ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนานถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเบาลงไปบ้างแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 อยู่ แต่อย่างไรก็ตามสุขภาพก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตที่เราไม่ควรมองข้าม ซึ่งในวันที่ 7 เมษายนของทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้กำหนดให้เป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) เพื่อทำให้คนทั้งโลกได้ตระหนักรู้ถึงสุขภาพที่ดีและการรักษาที่เท่าเทียมกัน วันนี้ ConNEXT จะพามารู้จักกับวันอนามัยโลกว่ามีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไรบ้าง?
วันอนามัยโลกมีที่มาอย่างไร?
ในปี 1948 หลายประเทศทั่วโลกรวมตัวกันก่อตั้งองค์การอนามัยโลกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะสุขภาพกายหรือจิตใจ รักษาโลกให้ปลอดภัยจากวิกฤตโรคระบาดต่างๆ และให้บริการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนบนโลกสามารถมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม
ในวันอนามัยโลก ทั่วโลกเขาทำอะไรกันบ้าง
ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งองค์การอนามัยโลกขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้รับการรณรงค์อย่างมากจากผู้คนทั่วโลกในวันอนามัยโลก ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีหัวข้อการรณรงค์ที่แตกต่างกันออกไปและจะเน้นการรณรงค์ในสถานศึกษา การสัมมนา เป็นต้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคยากจนทั่วโลก รวมทั้งคอยย้ำเตือนให้เรารู้สึกอยากดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน ตลอดจนการขับรถเพื่อการกุศลและการระดมทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ที่ด้อยโอกาส นอกจากสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะจะเป็นสิ่งที่ถูกละเลยเสมอ ดังนั้นการบำบัดหรือการเข้ารับการปรึกษาสุขภาพจิตจึงได้รับการส่งเสริมอย่างมากในปัจจุบัน
ทำไมวันอนามัยโลกถึงสำคัญกับพนักงาน?
เห็นได้ชัดว่าพนักงานหลายคนทำแต่งานจนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง แต่รู้หรือไม่? การมี Work-Life Balance นั้นมีความสำคัญมาก เรียกได้ว่าการมี Work-Life Balance ที่ดีจะช่วยปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการทำงานมากเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้สุขภาพกายและจิตใจดีขึ้นอีกด้วย เพราะเมื่อชีวิตมีความสุขมากขึ้น การทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของเรา แม้กระทั่งปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็จะดีขึ้นอีกด้วย
ซึ่งสามารถสร้าง Work-Life Balance ได้ง่ายๆ ด้วยการทำตาม 5 ข้อนี้
- การกำหนดเป้าหมายสิ่งที่จะทำภายในวันนั้นและจัดลำดับการทำงานในแต่ละวันเพื่อจัดการเวลาได้ดีขึ้น
- เคารพเวลาพักผ่อนของตัวเอง เมื่อถึงเวลาพักผ่อนควรหยุดคิดเรื่องงาน ใช้เวลาพักผ่อนเป็นรางวัลให้กับความตั้งใจของตัวเองในแต่ละวัน
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและต่อรองการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าเพื่อแบ่งเบาภาระงาน ช่วยให้เราจดจ่อกับงานและผลิตงานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
- ใช้เวลากับคนรอบตัว การแบ่งเวลาให้กับคนรอบตัวหรือคนในครอบครัวจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และช่วยบรรเทาความเครียดหรือความทุกข์ภายในจิตใจได้
- ใส่ใจกับตนเองมากขึ้น แบ่งเวลาเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อคลายความเครียด ช่วยให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงพร้อมกับการทำงานมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือจิตใจ การแบ่งเวลาจากการทำงานมาดูแลสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้นล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องกันมาดูแลกันอย่างจริงจังเพื่อกันสุขภาพกายจากออฟฟิศซินโดรมและป้องกันสุขภาพใจจาก Burnout เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ อย่าลืม! หันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะ
เขียนโดย : Nichaphat Srijumpa
อ้างอิง : who, nationaltoday, thethaiger, chulalongkornhospital