โอกาสรอด! 7 ทักษะแห่งอนาคตของคนรุ่นใหม่ ในยุคที่องค์กรกำลังทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
โอกาสรอด! 7 ทักษะแห่งอนาคตของคนรุ่นใหม่ ในยุคที่องค์กรกำลังทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล
By Chanapa Siricheevakesorn พฤศจิกายน 29, 2023
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลประจำปี ซึ่งเป็นผลสำรวจของการเปลี่ยนแปลงในการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร ซึ่งการศึกษานี้ดำเนินการติดต่อกันเป็นปีที่ 4 และได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการเข้าถึงเทรนด์การปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อการเตรียมตัว เตรียมทักษะของเราให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งวันนี้ ConNEXT จะพาไปดูกัน!

โอกาสรอด! 7 ทักษะแห่งอนาคตของคนรุ่นใหม่ ในยุคที่องค์กรกำลังทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล

องค์กรส่วนใหญ่ทุกอุตสาหกรรมกำลังปรับตัวเป็นดิจิทัล

จากผลการสำรวจของ ดีลอยท์ ประเทศไทย มีประเด็นหลัก 3 ประเด็น ได้แก่

1. การสำรวจยุคของดิจิทัล ดิสรัปชั่น: ในช่วงปี 2564-2566 ธุรกิจต่าง ๆ ต้องต่อสู้กับผลกระทบของ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทกว้าง ๆ ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ 

  • ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำงาน มองว่าได้รับผลกระทบจาก ดิจิทัล ดิสรัปชัน น้อยกว่า เนื่องจากการดําเนินงานของธุรกิจเหล่านี้จําเป็นต้องติดตามและปรับตัวต่อการเปลี่ยนของนวัตกรรมดิจิทัลเป็นปกติอยู่แล้ว
  • ธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก: ธุรกิจเหล่านี้มักจะนําเทคโนโลยีมาใช้อย่างจํากัด โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลการปรับปรุงกลไกภายในองค์กรเพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจได้

2. ปลดล็อกความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล: ในปีที่ผ่านมา หลายองค์กรได้มีการเรียนรู้บทเรียนจากการเร่งปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในช่วงแรก ๆ ของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้องค์กรกว่า 43% ยังดำเนินการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในขั้นตอน "Doing Digital" โดยทำการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์และคัดเลือกเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้การปรับตัวสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

3. ภาพรวมอุตสาหกรรม: ธุรกิจในภาคเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (TMT) รวมถึงอุตสาหกรรมผู้บริโภค มีความโดดเด่นในการปรับตัวสู่ดิจิทัล ส่งผลให้ระหว่างปี 2565 และ 2566 องค์กรมีความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้าน Data Analysis หรือเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล

ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น องค์กรมักจะใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่มีงบประมาณและความซับซ้อนในการบริหารจัดการภายในองค์กรสูงกว่าองค์กรขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ มีการนำเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% ระบุว่าความสามารถของบุคลากรเป็นความท้าทายหลัก 57% เผชิญประเด็นด้านงบประมาณและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ และ 47% วัฒนธรรมองค์กรแบบดิจิทัลที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ 

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะนำโซลูชั่นมาใช้ในอนาคต เช่น การเปิดใช้ระบบไอทีผ่านแพลตฟอร์มในคลาวด์ ที่ให้บริการโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นความท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอีกด้วย

โกบินทร์ รัตติวรากร ผู้อำนวยการบริหาร ดีลอย์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีความก้าวหน้าในดำเนินการปรับตัวสู่ดิจิทัล สามารถจัดการกับความท้าทายในด้านทรัพยากรได้ดีขึ้น พวกเขาจึงมุ่งให้ความสนใจกับการจัดการความท้าทายเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล”

คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อะไรให้ได้เปรียบในยุคดิจิทัล

จากผลสำรวจของ ดีลอยท์ การปรับองค์กรสู่ดิจิทัล นับเป็นกระบวนการที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทักษะด้านดิจิทัลกำลังมีความสำคัญมากขึ้น อีกรายงานจาก World Economic Forum พบว่าภายในปี 2025 ตำแหน่งงานมากถึง 85 ล้านตำแหน่งอาจถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตาม รายงานยังพบว่าจะมีการสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 97 ล้านตำแหน่ง ซึ่งหลายตำแหน่งเหล่านี้ต้องใช้ทักษะแบบดิจิทัลแบบใหม่และขั้นสูง ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่คนรุ่นใหม่อย่างเราจะพัฒนาทักษะเพื่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

แล้วทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของการทำงานคืออะไร? นี่คือทักษะสำคัญ 7 ทักษะที่องค์กรกำลังมองหา:

  1. Data Analysis: เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาข้อสรุปของข้อมูลนั้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจและส่งเสริมธุรกิจ กลายเป็นที่นิยมและหลายองค์กรกำลังลงทุนเพิ่มในส่วนนี้ ทำให้ทักษะนี้กำลังกลายเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม
  2. Artificial intelligence (AI): กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การดูแลสุขภาพไปจนถึงการผลิต ทักษะด้าน AI จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
  3. Machine learning: ส่วนย่อยลงมาของ AI ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้โดยไม่ต้องตั้งโปรแกรมไว้อย่างชัดเจน ทักษะนี้จะกลายเป็นที่ต้องการของธุรกิจที่เน้นการทำงานอัตโนมัติ ไปจนถึงการพัฒนาให้สามารถตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ และคิดวิเคราะห์ได้ซับซ้อนมากขึ้น
  4. Blockchain: เทคโนโลยีบัญชีแยกประเภทแบบกระจายที่สามารถใช้เพื่อบันทึกธุรกรรมได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะนี้ก็จะช่วยให้เราเหมาะกับการทำงานในธุรกิจที่ต้องสร้างระบบที่ปลอดภัยและโปร่งใส
  5. Virtual reality (VR) and augmented reality (AR): เทคโนโลยีเสมือนจริงที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทักษะ VR และ AR จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างประสบการณ์เชิงโต้ตอบ
  6. Cybersecurity: การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นทักษะที่สำคัญในยุคดิจิทัล ทักษะนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการปกป้องข้อมูลและระบบจากการถูกโจมตี
  7. Cloud computing: การประมวลผลแบบคลาวด์คือการประมวลผล รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ พื้นที่เก็บข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย ซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ และระบบอัจฉริยะ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทักษะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากขึ้น

ในขณะที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทักษะที่เกิดขึ้นใหม่จะมีความสำคัญมากขึ้น การไม่หยุดพัฒนาตัวเองจะทำให้เพื่อน ๆ สามารถเติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างดีและได้เปรียบกว่าแน่นอน


อ้างอิง : deloitte, linkedin

 

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/7-skills-for-the-next-generation-in-an-age-when-businesses-are-going-digital