เจาะลึกการทำงาน Business Development ของบริษัทเทคในประเทศสิงคโปร์ การใช้ชีวิตต่างแดน และโอกาสในการเติบโต | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เจาะลึกการทำงาน Business Development ของบริษัทเทคในประเทศสิงคโปร์ การใช้ชีวิตต่างแดน และโอกาสในการเติบโต
By Siramol Jiraporn มีนาคม 29, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เมื่อพูดถึงการไปทำงานต่างประเทศ หลายคนอาจจะนึกถึงประเทศทางแถบยุโรปหรือสหรัฐฯ แต่หากมองดูในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะพบกับอีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย นั่นคือ ประเทศสิงคโปร์

บทความนี้ ConNEXT จะพาไปเจาะลึกอาชีพ Business Development ของบริษัทเทคโนโลยีในประเทศสิงคโปร์กับ คุณณัฐทยา คูสุวรรณ หรือคุณเอม การใช้ชีวิตที่สิงคโปร์จะแตกต่างจากไทยหรือไม่ หากอยากไปทำงานที่สิงคโปร์ต้องทำอย่างไร ตามไปอ่านกันได้เลย

Business Development สิงคโปร์

จุดประกายความฝัน ‘การทำงานต่างประเทศ’

ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงประมาณปี 3 ช่วงนั้นเริ่มสนใจโลกการทำงาน มีความอยากรู้ว่าตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทมีหน้าที่ทำอะไรกันบ้าง เลยเริ่มศึกษาและสมัครงาน Graphic Designer ไป เรียกได้ว่าเป็นงานแรกเลย เหตุผลที่ตัดสินใจทำงานนี้เป็นเพราะมีงานอดิเรกชอบใช้ Adobe ปรากฏว่าทางบริษัทเรียกสัมภาษณ์และได้งานก็เลยตัดสินใจลองทำดู

หลังจากนั้นพอได้ทำงานบริษัทไทยแล้ว ก็เริ่มอยากรู้ว่าบริษัทต่างประเทศมีการทำงานกันอย่างไร จึงลองกูเกิลงานพาร์ทไทม์นอกประเทศไทย และตัดสินใจสมัครงานที่ต้องการคนที่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทำให้ได้งานเป็น Research Analyst ของบริษัท Market Research แห่งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ พอทำไปสักพักก็รู้สึกชอบการทำงานที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพของคนสิงคโปร์ จึงเป็นตัวจุดประกายให้กับตัวเองว่าพอเรียนจบแล้วอยากไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าประเทศอะไร

ตอนช่วงปี 3-4 จึงตัดสินใจไปฝึกงานที่ประเทศจีน ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งที่มี Asia Pacific Headquarter อยู่ ณ ประเทศจีน จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากเอาจริงเอาจังในการทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในต่างประเทศ และเริ่มหาว่าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศไหนบ้างที่มีบริษัทสำนักงานใหญ่เยอะๆ ก็เจอกับประเทศสิงคโปร์ พอเรียนจบจึงตัดสินใจลองสมัครงานของประเทศสิงคโปร์ดู ซึ่งตอนนั้นมีธงในใจแล้วว่าอยากทำงานในบริษัทเทคโนโลยี และอยากทำงานด้านการขาย

เรียนจบนิเทศ แต่สนใจการทำงานในวงการเทค

เท่าที่จำได้ตอนนั้นไม่ค่อยเห็นเพื่อนในคณะที่หันไปทำงานในวงการเทคเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวแล้วเรามีความชอบและความหลงใหลในเทคโนโลยีมาตั้งแต่วัยประถม ซึ่งเกิดขึ้นตอนประมาณป.3 ที่พ่อแม่ส่งไปเรียนคอร์สคอมพิวเตอร์ โดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่พื้นฐานอย่าง Microsoft Word ไปจนถึง Visual Studio  ซึ่งเป็นการเขียน Coding ง่ายๆ 

เราใช้เวลาไปกับการเรียนตรงนี้ประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ช่วง ป.3 - ป.6 ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่รู้สึกว่าสนุก จึงทำให้เกิดความสนใจในโลกเทคโนโลยีขึ้นมา โดยปัจจุบันเราทำงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Private cloud ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศสิงคโปร์ ในตำแหน่ง Partner Sales แต่ก่อนหน้านี้ทำงานสาย Business Development มาตลอด

ความแตกต่างระหว่าง Partner sales กับ Business Development

ไม่ว่าเราจะไปดูตำแหน่งงานในบริษัทเทคที่ไหนก็ตามแต่ เราจะเห็นชื่องานสองตำแหน่งนี้เสมอ ซึ่ง Job title อาจจะแตกต่างกันไป เช่น

