สำหรับ Gen Z หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดคงไม่หนีพ้นเรื่องเงินแต่สงสัยไหมว่าแล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ฐานะทางการเงินของเรายังไม่มั่นคง?
หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพราะนิสัยใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คน Gen Z มีปัญหา เพราะยังมีอีก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการเงินของ Gen Z โดยตรง
สาเหตุที่ทำให้การเงินของ Gen Z ไม่มั่นคง
1.กู้เงินมาเพื่อการศึกษา
จากรายงานของ Pew Research Center หน่วยงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่าแม้ Gen Z มีแนวโน้มที่จะเรียนจบ มีงานทำ มีรายได้มากกว่าพ่อแม่ก็จริง แต่ก็มี Gen Z จำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่สูงมากที่ไปกู้เงินมาจ่ายค่าเทอมของตัวเอง
Kim Parker ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแนวโน้มสังคมกล่าวว่า “แม้ Gen Z จะเรียนจบสูงกว่าพ่อแม่ แต่การที่จะมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงเทียบเท่ารุ่นพ่อแม่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะ Gen Z มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นหนี้ได้ง่ายกว่าคนรุ่นอื่น”
Nicole Smith หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์กล่าวกับสำนักข่าวชื่อดังอย่าง CNBC ว่าการกู้เงินเพื่อการศึกษามีแนวโน้มที่จะทำให้ Gen Z ไม่กล้ามีครอบครัว ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องเก็บเงินเพื่อเอาไปใช้หนี้ จนอาจทำให้พวกเขาไม่มีเงินเก็บที่มากพอที่จะสามารถไปดูแลคนอื่นได้
Pew Research Center ยังได้สำรวจคนที่อายุประมาณ 18 ถึง 34 ปี ประมาณ 1,500 คน รวมถึงผู้ปกครองของเด็กอีกประมาณ 3,000 คนพบว่า Gen Z มีแนวโน้มที่จะเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยสูง ๆ มากกว่ารุ่นพ่อแม่แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขามีเปอร์เซนต์ที่จะซื้อบ้านหรือแม้แต่การมีครอบครัวเป็นของตัวเองลดลง
2.ค่าครองชีพที่สูงเกิ๊น
จากรายงานของ Redfin นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พบว่าราคาบ้านและอัตราการจำนองในปี 2023 เป็นปีที่ราคาบ้านถูกที่สุดในรอบ 11 ปี แต่เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจึงทำให้ค่าเช่าและราคาบ้านพุ่งสูง Pew’s Parker ยังกล่าวเสริมว่า “ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คน Gen Z อยากอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตัวเอง”
รายงานของ Intuit Credit Karma บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงินและภาษีรายใหญ่พบว่า 31% ของคน Gen Z อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อบ้านหรือเช่าบ้าน นอกจากนี้ข้อมูลของ Pew ยังพบว่าแม้จะมีคน Gen Z ที่สามารถออกไปอยู่คนเดียวได้แต่พวกเขาก็ยังต้องขอความช่วยเหลือจากครอบครัวอยู่ดี ซึ่งมีเพียง 45% ของคนอายุ18-34 ปีเท่านั้นที่บอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องเงินเลย
Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังบอกกับ CNBC ว่า “80% -90% ของคนที่โตแล้วในรุ่นของเธอสามารถสร้างชีวิตได้ดีกว่าพ่อแม่แต่หลังจากนั้นจำนวนคนที่ทำได้ก็ลดลงเรื่อย ๆ”
Gen Z อีกหลายคนยังได้บอกในการศึกษาว่าการสร้างฐานะให้มั่นคงในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าในรุ่นพ่อแม่ของ
Bankrate บริษัทให้บริการทางการเงินในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกายังพบว่าอีกประมาณกว่า 38% ของ Gen Z และ Millennials เชื่อว่าพวกเขากำลังเจอกับปัญหาทางการเงินมากกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยเจอในวัยเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจจาก Bank of America พบว่า 53% ของกลุ่ม Gen Z บอกว่าด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้พวกเขามีฐานะทางการเงินที่มั่นคงได้ยากและจากการศึกษาดัชนีความมั่งคั่งโดย Intuit พบว่า 73% ของคนที่ตอบแบบสอบถามใน Gen Z กล่าวว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้พวกเขาลังเลที่จะกำหนดเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวเลยทำให้การอยู่กับพ่อแม่อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า
การอยู่กับพ่อแม่มีข้อดีมากกว่าที่คิด
หลายคนอาจคิดว่าการอยู่กับพ่อแม่อาจจะทำให้ขาดอิสรภาพหรือคนอื่นมองว่าเราเป็นเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโตหรือเปล่า? แต่จะบอกว่าการอยู่กับพ่อแม่มีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่มากกว่าที่เราคิดนะ
Kim Parker ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแนวโน้มสังคมของ Pew กล่าวว่าการอาศัยอยู่กับพ่อแม่กลายเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวและยังเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น
Rachel Minkin ผู้ร่วมวิจัยของ Pew กล่าวเสริมว่า “ทั้งพ่อแม่และคนหนุ่มสาวต่างบอกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขาจะดีมากขึ้นมาจากการที่ได้อยู่ด้วยกันด้วยส่วนหนึ่ง”
นอกจากนี้คน Gen Z ยังบอกอีกว่าการอยู่กับพ่อแม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและฐานะทางการเงินของพวกเขาและด้วยความที่อยู่ด้วยกันอาจทำให้พวกเขาสามารถปรึกษาเรื่องการงาน การเงิน เรื่องส่วนส่วนตัวสุขภาพกับพ่อแม่ได้ง่ายขึ้นด้วย
ทีนี้เราก็ได้รู้กันแล้วว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ฐานะทางการเงินของเรายังไม่มั่นคง หากใครกำลังคิดว่าเราคิดผิดไหมนะที่กู้เงินเพื่อการศึกษา หรือเพราะเศรษฐกิจบ้านเมืองที่ทำให้เราต้องมีฐานะทางการเงินแบบนี้ จะบอกว่าไม่มีฝ่ายไหนผิดเพราะการศึกษาก็สำคัญและจำเป็น ส่วนเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจบ้านเมืองก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นต่อให้เรากล่าวโทษไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น สู้เอาความกังวลในเรื่องพวกนี้มาคิดหาทางแก้ปัญหาทางการเงินจะดีกว่า เพราะทุกนาทีของเรามีค่าใช้เวลามาสร้างเงินสร้างทองกันเถอะ!
เขียนโดย : Monnapha Wangchanakul
อ้างอิง : cnbc