดูผลกระทบของการบูลลี่ในที่ทำงานจากการสำรวจแล้ว พบว่า 46% กล่าวว่าการบูลลี่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วย 28% กล่าวว่าการบูลลี่ส่งผลเสียต่อร่างกาย 22% ต้องหยุดงานจากการโดนบูลลี่ 36% ต้องลาออกจากงาน สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการบูลลี่ในที่ทำงานจะส่งผลเสียต่อทั้งองค์กรเองและเศรษฐกิจของประเทศด้วย เนื่องจากพนักงานขาดงาน ลาออก และมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
นอกจากนี้ การศึกษายังพบอีกว่า การบูลลี่ในที่ทำงานจะทำให้พนักงานเกิดความเครียด อีกทั้งยังทำให้สูญเสีย Self-esteem รวมถึงคุกคามสุขภาพทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย หรืออาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากการรู้สึกว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (Helplessness) กับภาวะซึมเศร้ามีความเชื่อมโยงกันโดยตรง ทำให้การกลั่นแกล้งอาจนำไปสู่สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดอย่างการฆ่าตัวตายได้
คำว่า “แค่ล้อเล่นนิดเดียวเอง” เลวร้ายกว่าที่คิด
การบูลลี่ในที่ทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องมีการให้ความรู้ทั้งทางผู้ถูกรังแกและผู้ที่รังแกเองว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วจะเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์ สิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นแค่การล้อเล่นนิดเดียว สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงหลายๆ อย่างได้ ตั้งแต่ความเจ็บช้ำทางร่างกายและจิตใจ ความเครียดหลังเจอเหตุการณ์นั้น ไปจนถึงการขาดงานและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
หากเรากำลังล้อเลียน ดูถูก หรือทำพฤติกรรมอะไรก็ตาม แล้วบุคคลนั้นบอกให้เราหยุดทำสิ่งนั้นได้แล้ว นั่นทำให้เห็นได้ว่าพฤติกรรมที่เราทำเป็นการล่วงละเมิดผู้อื่น ก็ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่การพูดโต้ตอบกลับไปว่า “แค่ล้อเล่นนิดเดียวเอง จะซีเรียสทำไม” เพราะการละเมิดก็คือการละเมิด ผู้ที่โดนบูลลี่ไม่ได้รู้สึกสนุกไปกับเราด้วย
การบูลลี่ไม่ได้เกิดแค่เพียงจากคำพูดเท่านั้น
การดูถูก ดูหมิ่น และการสื่อสารทั้งทางคำพูดหรือสีหน้าท่าทาง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็สามารถทำให้คนเรารู้สึกโดนดูถูก ไม่ปลอดภัย และรู้สึกไม่เข้าพวกเหมือนโดนกีดกันได้ แต่รู้หรือไม่ว่า Nonverbal bullying ก็ส่งผลร้ายได้ไม่แพ้การบูลลี่ทางคำพูด แล้ว Nonverbal bullying มีอะไรบ้าง?
- การแสดงออกทางสีหน้า: การแสดงออกทางสีหน้าสามารถบ่งบอกถึงความคิดและความรู้สึกของเราได้ การเห็นสีหน้าของผู้อื่นก็ทำให้เราเปลี่ยนวิธีที่เราแสดงออกมาได้เช่นกัน เช่น เมื่อเราต้องพรีเซนต์งานให้คนอื่นๆ ฟัง แล้วเราพูดพร้อมสังเกตสีหน้าคนที่เราฟังไปด้วย เมื่อเห็นคนทำหน้างงๆ เราก็จะรู้ได้ว่าเขาอาจกำลังไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูด เราก็อาจจะรู้สึกประหม่าหรือไม่มั่นใจมากขึ้น หรือบางคนยิ้ม เราก็จะรับรู้ได้ถึงกำลังใจและรู้สึกมั่นใจในการพูดมากขึ้น การถูกคนอื่นบูลลี่ทางสีหน้าก็สามารถรับรู้ได้ไม่ต่างกัน
- ภาษากาย: ภาษากายที่เป็น Microaggression มีอยู่สองอย่างคือภาษากายแบบปิด เช่น การกอดอก การหันหน้าหนี การมองโทรศัพท์หรือโต๊ะ และการวางคอมพิวเตอร์ที่เปิดไว้ขณะพูดคุยกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นการขวางกั้นระหว่างเรากับผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราไม่รับฟังความเห็น หรือไม่สนใจสิ่งที่คนอื่นกำลังพูด และภาษากายอีกอย่างหนึ่งคือ การวางตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น การวางมือบนสะโพก การวางมือด้านหลังศีรษะ การนั่งขาเปิดกว้าง การวางแขนบนไหล่คนอื่น การยืนขณะที่คนอื่นนั่ง และอื่นๆ ทั้งหมดเป็นการบอกคนอื่นเป็นนัยๆ ว่า เรามีอำนาจเหนือกว่า ไม่แยแส และไม่สนใจผู้อื่น