  • Partner sales - Partner manager, Partner director
  • Business Development - Sales development, Account development

ในแต่ละบริษัทก็จะใช้ชื่อตำแหน่งที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายเนื้องานก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ถ้าให้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Partner sales กับ Business Development ก็สามารถอธิบายได้ง่ายๆ

Business Development เหมือนเราเป็นคนปลูกส้มและวางขายที่ร้านของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือเป็น Direct sales หรือการขายตรง ในขณะที่ Partner sales เป็นการปลูกส้มเอง แต่ไปหาร้านขายผลไม้และขอให้เขาวางขายส้มของเราด้วย ซึ่งจะทำให้ขยายผลิตภัณฑ์ที่ขายได้เร็วกว่า 

บทบาทของ Partner sales ก็จะเป็นการหาพาร์ทเนอร์เพื่อขยายการขายผลิตภัณฑ์ออกไปให้มากขึ้น และสร้าง Win-Win พาร์ทเนอร์ชิพกับบริษัทคู่ค้าในตลาดทั่วทั้งเอเชีย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดหรือกลุ่มลูกค้า ที่ทีมขายตรงไม่สามารถจะเข้าถึงได้

สมัครงานต่างประเทศอย่างไรให้ได้งานที่ใช่?

เรามีคติประจำใจอย่างหนึ่งว่า งานดีๆ ไม่ได้อยู่บนที่ประกาศงาน คิดเชิงคนขายของว่า จะทำอย่างไรให้คนที่มีความสนใจในสินค้าของเรา มาเข้าหาเราได้ ทฤษฎีนี้สามารถเอามาปรับใช้กับการหางานได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากได้งานดีๆ ก็ต้องหาทางที่ทำให้คนอื่นรู้ว่าเรามีทักษะโดดเด่นอะไรบ้าง เพื่อให้บริษัทเป็นคนมาเชิญชวนเราเข้าไปทำงานโดยไม่ต้องสมัครงาน ซึ่งงานที่เราทำใน 3 บริษัทเทคที่ผ่านมา เราไม่เคยต้องเป็นคนสมัครงานเองเลย

Business Development

แต่ถ้าให้พูดถึงการสมัครงานที่ LinkedIn ก็จะมีวิธีการสมัครงานพื้นฐานเหมือนบริษัทเทคอื่นๆ โดยจะมีการสัมภาษณ์ทั้งหมด 3-4 รอบ คือ รอบแรกจะเป็นการสัมภาษณ์กับ Hiring manager โดยตรง เพื่อประเมินว่าเราจะสามารถทำงานนี้ได้หรือไม่ และจะสามารถเข้ากับเพื่อนที่ทำงานได้ดีหรือเปล่า

แต่ Hiring manager ไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ รอบที่ 2-3 จึงเป็นรอบที่ให้เมเนเจอร์ของแต่ละฝ่ายมาสัมภาษณ์ด้วย ส่วนรอบที่ 4 จะเป็นรอบ Presentation ซึ่งหากใครสมัครเซลส์ก็จะต้องเจอกับรอบนี้ โดยเขาจะให้โจทย์เรามาก่อนว่าจะให้นำเสนอสินค้าอะไร แล้วให้เรานำเสนอสินค้านั้นๆ

วิธีการเตรียมตัวสัมภาษณ์ต้องเริ่มจากการค้นคว้าหาข้อมูล โดยการถามคำถามตัวเอง 3 ข้อดังนี้

  • บริษัทนี้ต้องการแก้ปัญหาอะไร แล้วหาว่าผลิตภัณฑ์ที่บริษัทนั้นทำขึ้นมามีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไรให้กับลูกค้า
  • บริษัทนี้มีวิธีทำเงินอย่างไร มีกลุ่มลูกค้าคือใครบ้าง
  • ตำแหน่งเซลส์ที่สมัครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง มีบทบาทอะไรในขั้นตอนการขาย แล้วเนื้องานตรงกับความชอบและไลฟ์สไตล์ของเราหรือไม่

วัฒนธรรมการทำงานบริษัทเทคสิงคโปร์

วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทเทคหลายที่จะเป็นการทำงานที่ไม่มี Silo หรือการทำงานกันแบบแยกส่วน ตัวใครตัวมัน พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทเทคที่สิงคโปร์อยากให้แต่ละคนในทีมมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยการสร้าง Diversity and Inclusion (D&I) เพราะในบริษัทจะมีคนมาจากหลายเชื้อชาติมาอยู่ด้วยกัน ทำให้มีความคิดที่ไม่เหมือนกัน เราก็จะต้องทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและให้เครดิตการทำงานกับคนที่เป็นเจ้าของไอเดีย

