พอเริ่มเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัวก็มีหลายเรื่องมากที่เป็นเรื่องใหม่ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ “ประกันสังคม” แล้วเพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหม? ทำไมเราถึงต้องถูกหักค่าประกันสังคมทุกเดือน แล้วเงิน 750 บาทที่หักจากเงินเดือนไปทุกเดือน ๆ นั่นถูกหักไปรวมอยู่ที่ไหนและหักไปแล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง? วันนี้ ConNEXT จะพาไปดูกัน!
ทำไมเราต้องจ่ายเงินประกันสังคม
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ การทำ “ประกันประสังคม” ก็เหมือนการทำประกันปกติ แต่ที่พิเศษคือ เราทำประกันนี้กับรัฐบาล โดยการส่ง “เงินสมทบ” ซึ่งประกอบด้วยแหล่งที่มา 3 ส่วน
- ส่วนแรกคือ การหักเบี้ยประกันในเงินเดือนเราทุก ๆ เดือนที่ 5% จากฐานเงินเดือน ตำ่สุดเดือนละ 83 บาท (ฐานเงินเดือน 1,650 บาท) และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาท (ฐานเงินเดือน 15,000 บาท)
- ส่วนที่ 2 นายจ้างส่งเบี้ยประกันทบอีก 5% เข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ตามข้อกำหนดของประกันสังคม
- ส่วนที่ 3 รัฐบาลออกเงินสมทบ 2.75% เข้ากองทุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุม ทั้งยามว่างงาน, เจ็บ-ป่วย, คลอดลูก, พิการ, เสียชีวิต รวมถึงรับเงินบำเหน็จและบำนาญตอนเกษียณ แถมยังสามารถลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
มนุษย์เงินเดือนไม่ส่งเงินประกันสังคมได้ไหม
หากเพื่อน ๆ เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานที่ได้รับค่าจ้างทุก ๆ เดือน จำเป็นต้องส่งเงินสมทบค่าประกันสังคม เพราะกฎหมายมีข้อบังคับให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างให้เป็นผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม ภายใน 30 วัน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เงินประกันสังคม จ่ายแล้วไปที่…
มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม. 33 ในแต่ละเดือนจะถูกหัก 5% สูงสุด 750 บาทโดยคิดจากฐานเงินเดือน เพื่อนำเอาไปเป็นความคุ้มครองต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
โดย 2 ก้อนแรกจะถูกจัดไปอยู่ในเงินส่วนกลางหรือถ้าอธิบายง่าย ๆ คือถ้าไม่ใช้สิทธิ์ก็จะไม่ได้เงินในส่วนนี้คืน หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเป็นการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข"
ก้อนแรก 225 บาท (1.5%) - สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ ในกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตรและเสียชีวิต
ก้อนที่สอง 75 บาท (0.5%) - สำหรับสำรองไว้กรณีท่ีว่างงานหรือถูกเลิกจ้าง ก็จะได้รับเงินชดเชยส่วนนี้มาใช้ในระหว่างที่หางานใหม่
และในส่วนสุดท้ายเป็นเงินสำหรับส่วนบุคคลที่เราจะได้ใช้ในยามเกษียณ
ก้อนที่สาม 450 บาท (3%) - สำหรับการออมเพื่อการเกษียณ ที่จะถูกนำไปสะสมเพื่อรอจ่ายเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเราอายุครบ 55 ปีขึ้นไป ถ้าจ่ายครบ 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องส่งต่อเนื่องกัน) จะได้รับเงินบำนาญ ส่วนถ้าส่งไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นบำเหน็จ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้เองว่าจะรับแบบไหน ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการส่งเงินสมทบของเรา
ConNEXT ได้รวบรวมข้อสงสัยที่มนุษย์เงินเดือนมือใหม่ที่มีต่อประกันสังคมมาไว้ให้ในบทความนี้แล้ว เราหวังว่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถวางแผนชีวิตด้วยสิทธิ์ที่เรามี ที่ครอบคลุมทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากคิดว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ก็แบ่งปันความคิดเห็นหรือกดแชร์ไปให้เพื่อน ๆ ได้นะ
อ้างอิง : sso.go.th