เมื่อพูดถึงอาชีพ ‘Career Advisor’ หลายคนอาจจะยังงงๆ และไม่รู้ว่าอาชีพนี้มีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ บทความนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักอาชีพ Career Advisor กับคุณศุภณัฐฐา ทรัพย์สำรวย หรือคุณเฟิร์ส ว่าตำแหน่งนี้คืออะไร แล้วการทำงานในบริษัท Recruitment ของญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร พร้อมทั้งเจาะลึกมุมมองของฝั่ง Recruiter ว่าอยากเห็นอะไรจากเด็กจบใหม่ในการสมัครงานครั้งแรก
เส้นทางชีวิตก่อนผันตัวมาเป็น Career Advisor
ขอย้อนกลับไปก่อนว่า เราเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนเรียนไม่เคยผ่านการฝึกงานมาก่อน เพราะช่วงระหว่างการฝึกงานของคณะเราต้องไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นพอกลับมาจากญี่ปุ่นแล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเพื่อนเรียนจะจบแล้ว แต่เรายังไม่เคยแม้แต่ฝึกงานเลย ตอนนั้นจึงหางานอีเวนต์ที่เปิดรับนักศึกษาเข้าเป็น Staff ระหว่างนั้นก็ได้ลองทำงานหลายๆ แบบ เช่น ทำงานพาร์ทไทม์เป็น Event coordinator คอยจัดอีเวนต์ให้กับเด็กที่มาฝึกงานที่ประเทศไทย แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มรู้สึกเหนื่อย จึงหันกลับมาตั้งใจเรียนให้จบ
พอเรียนจบแล้วก็ได้ทำงานตำแหน่ง Placement coordinator ในบริษัทเดิมที่เล่าก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความคล้ายกับตำแหน่ง Recruiter มีหน้าที่ดูแลเด็กฝึกงาน และจับคู่งานให้ตรงกับตำแหน่งที่มีอยู่ และดูแลพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทเปิดรับนักศึกษาฝึกงาน พอทำไปสักพักก็เหตุจำเป็นที่บริษัทต้องลดจำนวนพนักงาน ทำให้โดนยกเลิกสัญญาเร็วกว่ากำหนด
ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เริ่มหันมาทบทวนกับตัวเองว่าเราสนใจงานแบบไหนและงานอะไรที่เหมาะกับเราจริงๆ ประจวบเหมาะกับ Pasona Recruitment Thailand เปิดรับสมัครงานพอดี ก็เลยตัดสินใจสมัครไป เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในสายงาน Career Advisor
Career Advisor คืออะไร?
Career Advisor ไม่ต่างจาก Recruiter เป็นชื่อตำแหน่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะเรียกว่าอะไร แต่ข้อดีของการตั้งชื่อว่า Career Advisor คือ เราไม่ได้เป็นคนมองหาผู้สมัครอย่างเดียว แต่ผู้สมัครก็สามารถสมัครเข้ามาเองผ่านเว็บไซต์ของบริษัทได้เช่นกัน
เรามีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้สมัคร เช่น การให้คำแนะนำว่าแต่ละตำแหน่งที่ผู้สมัครสนใจมีโอกาสเติบโตไปทางไหนได้บ้าง และเงินเดือนเป็นอย่างไร เพื่อให้เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับสายงานนั้นๆ มากขึ้น และทำให้เห็นเส้นทางในอาชีพการทำงานชัดขึ้นด้วย
ตอนสมัครงานที่ Pasona มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
เมื่อย้อนกลับไปตอนนั้น อย่างแรกที่เราทำคือ การปรับเรซูเม่ให้มีความละเอียดที่สุด โดยในส่วนของ Achievement จะต้องใส่ข้อมูลที่ชัดเจนและจับต้องได้ เช่น สมมติเป็น Content Creator เราสามารถลงคอนเทนต์ได้เดือนละเท่าไหร่ แล้วมี Engagement กี่เปอร์เซ็นต์ เราต้องดึงจุดเด่นออกมาให้บริษัทที่เราสมัครงานเห็นว่าเรามีศักยภาพมากพอ
ต่อมาขั้นตอนการสัมภาษณ์ เราเตรียมตัวด้วยการหาคำถามที่พบเจอได้บ่อยผ่านเว็บไซต์ต่างๆ และเตรียมตัวตอบคำถามสัมภาษณ์เหล่านั้นให้ดี อีกทั้งเรายังสามารถดูคลิปสอนตอบคำถามสัมภาษณ์ในยูทูป เพื่อดูแพทเทิร์นในการตอบว่าควรตอบแบบไหน และไม่ควรตอบแบบไหน
สุดท้ายแล้วทุกๆ อย่างคือการเตรียมความพร้อม นอกจากจะต้องเตรียมตัวตอบคำถามแล้ว ก็ยังต้องเตรียมตัวถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย เพื่อที่เราจะรู้ด้วยว่าบริษัทที่เราสมัครมีมุมมองหรือมีวิธีคิดตรงกับเราหรือเปล่า
อยากเป็น Career Advisor ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?