Business Development

มันเป็นธรรมชาติที่การทำงานกับคนในทีมที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ เราอาจจะต้องพบเจอกับปัญหาความขัดแย้งหรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในที่ทำงานบ้าง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราผ่านพ้นปัญหานั้นๆ มาได้คือการใช้เทคนิค Sandwich ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

  • ขนมปังชั้นแรก = เราพูดถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นก่อน (การพูดเชิง +)
  • ไส้ = ชั้นนี้จะเป็นช่วง Difficult conversation คือหลังจากที่บอกสิ่งดีๆ แล้ว ก็ตามมาด้วยการกล่าวถึงข้อตำหนิที่สามารถพัฒนาได้มากกว่านี้ (การพูดเชิง -)
  • ขนมปังชั้นสุดท้าย = ปิดท้ายด้วยการพูดเชิงบวก เเละเเสดงความชื่นชมต่อผู้รับฟังที่เปิดใจพูดคุยด้วย (การพูดเชิง +)

คนแบบไหนที่เหมาะกับการเป็น Business development

ในมุมมองของเราคิดว่าคนที่เหมาะกับการเป็น Business development จะต้องมีลักษณะเด่นสามอย่างคือ อย่างแรกต้องเป็นคนที่มีแรงจูงใจในตัวเอง (Self-motivated) เพราะคนที่มีแรงจูงใจมาจากภายใน น้อยครั้งที่คนเหล่านี้ต้องให้ปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เขาทำสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ให้สำเร็จ

ต่อมาจะต้องเป็นคนที่มีความดื้อรั้นในระดับหนึ่ง (Tenacity) เมื่อตั้งใจทำอะไรสักอย่างแล้วล้มเหลวหรือโดนปฏิเสธ ก็ยังมีความพยายามที่จะไขว่คว้าสิ่งนั้นมาให้ได้ คนที่มีลักษณะแบบนี้เป็นคนที่จะสามารถเป็นเซลส์ที่ดีได้ เพราะเวลาที่ทำงานเซลส์แน่นอนว่าจะต้องเจอการโดนปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ความดื้อรั้นก็จะทำให้เกิดความพยายามเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา

สุดท้ายจะต้องเป็นคนที่มีความสร้างสรรค์ (Creativity) ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งสำหรับคนที่เรียนจบด้านอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และอื่นๆ ทำไมความสร้างสรรค์ถึงเป็นสิ่งสำคัญ? เพราะบริษัทเทคส่วนใหญ่จะจ้างเซลส์ที่มีความคิดแบบแผนเป็นของตัวเอง สามารถหาทางใหม่ๆให้ไปสู่ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้น Business development จึงไม่เหมาะกับคนที่ชอบทำงานเเบบมีกระบวนการชัดเจน เนื่องจากไม่บริษัทไหนในโลกที่มีสูตรสำเร็จปิดการขายได้ 100% นั่นคือความท้าทายของงานในวงการเซลส์นั้นเอง

Business development จะเติบโตต่อไปทางไหนได้บ้าง?

ถ้าเริ่มทำงานจากการเป็น Business development ช่วงขั้นแรกเราก็จะอยู่ในช่วงที่มีหน้าที่เชิญชวนลูกค้าให้มาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทโดยไม่ต้องปิดการขายเอง เมื่อเริ่มรู้วิธีคุยกับลูกค้าเสร็จขั้นต่อมาก็จะอยู่ในช่วงของการปิดเซลส์เอง ขั้นนี้เราจะต้องพูดคุยและทำงานกับ Solution engineer มากขึ้น ซึ่งความท้าทายคือเราจะต้องจัดการความขัดแย้งที่มีกับลูกค้าที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้วมีปัญหา แต่เราอยากขายตัวใหม่ให้ เราก็จะได้ทักษะที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในตำแหน่งอื่นๆ 

ต่อมาเราก็สามารถผันตัวไปเป็น Partner sales ต่อไปได้ หลังจากตรงนี้หากใครมีความชื่นชอบหรือหลงใหลในผลิตภัณฑ์เป็นพิเศษก็จะผันตัวไปเป็น Solution engineer ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เรียนจบวิศวะมาก็ตาม เพราะบริษัทเทคจะมีคอร์สที่ได้ประกาศนียบัตรให้ลงมากมาย 

นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปเป็น Customer success คือการดูแลและให้ข้อมูลลูกค้าหลังการขายเสร็จแล้ว เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จกับการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดคอร์สเทรนนิ่งให้กับลูกค้าเพื่อให้เข้าใจวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น

หรือบางคนอาจจะไปต่อทางสาย People manager ก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sales manager, Head of sales, Head of customer success หรือ Solution engineer manager ก็จะเห็นได้ว่าเส้นทางสายนี้ยังไปได้อีกไกลอยู่ที่ว่าแต่ละคนมีความชื่นชอบทางไหนเป็นพิเศษ

ประเทศสิงคโปร์ดีอย่างไร?

