หลังจากผ่านพ้นช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย และตอนนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป
หลายคนคงสงสัยว่าหลังจากได้ผู้ว่าฯ คนใหม่แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพราะทีมชัชชาติได้จัดทำนโยบายเอาไว้ถึง 214 นโยบาย เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมีการแบ่งนโยบายออกเป็นหลายหมวดหมู่ และหนึ่งในนั้นคือนโยบาย ‘เรียนดี’ เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่มีเป้าหมายหลักคือ เพิ่มหลักสูตร เพิ่มคุณภาพในการดูแลนักเรียน ลดภาระงานคุณครู และลดภาระผู้ปกครอง
บทความนี้จะพาไปสำรวจนโยบายด้านการศึกษาบางส่วนของชัชชาติว่าจะเข้ามาพลิกโฉมการศึกษาของโรงเรียนสังกัด กทม. อย่างไร
1. เพิ่มหลักสูตร
นโยบาย ‘ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก’
เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรยังไม่มีการปรับให้เท่าทันสถานการณ์โลกเท่าที่ควร อีกทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี จึงจะมีการปรับหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่น เพิ่มเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ การใช้เทคโนโลยี และประเด็นทางสังคมต่างๆ เข้ามาในโรงเรียนสังกัด กทม.
นโยบาย ‘ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน’
ข้อควรคำนึงถึงเมื่อต้องจัดหลักสูตรการศึกษาคือ ความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้นักเรียนเรียนจบไปแล้วมีทักษะติดตัว เป็นที่ต้องการของตลาด มีงาน และมีรายได้อย่างแท้จริง กทม.จะเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาให้กับนักเรียนมากขึ้นผ่านโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น e-Commerce
2. เพิ่มคุณภาพในการดูแลนักเรียน
นโยบาย ‘After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน’
เมื่อเวลาเลิกเรียนของนักเรียนกับเวลาเลิกงานของผู้ปกครองไม่ตรงกัน ทำให้นักเรียนต้องอยู่โรงเรียนต่อเพื่อรอผู้ปกครองมารับ ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น นโยบาย ‘After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน’ จึงจะเข้ามาช่วยสร้างกิจกรรมหลังเลิกเรียนให้กับนักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม พร้อมเพิ่มค่าตอบแทนให้กับครูที่อยู่ดูแลนักเรียน
ตัวอย่างกิจกรรม:
- การฝึกซ้อมกีฬา
- การสอนดนตรี ศิลปะ และทักษะอื่นๆ
3. ลดภาระงานครู
นโยบาย ‘คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี’
ปกติแล้วครูต้องเสียเวลาไปกับการจัดทำเอกสารหลายอย่าง ตั้งแต่การทำรายงานต่อผอ.โรงเรียน สำนักการศึกษา ไปจนถึงกระทรวงศึกษา อีกทั้งยังมีภาระงานด้านเอกสารอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนอีกมาก กทม.จึงจะลดภาระงานเอกสารของครูด้วยการเปลี่ยนการทำเอกสารจากกระดาษเป็นระบบดิจิทัล
นโยบาย ‘ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอน ลดภาระการทำเอกสาร’
การประเมินวิทยฐานะของครูในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นระบบเก่าที่ต้องทำเอกสารและงานวิจัยหลายอย่าง ทำให้เป็นการสร้างภาระให้กับครู จนอาจไม่มีเวลาเตรียมการสอนให้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น กทม. จึงจะปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอนมากขึ้น เพื่อลดภาระงานเพิ่มเติมครูให้มีเวลาไปดูแลนักเรียนมากขึ้น
4. ลดภาระผู้ปกครอง
นโยบาย ‘เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม’
รัฐและกทม.จะเพิ่มเงินสนับสนุนเกี่ยวกับการเรียนให้กับนักเรียนในสังกัด กทม. เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น เพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งครอบคลุมราคา เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอื่นๆ
นโยบาย ‘ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ โดยเฉพาะในช่วงการ study from home’
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความพร้อม ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนได้ กทม.จึงจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนยืมกลับไปใช้ที่บ้านได้ พร้อมมีซิมอินเทอร์เน็ตไว้ให้ยืม เพื่อเป็นการลดภาระผู้ปกครอง
อ้างอิง chadchart