คนที่เหมาะกับการเป็น Career Advisor จะต้องมีทักษะดังต่อไปนี้
- Service Mind: เนื่องจาก Career Advisor คือการบริการรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ขายงานให้คนมาสมัคร แต่ต้องคอยให้บริการระหว่างกระบวนการสรรหาบุคคล เช่น คอยให้ความช่วยเหลือในการเตรียมตัวสัมภาษณ์กับผู้สมัคร
- Communication: การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราต้องขายงานให้กับผู้สมัคร อีกทั้งยังต้องใช้สื่อสารกันภายในทีมด้วย
- Self-motivated: การสร้างแรงผลักดันให้กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องขวนขวายหาผู้สมัครอยู่ตลอดเวลา และเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างเป้าหมายให้ตัวเองเดินต่อไปได้ จะได้ไม่จมอยู่กับที่แล้วรู้สึกเบื่องาน
วัฒนธรรมการทำงานบริษัทญี่ปุ่น
บริษัทแต่ละที่ก็จะมีความแตกต่างกันไป แต่หลักๆ คือ การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับบริษัทญี่ปุ่น สมมติเวลาเริ่มงานคือ 9.00 น. ไม่ใช่ว่าไปถึงที่ทำงาน 9.00 น. เวลาที่เหมาะที่สุดคือไปถึงที่ทำงานก่อน 10 นาทีขึ้นไป และพื้นฐานของคนญี่ปุ่นก็เป็นคนมีมารยาทดี สุภาพ และทำงานร่วมกับคนในทีมได้
นอกจากนี้เรายังชอบการเทรนและการสนับสนุนของบริษัทญี่ปุ่น เพราะเขาไม่ได้มองแค่ว่าจ้างเรามาทำงานอย่างเดียว แต่เขาอยากทำให้เรามีประสบการณ์ทำงานในบริษัทที่ดี อย่าง Pasona เองก็มีการเทรน โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแลและให้คำแนะนำก่อนเริ่มลงสนามจริงด้วย
บรรยากาศการทำงานดี+เพื่อนร่วมงานดี = มีความสุขในการทำงาน
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานเลย เพราะสิ่งหนึ่งที่คนทำงานในบริษัทต่างชาติหลายคนอาจเจอเหมือนกันคือ อุปสรรคด้านภาษา เมื่อมีชาวต่างชาติมาทำงานด้วยกัน แน่นอนว่าจะต้องมีช่องว่างทางด้านภาษาเกิดขึ้น บางทีเขาสื่อสารอะไรมาแล้วเราอาจจะไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็น สิ่งที่เราทำได้คือการพัฒนาตัวเอง เพื่อที่ทำให้มีการสื่อสารอยู่ในระดับเดียวกันและไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสาร
สิ่งที่เด็กจบใหม่ทำผิดพลาดบ่อยในการสมัครงาน
จริงๆ แล้วเรียกว่าทำผิดพลาดก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะปัญหาเกิดจากการไม่เคยมีประสบการณ์และไม่มีคนสอนมาก่อนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ส่งผลต่อการพิจารณา เช่น
- การเขียนอีเมล: เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสอน แต่เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับทุกคน เราควรรู้ว่าต้องขึ้นหัวข้อ ขึ้นเนื้อหา และจบเนื้อหาอย่างไร อย่าส่งอีเมลโดยการแนบไฟล์ไปอย่างเดียวโดยไม่เขียนอะไร
- เรซูเม่: หลายคนยังใช้รูปแบบเรซูเม่ที่ไม่ถูกต้องอยู่อย่างเช่น การใช้ค่าพลังทักษะ ทางที่ดีควรแก้เป็นการเขียนว่าเราถนัดทักษะนั้นๆ ในระดับไหน เช่น Basic, Intermediate, Professional ส่วนทักษะภาษาถ้ามีคะแนนใส่ไว้ก็จะดีมาก
- กิจกรรม: ถ้าตอนเรียนมหาวิทยาลัยเคยทำกิจกรรมอะไร ให้เก็บใส่พอร์ตไว้เสมอ เพราะจะทำให้โปรไฟล์เราดูน่าสนใจมากขึ้น
- การส่งใบสมัคร: อย่ากลัวที่จะส่งใบสมัครไปหลายๆ ที่ เพราะสิ่งนี้เหมือนเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มโอกาสให้กับชีวิต อย่างน้อยก็จะรู้ได้ว่าบริษัทแบบไหนที่ต้องการเรา อีกทั้งยังเป็นการค้นหาตัวเองไปด้วยว่าเราชอบบริษัทแบบไหนกันแน่ผ่านการสัมภาษณ์งานหลายๆ ที่
