เป็น Job hopper ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เป็น Job hopper ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
By Chanapa Siricheevakesorn สิงหาคม 9, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาบรรทัดฐานที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการจ้างงานใหม่แล้วหรือยัง? 

อุดมการณ์ของคนทำงานรุ่นใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากรุ่นก่อนๆ เช่น ความปรารถนาที่จะได้รับการชื่นชมในการทำประโยชน์ให้กับบริษัท การพัฒนาทักษะ และการพัฒนาความสามารถให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือวิธีการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ที่คนรุ่นใหม่อาจต่างจากรุ่นก่อนๆ เพราะเราเต็มใจที่จะกระโดดจากนายจ้างคนหนึ่งไปสู่นายจ้างอีกคนเพื่อพัฒนาอาชีพของตนได้ในเวลาอันสั้นหรือที่เรียกว่า “Job-hopping” นั่นเอง 

วันนี้ ConNEXT จะพูดถึงการ Job-hopping ว่าคืออะไร? มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร พร้อมทั้ง How To พรีเซนต์ตัวเองในฐานะ Job hopper อย่างไรให้ได้งาน! เพื่อให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน

Job hopper

Job-hopping คืออะไร?

โดยทั่วไปหมายถึงการทำงานที่ใดที่หนึ่งหนึ่งน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งในอดีตการ Job-hopping หรือการเปลี่ยนงานบ่อยครั้งในระยะเวลาอันสั้น อาจดูเหมือนว่าเราขาดความมุ่งมั่น แต่ในปัจจุบันเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน การทำงานก็ย่อมเปลี่ยนตาม หลายองค์กรได้เปลี่ยนจากการทำงานในบริษัทไปเป็นการทำงานทางไกล (Remote)  มีการเลิกจ้างพนักงาน หรือดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

มีสาเหตุหลายประการที่ให้เราเปลี่ยนงาน เช่น ความไม่พอใจในงาน ติดหล่มความคิด พบสภาวะวัฒนธรรมการทำงานที่ Toxic เต็มไปด้วยพลังเชิงลบ ปัญหาสุขภาพ หรือความปรารถนาที่จะเปลี่ยนอาชีพ สำหรับบางคน การหางานใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่อยากทำแต่จำเป็น เพราะตำแหน่งของเขาอาจถูกกำจัดหรือเปลี่ยนหน้าที่ 

อย่างไรก็ตาม มีคนบางส่วนตั้งใจใช้ Job-hopping เพื่อค้นหางานในฝันและคว้าโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากตลาดแรงงานปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง เช่น การเพิ่มขึ้นของงานทางไกล (Remote) และความต้องการพนักงานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ไลน์ใหม่ๆ

ข้อดีของการเป็น Job hopper

  1. ได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น

สาเหตุหลักประการหนึ่งที่พนักงานอาจเลือกงานใหม่คือ 

  • โอกาสที่เงินเดือนจะสูงขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่าในทันที 

  • การเปลี่ยนตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นซึ่งมักจะมาพร้อมกับการเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นด้วย 

พนักงานหลายคนจึงชอบเปลี่ยนงานมากกว่ารอการขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสจากนายจ้าง เพราะสิ่งที่องค์กรเดิมส่วนใหญ่จะเสนอให้เราได้มากที่สุดแค่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น 

  1. ความก้าวหน้าในอาชีพ

การเปลี่ยนงานทำให้พนักงานมีโอกาสได้งานระดับสูงในบริษัทอื่น นอกจากนี้ยังให้โอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ได้รับประสบการณ์จริง หรือได้รับหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น

  1. เปลี่ยนสถานที่

ข้อดีอีกประการของการหางานคือการย้ายไปยังเมือง รัฐ หรือประเทศใหม่ การหางานใหม่มักจะรวมถึงการย้ายไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย หากชอบที่จะค้นพบสถานที่และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ การหางานในตำแหน่งใหม่อาจเป็นตัวเลือกทางอาชีพที่น่าสนใจ 

  1. การปรับตัว

เราจะได้สร้างความสัมพันธ์กับทีมใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงงาน ได้เรียนรู้วิธีใหม่ในการทำสิ่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราพัฒนาทักษะการสื่อสารและความสามารถในการปรับตัว ถือว่าเป็น Soft Skill ที่มีคุณค่า เมื่อเราปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ได้

  1. สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

Job hopper จะมีโอกาสได้ลองสัมผัสวัฒนธรรมของบริษัทที่หลากหลาย และนี่อาจเป็นปัจจัยที่สามารถช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างมีประสบการณ์ว่าสภาพแวดล้อมของบริษัทประเภทใดที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเราเอง

ข้อเสียของการเป็น Job hopper

  1. หางานยาก

เหล่า Recruiters มักจะดูประวัติการทำงานของผู้สมัครและตัดสินโดยพิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้สมัครทำงานก่อนหน้านี้ 

เรื่องนี้สำคัญเพราะผู้จัดการการจ้างงานอาจไม่ถามว่าทำไมเราถึงเลือกออกจากงานล่าสุด แต่พวกเขาอาจเชื่อว่าเราไม่มีความอดทนในการทำงานที่เดิมนานๆ และอาจปฏิเสธที่จะสัมภาษณ์เรา

  1. ประสบการณ์ที่ไม่สอดคล้องกัน

ข้อเสียอีกประการของการหางานคือทำให้ประวัติการทำงานของเราดูไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากเราอาจลาออกจากที่ต่างๆ ด้วยตำแหน่งงานที่แตกต่างกันภายในช่วงเวลาสั้นๆ 

