"Doom spending" เทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่เลือกใช้เงินกับกระเป๋าแบรนด์เนม ซื้อของหรูหราเพียบ! ใช้เงินฟุ่มเฟือยเพื่อคลายกังวล เกิดจากความรู้สึกสิ้นหวังต่ออนาคตทางการเงิน เพราะต้องเจอกับค่าครองชีพสูง ปัญหาหนี้สิน หรือเป้าหมายชีวิตแบบเดิมอย่างการซื้อบ้าน มีลูก และเกษียณ ได้เปลี่ยนไปแล้ว?
แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิด "Doom Spending"
เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่าย แต่คนรุ่นใหม่กลับใช้เงินมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าอนาคตทางการเงินมืดมอยู่แล้ว ค่าเรียนสูง ค่าครองชีพแพง หาเงินยาก การเก็บเงินเพื่อเกษียณหรือซื้อบ้านยิ่งยาก
รายงาน Credit Karma บริษัทด้านการเงินส่วนบุคคล พบว่า 27% ของชาวอเมริกันยอมรับว่าเคยใช้เงินฟุ่มเฟือยเพื่อคลายความกังวลใจ โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials และ Gen Z มีอัตราสูงถึง 43% และ 35% ตามลำดับ
ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับวิจัยในปี 2004 ของ Stephen Wu ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Hamilton College พบว่า “คนที่เชื่อว่าโชคชะตาหรือปัจจัยภายนอกมีผลต่อความสำเร็จทางการเงิน มักมีแนวโน้มเก็บเงินน้อยลง” ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความรู้สึกสิ้นหวังและพฤติกรรมการใช้เงินที่ดูขัดแย้งนี้ เกิดมากขึ้นหลังจากเจอวิกฤตการแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เลยไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าอนาคตไม่แน่นอน ชะตาชีวิตอยู่เหนือการควบคุม ซื้อของแพง ๆ ซักชิ้นเลยเป็นการปลอบใจตัวเองที่ดีที่สุด
แรงสนับสนุนจากครอบครัวและอิทธิพลโซเชียลมีเดีย
คนรุ่นใหม่จำนวนมากยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ทำให้อาจมีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อีกทั้งสื่อโซเชียลที่เต็มไปด้วยภาพการใช้ชีวิตหรูหราของคนดัง ก็ยิ่งส่งเสริมค่านิยมดังกล่าว
Doom Spending: เสี่ยงต่อการติดกับดักการเงิน
แม้การซื้อของฟุ่มเฟือยอาจดูเหมือนเป็นการปลอบประโลมใจ แต่หากไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่การติดกับดักการเงิน เดือนชนเดือนได้
มองมุมกลับ: การใช้ชีวิตแบบใหม่ ไม่ใช่การสิ้นหวัง
Maria Melchor Content Creator ด้านการเงิน มองว่า การซื้อของหรูหราของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ความรู้สึกสิ้นหวังเสมอไป แต่เป็นการมองหาหนทางในการใช้ชีวิตแบบใหม่ เพราะเป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป "การเป็นเจ้าของบ้านหรือมีครอบครัว ไกลเกินเอื้อม พวกเราเลยใช้เงินดาวน์บ้านหรือเงินเก็บไว้มีลูก ซื้อของที่ซื้อได้ เพื่อให้ชีวิตใกล้เคียงกับความฝันที่เคยวาดไว้”
สรุปแล้ว การ Doom spending อยู่ที่มุมมองและความพร้อม ถ้าทำแล้วเดือดร้อนละก็ ‘ความฝัน’ แบบนี้อาจจะไม่ควรได้ไปต่อและต้องหันกลับมาบริหารจัดการทางการเงินกันใหม่อย่างจริงจัง แต่ถ้าตราบใดที่ช้อปแล้วไม่เดือดร้อนทั้งตัวเองและคนรอบข้างก็ทำได้ เพราะ ‘ของมันต้องมี’ ใช่ม้าา?
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ ใช้เงินเพื่อความฝันที่เคยวาดไว้แบบไหนกัน?
อ้างอิง : bloomberg