การใช้ชีวิตที่ประเทศสิงคโปร์แตกต่างจากประเทศไทยพอสมควร โดยสิ่งที่แตกต่างอย่างแรกคือไลฟ์สไตล์ เพราะเราเป็นคนไม่ชอบรถติด สมมติถ้าเดินทางจากที่บ้านไปที่ทำงานก็กินเวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว แต่พอย้ายมาสิงคโปร์ที่เป็นประเทศค่อนข้างเล็ก ทำให้ใช้เวลาเดินทางไปทำงานแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์เราชอบไปปั่นจักรยานตอนเช้าๆ และช่วงวันหยุดก็ชอบไปเดินป่าด้วย ในประเทศไทย การเป็นผู้หญิงที่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้านคนเดียวนั้นค่อนข้างยากเป็นไปได้ยาก ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและการมีพื้นที่สาธารณะของประเทศไทยยังไม่ตอบโจทย์เราเท่าไหร่

Business Development

แล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่อาจหาไม่ได้ในประเทศไทยหรืออาจจะหาได้แต่น้อยคือ ประเทศสิงคโปร์ให้โอกาสก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่า เพราะเป็นประเทศที่มีบริษัทสำนักงานใหญ่อยู่เยอะ และมีนโยบายที่เกื้อหนุนให้พนักงานได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม เวลาที่เราจะต้องเลือกทางเดินในชีวิต เราจะมองผ่าน Return on investment (ROI) เสมอว่า หากเราอยู่ประเทศไทยแล้วเราจะได้ทักษะอะไรบ้าง แล้วทักษะนั้นสามารถนำเอาไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง รวมถึงสิ่งที่จะได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่ สุดท้ายแล้วเรามองว่าสิงคโปร์ให้โอกาสเรามากกว่า ณ ช่วงชีวิตวัยนี้

คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากย้ายไปทำงานสิงคโปร์

“ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจมากพอ” อันนี้เป็นคำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่สอนเรามาตลอด แน่นอนว่าคนเรามีต้นทุนในชีวิตไม่เท่ากัน เราอาจจะมีต้นทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าคนอื่นในหลายๆ เรื่อง เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพูดภาษาอังกฤษได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สอนตลอดว่า “คิดให้ใหญ่กว่าตัวเอง” ดังนั้นเราจึงพยายามขวนขวายและพัฒนาตัวเองมาตลอด เช่น อยากพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เอาหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเล่น อยากเข้าจุฬาฯ ก็ตั้งใจเรียนอ่านหนังสือสอบ 

ถ้าเราเจออุปสรรคในชีวิตแล้วบอกตัวเองว่าให้เลิกพยายามและอยู่กับมันให้ได้ เราก็จะไม่สามารถเดินทางมาสู่จุดนี้ของชีวิตได้ ดังนั้นจึงอยากบอกทุกคนว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ถ้าเราตั้งใจมากพอ

ส่วนคำแนะนำอีกอย่างหนึ่งอาจจะดูขัดกับคำแนะนำแรกไปบ้าง แต่ก็อยากแนะนำว่า “เราไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง” หมายถึง จริงๆ แล้วในชีวิตเราไม่มีอะไรที่ทำได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น เราต้องหาเพื่อน คนรู้จัก หรือไม่รู้จักก็ได้ และยื่นมือออกไปให้เขาช่วย เช่น หากมีน้องคนไหนที่อ่านบทความนี้แล้วอยากไปทำงานที่สิงคโปร์แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ให้ลองเปิด LinkedIn แล้วส่งข้อความมาถามเรา หรือคนไทยคนอื่นๆที่อยู่ต่างประเทศด้วยกัน ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับตัวเองและคนอื่น หากเราพยายามทำอะไรอยู่ตัวคนเดียวตลอด เราอาจจะตัดโอกาสความก้าวหน้าที่คนอื่นอาจจะสามารถนำพาเราไปได้

จะเห็นได้ว่าประเทศสิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ แต่อาจจะไม่อยากอยู่ไกลจากบ้านเกิดมากเท่าไหร่ คุณเอมก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คนได้อย่างแน่นอน หากใครอยากทำความฝันให้สำเร็จก็อย่าเพิ่งถอดใจ และจำไว้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หากเราพยายามมากพอ 

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/business-development-in-singapore