- การหลีกเลี่ยง: การหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการกลัวจะพูดผิดหรือทำสิ่งที่ผิด ทำให้หลีกเลี่ยงคนคนนั้นไปเลย ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้บุคคลที่ถูกหลีกเลี่ยงรู้สึกว่าตัวเองโดนเลือกปฏิบัติ และขาดการเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ
แม้แต่การทำงานทางไกลก็หนีไม่พ้นการโดนบูลลี่
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของเรา ทำให้ผู้คนสามารถทำงานทางไกลและไฮบริดได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงานได้ทั่วโลก แต่ในเรื่องดีก็ยังมีเรื่องร้าย เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้เองทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับ Cyberbullying
โดยหนึ่งในคนที่โดน Cyberbullying คือ Clare ผู้ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัท PR แห่งหนึ่งในลอนดอน Clare เล่าว่าเธอตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ในที่ทำงาน “เพื่อนร่วมงานส่งข้อความหากัน พร้อมยิ้มเยาะและหัวเราะให้กัน และหนึ่งในเพื่อนร่วมงานบังเอิญส่งข้อความผิดมาหาเรา เป็นข้อความที่ดูหมิ่นสิ่งที่เราทำ แต่ต่อหน้าทำเป็นไม่รู้เรื่องว่าทำไมข้อความนั้นถึงส่งมาหาเราได้” Clare กล่าว
นอกจากนี้เพื่อนร่วมงานของ Clare ยังพยายามใส่ร้ายเธอกับเจ้านาย หลังจากนั้น Clare ก็เริ่มรู้สึกกลัวการไปทำงาน และสงสัยทุกข้อความที่เพื่อนร่วมงานส่งหากันว่าเขาพูดถึงตัวเองอยู่หรือเปล่า
หลายคนอาจคิดว่า Cyberbullying เกิดขึ้นแค่กับวัยรุ่นและในโรงเรียนเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว Cyberbullying ในที่ทำงานอาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็น Cyberbullying แบบไหน ผลลัพธ์ก็เหมือนกัน นั่นคือการสร้างความอับอาย และทำให้เหยื่อต้องทุกข์ใจ
ในท้ายที่สุด Clare ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง หลายคนชอบบอกให้เหยื่อเข้มแข็งและไม่ต้องสนใจสิ่งที่คนอื่นทำ เดี๋ยวเขาก็เลิกสนใจเราไปเอง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานไม่ชัดเจน ทำให้คนที่ชอบบูลลี่คนอื่นสรรหาวิธีใหม่ๆ มารังแกคนอื่นได้ตลอดแม้กระทั่งนอกเวลาทำงาน
หากใครนึกภาพไม่ออก หนึ่งในคนที่เผชิญกับเรื่องนี้คือ Fiona ที่โดนอดีตเพื่อนร่วมงานบูลลี่เธอแม้แต่ตอนนอกเวลางาน เมื่อ Fiona โพสต์รูปบน Instagram เพื่อนร่วมงานเหล่านั้นก็จะแคปภาพไปพูดคุยนินทากับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เข้ามารบกวนจิตใจแม้แต่ในตอนวันหยุด ทำให้ Fiona ถึงกับต้องคิดหลายตลบกว่าจะโพสต์อะไรลงบนโซเชียลได้ อีกทั้งยังกลัวว่าถ้าบล็อกเพื่อนร่วมงานไปแล้วอะไรๆ มันจะยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม
Cyberbullying มักก่อให้เกิดความคิดแบบกลุ่มในที่ทำงาน ถ้าให้พูดเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือเพื่อนเกลียดใครเราก็เกลียดด้วย สิ่งนี้ทำให้เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยวในที่ทำงานมากขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครอยู่ข้างเรา อีกทั้งยังรู้สึกเหมือนโดนสะกดรอยตามตลอดเวลา
เมื่อการบูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก นายจ้างควรแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างไร?
เมื่อความขัดแย้งในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งกับพนักงานแล้ว ทางองค์กรมีการจัดการกับปัญหานั้นหรือไม่? อย่างไร?
