แน่นอนว่าการหางานสำรองไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฝืดเคือง จากผล กระทบของวิกฤตโรคระบาด ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำอยู่ไม่มั่นคงเหมือนที่เคย อีกทั้งยังมีข่าวปลดพนักงานจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้พนักงานรู้สึกว่าหน้าที่การงานของตัวเองนั้นไม่มั่นคงอีกต่อไป
ซึ่งจากการปลดพนักงานของบริษัท Meta, Google, Microsoft, Shopee และบริษัทชั้นนำอื่นๆ ได้สร้างผล กระทบและแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ส่งผลให้พนักงานจำเป็นต้องวางแผนและมองหางานสำรอง เพื่อรองรับการตกงานของตัวเองมากขึ้น
และวันนี้ ConNEXT จะพาไปรู้จักกับความหมายของ Career Cushioning หรือเทรนด์การหางานสำรอง ที่มาพร้อมกับวิธีการหางาน และที่สำคัญ Career Cushioning จะเป็นการทรยศองค์กรแบบที่คนอื่นพูดจริงหรือไม่ ไปดูกันเลย!
Career Cushioning คืออะไร?
Career Cushioning คือ การหางานสำรอง หรือสมัครงานใหม่ ทั้งๆ ที่ยังทำงานอยู่บริษัทเดิม ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มักเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนามาจากรูปแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “Cushioning หรือ การคุยเผื่อเลือก” ซึ่งหมายถึงว่าหากคุณโดนเทจากคนคุยของคุณ คุณก็สามารถไปหาคนคุยคนใหม่ของคุณได้ทันที และเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานก็จะหมายถึงการมีงานประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ คุณเลยจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรอง และสมัครงานใหม่ไปพร้อมๆ กับการทำงานที่เดิมอยู่นั่นเอง
Career Cushioning เหมาะกับใคร
1. ไม่มีความมั่นคงในงานปัจจุบัน
เมื่อตำแหน่งงานของคุณเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลง จนคุณรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่าตำแหน่งงานของคุณจะถูกเลิกจ้าง นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าคุณอาจต้องหางานใหม่หรืองานสำรอง เพื่อมารองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2. เริ่มไม่มีความสุขกับตำแหน่งงานที่ทำ
ความกดดันและปัญหาต่างๆ ที่เจอในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการโดนคาดหวังสูง ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน หรือเครียดจากภาระงานที่หนักเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไม่มีความสุขกับงานทั้งนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนอีกเช่นกัน ว่าคุณควรต้องเริ่มหางานสำรองเผื่อไว้ก่อนที่คุณจะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
แล้ว Career Cushioning ถือเป็นการทรยศองค์กรหรือไม่?
หลายคนคงคิดว่า Career Cushioning มันไม่ต่างอะไรกับการทรยศองค์กรเลย แต่ Abbie Martin หรือแอบบี มาร์ติน นักกลยุทธ์ด้านอาชีพ กล่าวว่า การหางานใหม่ในขณะที่ยังทำงานเดิมอยู่ไม่ได้เป็นการโกงหรือทรยศองค์กรแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่พนักงานสามารถทำได้ และไม่ควรรู้สึกผิดด้วย แต่ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณ เช่น ควรหางานในเวลาพักเที่ยงหรือนอกเวลางานไปเลย เพื่อไม่ให้กระทบกับงานที่ทำอยู่
แนวทางการหา Career Cushioning หรืองานสำรอง
Catherine Fisher หรือ แคทเธอรีน ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของ LinkedIn สรุปขั้นตอนการวางแผนสำรองไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
- อัปเดต LinkedIn หรือ Resume ของคุณให้เป็นข้อมูลปัจจุบันที่สุด
- เมื่อรู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไรต่อแล้ว ให้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด
- วางแผนเป้าหมายของเส้นทางอาชีพตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ต้องการไปถึงจุดไหน และหาวิธีที่จะไปถึงจุดนั้นให้ได้
นอกจากนี้ Charlotte Davies หรือ ชาร์ลอตต์ เดวีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของ LinkedIn กล่าวว่า การวางแผนสำรองไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อบทบาทการทำงานในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุไม่คาดคิดหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนเส้นทางอาชีพของพวกเขาในอนาคต
อ้างอิง : businessinsider, entrepreneur, europelanguagejobs