ช่วงต้นปีก็เปรียบเสมือนการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ บางคนก็โยกย้าย บางคนเริ่มธุรกิจตัวเอง บางคนก็ลาออกไปค้นหาตัวเอง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก สิ่งสำคัญคือ ‘Saving to quit’ หรือการเตรียมความพร้อมด้านการเงินให้ดีก่อนลาออกนั่นเอง
แล้วก่อนลาออกต้องมีเก็บเงินเท่าไหร่ดี?
คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน ระยะเวลาที่คาดว่าจะหางานใหม่ได้ ความมั่นคงของรายได้ในอนาคต และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างที่ไม่มีรายได้ เช่น การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำว่า มนุษย์เงินเดือนควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น หากค่าใช้จ่ายประจำของคุณอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 120,000-240,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินสำรองในช่วงที่หางานใหม่หรือระหว่างที่ไม่มีรายได้ หรือหากมีภาระหนี้สิน เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถ เป็นต้น ก็ควรมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 12 เดือนของค่าผ่อนชำระหนี้สิน
ส่วนคนที่วางแผนจะลาออกเพื่อไปใช้ชีวิตอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัว อาจจำเป็นต้องมีเงินเก็บมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
8 ทริค ‘Saving to quit’ ลาออกได้ ไม่ลำบาก
Amanda Holden นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการลงทุนและการเงินส่วนบุคคล ได้ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อออกไปเดินทางค้นหาตัวตนและโอกาสใหม่ ๆ โดยเธอได้วางแผนเก็บเงิน $30,000 ภายใน 8 เดือน เพื่อลาออกจากงานไปทำตามฝัน และนี่คือ 8 ทริค ‘Saving to quit’
1. กำหนดเป้าหมาย: เงินสำรองกี่เดือนพอ?
เริ่มต้นจากการวางแผนการเงิน คำนวณค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน และกำหนดเป้าหมายในการออมเงิน เช่น เก็บเงินให้ได้ 6 เดือนของค่าใช้จ่ายประจำ (เช่น ค่าเช่าบ้าน อาหาร ค่าเดินทาง) ภายใน 1 ปี ถ้าไม่มีประกันสุขภาพ ต้องเผื่อค่ารักษาพยาบาลด้วย โดยเพื่อน ๆ ปรับเป้าหมายตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการได้
2. จัดการหนี้ดอกเบี้ยสูง: ลดภาระก่อนลุย!
ก่อนลาออกควรปิดบัตรเครดิตหรือลดวงเงิน และกำจัดหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อดอกเบี้ยแพงให้หมดก่อน เพราะการไม่มีหนี้ = มีเงินเก็บเพิ่ม!
3. ลดค่าใช้จ่าย: ตัดสิ่งไม่จำเป็นทิ้ง!
ตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายย้อนหลังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นบ้าง แล้วพยายามตัดรายจ่ายเหล่านั้นออกไป เช่น ค่าสังสรรค์ ค่าช็อปปิ้ง (ตัดบางอย่างก่อนก็ได้ ไม่ต้องเครียด) หรือค่าบริการรายเดือนที่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น Netflix, Spotify, Gym และอื่น ๆ
4. ตั้งโอนเงินอัตโนมัติ: วิธีนี้เห็นผลเร็ว กำลังใจมาเต็ม!
เปิดบัญชีเงินออมแยกต่างหาก พร้อมตั้งค่าโอนเงินอัตโนมัติทุกเดือนจากบัญชีหลักตามเป้าหมาย เพราะยิ่งเราเห็นเงินงอก ก็จะช่วยกระตุ้นให้อยากเก็บต่อ ทำให้ถึงเป้าได้ไวขึ้น
โดยตอนนี้ MAKE by KBank แอปฯ บริหารจัดการเงินจากกสิกรก็ได้มีฟีเจอร์ Schedule Transfer หรือ การตั้งโอนล่วงหน้า แบ่งเงินเข้า Cloud Pocket ที่แยกกระเป๋าเงินให้เป็นสัดส่วนได้แบบอัตโนมัติ พร้อมแสดงแถบความคืบหน้าในการเก็บเงินตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันคู่หูสำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเก็บเงินเป็นที่สุด
5. หาช่องทางเพิ่มรายได้: ยิ่งเยอะ ยิ่งเร็ว!
นอกจากการลดค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถหาช่องทางหารายได้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มเงินออมได้อีกด้วย เช่น การขอขึ้นเงินเดือน การขายเสื้อผ้าหรือของที่ไม่ใช้แล้ว ทำงานฟรีแลนซ์หรือรับงานพาร์ทไทม์
6. ลอง No-Spend Challenge: สร้างวินัยการใช้เงิน!
ทดลองงดใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยกำหนดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ฝึกการตัดสินใจในการซื้อของ เพื่อช่วยฝึกวินัยการใช้เงิน โดยกำหนดให้ตัวเองเลือกซื้อแต่สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ในช่วงเวลา 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน เป็นต้น
7. ใช้สิทธิประโยชน์จากสวัสดิการของบริษัทให้คุ้มค่า!
ก่อนลาออก ให้ใช้สิทธิ์นัดตรวจสุขภาพ ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนและสวัสดิการอื่น ๆ ให้เรียบร้อย
8. มี Mindset ที่ดี
การสร้างเงินออมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยวินัยและความอดทน แต่เมื่อไหร่ที่เพื่อน ๆ เห็นเงินออมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจะรู้สึกภูมิใจและมีความสุข และเมื่อมีเงินออมมากพอ เพื่อน ๆ ก็จะมีอิสระทางการเงินมากขึ้น เพราะฉะนั้นให้มองว่า “การเก็บเงินเป็นการแข่งขันกับตัวเอง” และเมื่อไหร่ที่ถึงเป้าอย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วยนะ
บทความนี้เน้นการเก็บเงินระยะสั้นสำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการลาออกและไม่มีงานรองรับ เพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องในอนาคต แต่สำหรับการสร้างแผนเกษียณระยะยาว เพื่อน ๆ ควรศึกษาเพิ่มเติมและปรับใช้อย่างเหมาะสม
อ้างอิง : careercontessa