ความจำเป็นของใบปริญญาในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่หรือไม่? เพราะเหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงยังให้ความสำคัญกับใบปริญญาอยู่?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมยังคงมีบรรทัดฐานและให้ค่ากับใบปริญญาเพราะเป็นแต้มต่อในการหางานได้มากกว่า ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนยังต้องพยายามเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าจะเป็นวิชาที่ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
จุดเปลี่ยนของความสำคัญในใบปริญญา
ในปัจจุบันที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงขึ้นบวกกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นและคนรุ่นใหม่มีทางเลือกมากขึ้นในการเรียนคอร์สออนไลน์ จึงทำให้หลายคนตระหนักว่าใบปริญญานั้นอาจไม่สำคัญอีกต่อไป
รายงานล่าสุดของ Burning Glass Institute บอกสัดส่วนงานที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาว่ามีตัวเลขลดลงจากร้อยละ 51 ในปี 2017 เป็นร้อยละ 44 ในปี 2021 และจากข้อมูลของ Gallup สัดส่วนของคนอเมริกันในช่วงอายุ 18 ถึง 29 ปี ที่เชื่อว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญ ลดลงจาก 74% เป็น 41% ในเวลาเพียงแค่ 6 ปี
หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนก็คือ บริษัทต่างๆ เช่น Apple, Tesla, IBM, Delta Airlines และ Hilton ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องลดความสำคัญใบปริญญาของผู้สมัคร เพราะพวกเขาเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับความคิด ความสามารถและทักษะที่ได้รับจากประสบการณ์ชีวิต เพราะการตัดสินคนจากใบปริญญาเพียงอย่างเดียวอาจเป็นการตัดโอกาสสำหรับผู้ที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ
จากการวิจัยของ Georgetown University เมื่อเทียบกับรายได้ระหว่างคนที่มีใบปริญญากับคนที่ไม่มี ในการหารายได้ตลอดชีพของพนักงานที่จบระดับปริญญาตรี คือ 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 97,169,800 บาท และพนักงานที่ไม่มีใบปริญญามีรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 55,525,600 บาท แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยในรัฐ Massachusetts พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีรายได้ไม่มากไปกว่าผู้ที่จบแค่เพียงระดับมัธยมปลาย นอกจากนี้พวกเขายังต้องทำงานเป็นเวลา 20 ปีเพื่อชดใช้ค่าเล่าเรียน ซึ่งสามารถใช้ในการซื้อบ้าน การลงทุน หรือเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ
คุณค่าของประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ผู้คนมักจะเปลี่ยนงานเฉลี่ย 12 ครั้งในชีวิตการทำงาน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประสบการณ์มักจะส่งเสริมวิธีคิดใหม่ๆ และพัฒนาความสามารถที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ภายในสายงานนั้นๆ คุณสามารถใช้สิ่งที่คุณได้รับจากการท่องเที่ยว การเดินทาง การฝึกงาน การทำจิตอาสา งานอดิเรก กิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานใหม่ๆ ที่อาจไม่มีอยู่เมื่อหลายปีก่อน
องค์กรบางแห่ง เช่น Google ได้สร้าง “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Career Certificates)” เพื่อจัดเนื้อหาและกิจกรรมแนะแนวสำหรับการฝึกอบรมผู้สมัครงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้ที่มีความสามารถตามแบบที่องค์กรต่างๆ ต้องการ โดยประกาศนียบัตรของ Google จัดทำขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ Cousera ที่ช่วยให้คนที่กำลังหางานก้าวข้ามการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ เพียงแค่จ่ายค่าคอร์สเรียน 100 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,468 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับค่าเทอมในการศึกษาระดับปริญญาตรี
มหาวิทยาลัย Minerva ได้จัดทำหลักสูตรเสมือนจริงรวมกับการเรียนวิชาการแบบลงลึก นักศึกษาจะได้รับความสามารถในการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายและได้ฝึกงานกับองค์กรต่างๆ เช่น IDEO, Google, 500 Startups, TechShop, INFORUM, และอื่นๆ โดยหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความคิดมากพอๆ กับทักษะ ภายในเว็บไซต์ของ Minerva สนับสนุนว่า “ความเข้าใจที่แท้จริงของโลกและผู้คนในโลกนี้มาจากการสัมผัสกับความเป็นจริงของชีวิตเท่านั้น”
University of Washington รายงานว่าหลังจากสำเร็จการศึกษา นักศึกษาราว 53% ตกงานหรือทำงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ใบปริญญา และ 49% ของนักศึกษาจบใหม่ไม่ได้สนใจในการสมัครงานภายในปี 2022 เพราะพวกเขารู้สึกว่าเขามีศักยภาพไม่เพียงพอ หากพวกเขาได้รับโอกาสในการทำงานและประสบการณ์จริงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตัวเลขก็อาจจะไม่สูงจนน่าตกใจขนาดนี้
ประสบการณ์สร้างปัญญาที่แท้จริง
เมื่อคุณมีประสบการณ์ที่พบเจอกับตัวเองจริงๆ คุณก็จะสามารถซึมซับและจดจำความรู้นั้นไว้ได้ง่ายขึ้น แล้วนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อมในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประสบการณ์นิยมที่คิดว่าความรู้นั้นเกิดมาจากประสบการณ์ คือ สิ่งที่รับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย) ประสาทสัมผัสเหล่านี้ทำให้เราสามารถรับรู้คุณลักษณะต่างๆ ของสิ่งทั้งหลายได้และทำให้เรามีความรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น การปั่นจักรยาน เราก็จะต้องฝึกฝนในการปั่นจักรยานจนเรารู้ว่าต้องปั่นอย่างไรถึงจะเร็ว ต้องหยุดจักรยานอย่างไรให้พอดี เช่นเดียวกันกับทักษะต่างๆ เกิดจากการฝึกฝนจากประสบการณ์จนเป็นความรู้ที่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต
จะเห็นได้ว่าในยุคนี้นักศึกษา เด็กจบใหม่หรือแม้กระทั่งหลายๆ องค์กรไม่ได้มองว่าใบปริญญาหรือวุฒิการศึกษานั้นสำคัญเท่ากับประสบการณ์ที่มาจากตัวพนักงาน เพราะบางทีความรู้ที่ได้รับมาจากห้องเรียนก็เทียบเท่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียนไม่ได้
เขียนโดย : Nichaphat Srijumpa
อ้างอิง : hbr, baanjomyut, trueplookpanya