เมื่อนึกถึงอาชีพในโรงพยาบาลหลายคนอาจนึกถึงหมอหรือพยาบาล แต่จริงๆ แล้วงานด้านการดูแลสุขภาพส่วนใหญ่ที่อยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังมีด้านที่ไม่ใช่ด้านคลินิก (Non-clinical) ซึ่งงานเหล่านี้ต้องมีความรู้ทั้งด้านการแพทย์และความเข้าใจในธุรกิจอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจงานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไรกันแน่ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ 10 อาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่หมอหรือพยาบาล เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ
1. นักถอดความทางการแพทย์
นักถอดความทางการแพทย์มีหน้าที่ฟังการบันทึกของแพทย์ และถอดเป็นรายงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงในฐานข้อมูลของสถานพยาบาลนั้นๆ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา งานนี้จึงเหมาะกับคนที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ด้านคำศัพท์ทางการแพทย์และต้องเก่งภาษาอังกฤษด้วย
การจดบันทึกอย่างถูกต้องจะทำให้แพทย์จำวิธีการรักษาในอดีตได้ และรู้ว่าผลลัพธ์การรักษาจากวิธีนั้นๆ เป็นอย่างไร อาชีพนักถอดความทางการแพทย์จึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่สำคัญในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ
2. ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานโดยตรงกับผู้ป่วย ที่ปรึกษาทางกฎหมายจึงมีหน้าที่เข้ามาช่วยในเรื่องคดีหรือข้อเรียกร้องทางกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีที่มีบางอย่างผิดพลาดหรือถูกฟ้องร้องในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่
3. พยาบาลสารสนเทศ
พยาบาลสารสนเทศมีความเกี่ยวข้องการเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก โดยมีหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลทางการพยาบาลบนระบบไอทีในสถานพยาบาล นอกจากนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่บุคลากรอื่นๆ เรื่องการใช้เทคโนโลยี
4. เลขานุการทางการแพทย์
เลขานุการทางการแพทย์มีหน้าที่ช่วยจัดโครงสร้างการทำงานที่วุ่นวายในสถานพยาบาลให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำคือ การดูแลงานธุรการต่างๆ ซึ่งอาจรวมไปถึงการติดต่อผู้ป่วย การรักษาไฟล์ข้อมูล การเรียกเก็บเงินผู้ป่วย และการจัดการเอกสารเรื่องประกัน
5. เจ้าหน้าที่เวชระเบียน
เจ้าหน้าที่เวชระเบียนมีหน้าที่จัดระเบียบ ประมวลผล และเก็บรักษาบันทึกของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเป็นระบบเพื่อให้ค้นหาได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัย เช่น ภาพเอ็กซเรย์ รายงานการตรวจ การวินิจฉัย และแผนการรักษา
6. นักให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
นักให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จะต้องทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความพิการที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น พิการแต่กำเนิด โรคภัยไข้เจ็บ ประสบอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีปัญหาในการรับมือกับความเครียดในแต่ละวัน
อาชีพนี้มีหน้าที่หลักๆ คือเป็นที่ปรึกษาด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งรวมถึงการประเมินความต้องการด้านจิตใจ/ความต้องการด้านการแพทย์/ความต้องการด้านอาชีพ การพัฒนาแผนการรักษา การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพคนอื่นๆ การให้คำปรึกษาผู้ป่วย และการวางแผนอาชีพ หรือพูดง่ายๆ เป้าหมายหลักของอาชีพคือการช่วยให้ผู้พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
7. ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต
ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสามารถทำงานได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและคลินิกเอกชน หรือบางครั้งก็สามารถไปให้คำปรึกษาตามบ้านได้ โดยมีหน้าที่หลักคือให้คำปรึกษาด้านการป้องกันให้กับผู้ป่วยที่กำลังต่อสู้กับความชอกช้ำทางจิตใจ อาการเสพติด และอาการที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ติดยาให้เอาชนะอาการเสพติด การช่วยเหลือให้คนเลิกทำร้ายตัวเอง และการช่วยคู่สมรสไม่ให้หย่าร้าง
8. นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์
นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเคส นักบำบัด และต้องทำงานกับผู้ป่วยเพื่อให้คำแนะนำตลอดการดูแลรักษา โดยจะต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อีกทั้งยังต้องพูดคุยกับครอบครัวเพื่อให้คำปรึกษา และช่วยเหลือทางจิตใจเพื่อให้ผ่านภาวะวิกฤตไปได้
9. ผู้จัดเตรียมอุปกรณ์การแพทย์
เทคโนโลยีมีการพัฒนาเกิดขึ้นอยู่ตลอด ซึ่งในโรงพยาบาลก็ไม่ต่างกัน เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้ปฏิบัติการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงต้องมีผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์มาคอยทดสอบ ซ่อมแซม และปรับแต่งเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงคอยช่วยเหลือเรื่องการใช้เครื่องสแกน MRIs และ CT
10. ผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพ
เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน ทำให้อาชีพผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยอาชีพนี้เรียกได้ว่าเป็นทั้งครูและแพทย์ในตัว เพราะมีหน้าที่ให้ความรู้ผู้ป่วยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน พร้อมส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับบุคคลต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพยังสามารถทำงานได้ในหลายๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลในองค์กร คลินิก หรือโรงพยาบาล
อ้างอิง hospitalcareers