จากการวิจัยโดย Chartered Institute of Personnel and Development (CIPD) พบว่า พนักงาน 26% ยอมรับว่าความขัดแย้งในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า:
- 43% ผู้บริหารปฏิบัติกับบางทีมดีกว่าทีมอื่น
- 32% บอกว่าผู้จัดการเข้ามาทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งแย่ลง
- 24% รู้สึกว่าปัญหาการบูลลี่และการล่วงละเมิดถูกซุกไว้ใต้พรม
- 31% กล่าวว่าเมื่อรายงานปัญหาไปแล้ว บุคคลที่ได้รับรายงานกลับไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ความขัดแย้งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ก็จะก่อให้เกิด Toxic workplace ขึ้นในที่สุด ดังนั้นทางองค์กรเองจึงควรลงมือแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
สิ่งแรกที่ทางองค์กรควรทำคือ ผู้นำจะต้องทำตัวให้เป็นกลางเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง และรับฟังพนักงานอย่างเข้าอกเข้าใจ และไม่มองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่สร้างความน่ารำคาญให้กับตัวเองแต่จะเป็นบทเรียนที่ทำให้ตัวเองเติบโตต่อไปได้ เมื่อความขัดแย้งถูกจัดการอย่างถูกวิธีก็จะสร้างความเชื่อใจ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับพนักงานด้วย
แต่หากเกิดความขัดแย้งหรือการบูลลี่ในที่ทำงานแล้วมีการร้องเรียนซ้ำๆ ว่าบุคคลเดิมเป็นคนก่อเหตุ ผู้นำควรหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดข้อร้องเรียนบ่อยๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาบริษัทควรลงทุนไปกับการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทักษะการสื่อสาร และปลูกฝังค่านิยมการห้ามกลั่นแกล้งกันในที่ทำงานเข้าไปในนโยบายบริษัท การฝึกอบรม การปฐมนิเทศ การสรรหาบุคคล และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมนโยบายให้ดำเนินต่อไปอย่างสม่ำเสมอและสร้างนิสัยที่ดีให้กับพนักงาน
นอกจากนี้ บริษัทจะต้องบังคับใช้มาตรฐานใหม่และทำให้สอดคล้องกันทั่วทั้งบริษัท ตั้งแต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลไปจนถึงทีมผู้นำ เพื่อป้องกันการบูลลี่กันในที่ทำงาน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การมีบทลงโทษที่ชัดเจนและไม่เลือกปฏิบัติแม้ว่าจะตำแหน่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม หรือการสร้างนโยบายที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
เมื่อพนักงานเริ่มเห็นแล้วว่าทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกัน ก็จะเริ่มมีความไว้เนื้อเชื่อใจนายจ้างมากขึ้น และมีความกล้าที่จะรายงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สิ่งนี้ก็จะทำให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ที่วางเอาไว้
พนักงานควรรับมือกับการโดนบูลลี่อย่างไร?
หลายคนเมื่อผ่านการถูกบูลลี่ในที่ทำงานมาแล้วก็จะคิดวนอยู่กับตัวเองซ้ำๆ ว่า เราทำอะไรผิด? ทำไมคนอื่นถึงทำแบบนี้กับเรา? แต่การคิดวนๆ อยู่อย่างนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้สุขภาพจิตแย่ลงด้วย ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการยอมรับ และเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นคนผิด ให้เปลี่ยนจากการโทษตัวเองเป็นโทษคนที่บูลลี่เรา สิ่งนี้จะทำให้เราก้าวออกจากสถานการณ์นั้นและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น หลังจากนั้นก็ควรพูดคุยกับใครสักคน อย่าเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวและปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากรายงานเรื่องนี้กับผู้มีอำนาจแล้วไม่ได้รับความสนใจ และได้รับความเครียดจากการถูกบูลลี่จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุดคือ การพาตัวเองออกมาจากที่ที่ไม่มีใครสนใจความเป็นอยู่ของเรา แม้ว่าจะรู้สึกไม่ยุติธรรมว่าเราเป็นคนถูกบูลลี่แล้วทำไมเราถึงต้องลาออก แต่ว่าเมื่อลองคิดดูดีๆ แล้วก็จะพบว่า การลาออกคุ้มค่ากว่าการอยู่ต่อไปเรื่อยๆ จนเสียสุขภาพจิตทุกวันแน่นอน
การบูลลี่ในที่ทำงานสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเป็นผู้นำขององค์กรที่ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ อีกทั้งยังปล่อยปัญหาไว้จนสะสมเกิดเป็นวัฒนธรรมในที่ทำงานที่ Toxic ซึ่งถูกสืบทอดมาอย่างยาวนาน ดังนั้นบุคคลที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือผู้นำที่มีหน้าที่ป้องกันการบูลลี่และการล่วงละเมิดในที่ทำงาน และทางพนักงานเองหากกำลังโดนบูลลี่ในที่ทำงานก็อย่าโทษตัวเอง และอย่าปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เราต้องพูดคุยกับใครสักคนให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
อ้างอิง Forbes (1)(2)(3)(4)(5)(6), Fast Company, The Guardian