Recruiter อาจจะมองว่าเราอาจไม่มีเวลาที่มากพอในการเรียนรู้ทักษะ ประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญมากพอในตำแหน่งเหล่านั้น

  1. ความไม่พอใจในงาน

ข้อเสียเปรียบอีกประการหนึ่งของ Job hopper คือหากเกิดความไม่พอใจในงาน เราอาจจะเปลี่ยนงานทุกครั้งที่พบปัญหาจนบางครั้งไม่ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความท้าทายอย่างมืออาชีพ 

การเรียนรู้ที่จะอดทนและพอใจกับตำแหน่งปัจจุบันอาจช่วยให้เราเติบโตอย่างมืออาชีพและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลาสองปีหรือมากกว่าในการปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งใหม่ ดังนั้นการให้เวลาตัวเองเพื่อปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

  1. เสียผลประโยชน์

การ Job-hopping อาจทำให้เราเสียผลประโยชน์ เช่น เสียเวลาพักร้อน เสียรายได้จากการหยุดงาน และอาจสูญเสียรายได้หลังเกษียณ หรือเงินสมทบที่นายจ้างมอบให้ 

  1. ความเครียดและความไม่แน่นอน

การหางานอาจนำไปสู่ความเครียดและความไม่แน่นอนในชีวิตของเราโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนงานมักเกี่ยวข้องกับการเจรจาสัญญาใหม่ การพบปะผู้คนใหม่ๆ และการปรับตารางเวลาใหม่ 

ในบางกรณี นั่นหมายถึงการย้ายที่อยู่หรือการขับรถเส้นทางใหม่ ซึ่งการเริ่มต้นในสภาพแวดล้อมใหม่หลายๆ ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ อาจทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้าได้

How To พรีเซนต์ตัวเองในฐานะ Job hopper อย่างไรให้ได้งาน!

เมื่อ Recruiter ดูประวัติการทำงานของเรา พวกเขามักจะถามว่าทำไมเราถึงเปลี่ยนงานบ่อยๆ การแสดงประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากตำแหน่งงานในอดีตเป็นสิ่งสำคัญ หากเราสามารถอธิบายงานของเราได้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถใช้ประวัติงานที่ผ่านมาเพื่อหางานที่ต้องการได้

และนี่คือเคล็ดลับในการพรีเซนต์ประวัติงานในเชิงบวก

  • ปรับแต่ง Cover Letter: ระบุประวัติการทำงานใน Cover Letter ที่แนบกับเรซูเม่ โดยระบุว่าเหตุใดเราถึงออกจากที่ทำงานเดิมและอธิบายสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวก เช่น เรามีความพยายามที่จะเติบโตในอาชีพการงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น แสวงหาความท้าท้ายในงานที่ต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

  • ปรับโครงสร้างเรซูเม่: เรซูเม่จำนวนมากแสดงรายการงานตามลำดับเวลา แต่นี่อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดหากเราเปลี่ยนงานบ่อยๆ เรซูเม่ควรเน้นคุณสมบัติเฉพาะที่เน้นทักษะและความสำเร็จมากกว่าประสบการณ์การทำงาน เราอาจระบุวิธีที่พัฒนาทักษะในตำแหน่งต่างๆ หรือสรุปประสบการณ์การทำงานในรูปแบบ Paragraph หรือรายการแบบ Bulleted list

  • เตรียมคำตอบสัมภาษณ์: พรีเซนต์ในทางบวกในระหว่างการสัมภาษณ์ ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนงานของเรา เช่น ความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และวิธีที่เราจะนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้กับบทบาทที่กำลังมองหาอยู่

  • บอกตามตรง: นำเสนอประวัติของเราอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราทุ่มเทเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน นอกจากนี้ การพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนงานของเราตรงๆ กับ Recruiter จะทำให้รู้ว่า Recruiter กำลังกังวลกับเราในเรื่องใดบ้างและจะทำให้เราสามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง

โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ผู้สมัครหลายคนอาจมีแนวโน้มที่จะตกงานได้ในอนาคต เราต้องปรับตัวและก้าวไปพร้อมกับตลาดแรงงาน ทั้งนี้ Job hopper ควรต้องพิจารณาว่าความต้องการขององค์กรสอดคล้องกับค่านิยม ความสนใจ ทักษะ และความสามารถของเราอย่างไร เพราะเราทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ในการแสวงหาแนวทางที่ดียิ่งขึ้น 

Recruiter ควรเปิดใจให้กว้างมากขึ้นกับแนวคิดที่ว่า “ทุกคนไม่ได้ต้องการสิ่งเดียวกัน พนักงานหรือผู้สมัครงานทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน หรือไล่ตามเป้าหมายในแบบเดียวกัน”

ในทางเดียวกัน องค์กรก็ควรวางแผนกลยุทธ์วัฒนธรรมของบริษัทในการรักษาพนักงานที่ดี รักษาความสมดุลระหว่างชีวิต การทำงาน และผลประโยชน์ของพนักงาน เพราะข้อพิจารณาเหล่านี้อาจช่วยให้พนักงานเห็นคุณค่าของการเป็นลูกจ้างประจำ และผลักดันความสามารถของพวกเขาเองเพื่อนำพาองค์กรให้เติบโตไปด้วยกันได้

อ้างอิง Indeed, insperity, forbes 

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/being-a-job-hopper-is-not-wrong