สาเหตุที่เด็กจบใหม่หางานยาก
สิ่งที่ทำให้เด็กจบใหม่ๆ หางานยากมีหลายปัจจัย เช่น เรซูเม่ที่เขียนไม่ละเอียดพอ หรือการไม่มีทักษะด้านภาษา หากใครได้ภาษาแนะนำให้ไปสอบ เพื่อนำคะแนนมานำเสนอต่อบริษัทต่างๆ ว่าแม้เราจะไม่มีประสบการณ์การทำงาน แต่เราก็มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานหรือนำไปเทรนต่อได้
ส่วนเรื่องการสัมภาษณ์ก็ไม่อยากให้กลัวกันมาก เพราะหลายคนอาจจะได้ยินมาจากคนรอบข้างว่าการสัมภาษณ์งานน่ากลัว กดดัน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม เรื่องของการหางานเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความใจเย็นเป็นอย่างมาก เพราะบางทีในตลาดแรงงานอาจมีคนที่มีความสามารถกว่าเรา เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะหางานใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กจบใหม่หางานอยากคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความต้องการในตลาดแรงงาน อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิดยังไม่หายไปไหน ทำให้ช่วงนี้หลายบริษัทจึงเปิดตำแหน่งเพื่อหาคนมีประสบการณ์มากกว่า เพื่อทำงานไปสักพักแล้วสามารถเทรนเด็กใหม่ๆ ต่อไปได้
รวมถึงตลาดแรงงานตอนนี้ต้องการคนที่มีทักษะหลากหลายขึ้น และตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นสายไอทีหรือสายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น Data Analyst หากใครที่ไม่พัฒนาตัวเองให้เท่าทันตลาดแรงงานก็อาจทำให้ถูกมองข้ามได้
การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ ก็ควรสะสมทักษะการทำงานไว้ให้เยอะที่สุด
ฝากถึงเด็กจบใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่การสมัครงานครั้งแรก
หลังจากเรียนจบมาใหม่ๆ ต้องเผชิญกับความกังวลหลายๆ อย่างในการสมัครงาน เพราะต้องเจอกับการสัมภาษณ์ และกังวลว่าผู้สัมภาษณ์ที่ต้องเจอจะเป็นคนยังไง แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะไปเจอจริงๆ ถ้าเราเตรียมพร้อมตั้งแต่เรื่องเอกสาร เรซูเม่ สัมภาษณ์ และทำความเข้าใจบริษัทตั้งแต่แรก เราก็จะรู้ได้ว่าเราทำเต็มที่ในส่วนของตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
และในการสมัครงาน นอกจากจะต้องคิดเรื่องเงินเดือนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องถามใจตัวเองด้วยว่าเราอยากทำงานบริษัทนั้นๆ มากแค่ไหน แน่นอนว่าเมื่อมีใครสักคนให้ Offer เราเป็นที่แรก เราจะรู้สึกดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าของเรา แต่เราต้องมีสติแล้วคิดให้ดีว่าที่นั่นเหมาะกับเราจริงๆ หรือไม่
สุดท้ายนี้ อย่างที่บอกว่าไม่ต้องกลัวที่จะส่งเรซูเม่ไปหลายๆ ที่ เราต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง เพราะการสมัครงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความเก่งของเราอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความอดทนและจังหวะเวลาโอกาสของเราด้วย เข้าใจว่าหลายคนอาจเครียดที่จบมาแล้วต้องว่างงาน เพราะเหมือนเราถูกเตะเข้าสู่โลกการทำงานโดยที่ยังไม่รู้เรื่องราวอะไร พอเห็นเพื่อนมีงานทำไปทีละคน ก็ยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับตัวเอง แต่เราสามารถนำแรงกดดันตรงนั้นมาช่วยให้เรามีแรงฮึดสู้ในการหางานต่อไปได้ แล้วเราก็จะได้งานที่ดีสมการรอคอย