มนุษย์เงินเดือน หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีสิทธิ์ ได้รับเงินชดเชยสองทาง หากลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เงินนี้มาจากนายจ้าง และประกันสังคม (Lay off)
มาพูดถึงเงินค่าชดเชยจากฝั่งของนายจ้างก่อนเพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Layoffs.fyi ซึ่งติดตามและรวบรวมข้อมูลการถูกเลิกจ้างทั่วโลกตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดมาจนถึงปัจจุบัน เผยว่าเดือนมกราคม 2024 นี้มีพนักงานที่ถูกปลดฟ้าผ่าไม่ต่ำกว่า 28,963 คน จากบริษัทและสตาร์ทอัพ 103 แห่ง โดยอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินได้รับกระทบมากที่สุด
แน่นอนว่าเราจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างก็ต่อเมื่อถูกเลิกจ้างหรือตกงานอย่างกระทัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่อยากเจอและไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้ามันต้องเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ ล่ะจะทำยังไงต่อ?
“ถูกเลิกจ้าง” มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างเท่าไหร่?
หากเราถูกให้ออกจากงานโดยไม่เต็มใจและไม่ได้เกิดจากการที่เรากระทำผิด เรามีสิทธิที่จะได้ค่าชดเชยจากนายจ้าง 100% ซึ่งค่าชดเชยที่ได้จะคำนวณจากอายุงานของลูกจ้าง สูงสุด 400 วัน ของค่าจ้าง
- อายุงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- อายุงาน 1 – 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- อายุงาน 3 – 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- อายุงานครบ 6 – 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- อายุงานครบ 10 – 20 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
- อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
“ว่างงาน ตกงาน ถูกเลิกจ้าง” ประกันสังคมช่วยเหลืออะไรได้บ้าง?
สิทธิที่เราจะได้รับประโยชน์ทดแทนหรือเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน แบ่งออกเป็น 3 กรณี
1.กรณีถูกเลิกจ้าง
กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีนาน 180 วัน ได้รับ50% ของค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุด15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 10,000 บาท ได้รับ 5,000 บาท ต่อเดือน
2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีนาน 90 วัน ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย สูงสุด15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างเฉลี่ย10,000 บาท ได้รับ3,000 บาท ต่อเดือน
3.ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือ สิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน
มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
ใครมีสิทธิรับประโยชน์เงินทดแทนระหว่างว่างงาน?
- จ่ายเงินสมทบ6 เดือน ภายใน15 เดือน ก่อนว่างงาน
- ว่างงาน8 วัน ขึ้นไป
- ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ภายใน30 วัน ผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th
- รายงานตัว ตามนัดของสำนักงานจัดหางาน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- พร้อมทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
- ไม่ปฏิเสธการฝึกอบรม
- ไม่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลร้ายแรง
ตัวอย่างเหตุผลร้ายแรง
- ทุจริตต่อหน้าที่
- จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย
- ฝ่าฝืนกฎระเบียบของที่ทำงาน
- ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกัน 7 วัน
- ประมาทเลินเล่อจนนายจ้างเสียหาย
เตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
- ใบสมัครรับเงินชดเชย (สปส. 2-01/7)
- หนังสือรับรองการออกจากงาน (สปส. 6-09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
- หนังสือให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองว่างงาน (กรณีสุดวิสัย)
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร
ยื่นที่ไหน?
- ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ : https://e-service.doe.go.th ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และรายงานตัวตามกำหนดนัด
- ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1506 ในวันและเวลาราชการ (เวลา 08.30-16.30 น.)
Tips เพิ่มเติม
- รีบ ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วัน
- อย่าลืม รายงานตัวตามนัด
- เตรียมเอกสาร ให้ครบ
ConNEXT หวังว่าข้อมูลนี้ จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือน ทุกคนเข้าใจและรักษาสิทธิของตัวเองมากขึ้นนะ
อ้างอิง techsauce