เจาะลึกอาชีพ Game Designer ทำงานในวงการเกมมีอะไรมากกว่าแค่คำว่าติดเกม | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เจาะลึกอาชีพ Game Designer ทำงานในวงการเกมมีอะไรมากกว่าแค่คำว่าติดเกม
By Siramol Jiraporn พฤษภาคม 3, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ปัจจุบันวงการเกมกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลายคนก็เริ่มมีความสนใจงานในวงการนี้ แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังยึดติดอยู่กับความคิดที่ว่าคนทำงานในวงการเกมคือเด็กติดเกม แต่ในความเป็นจริงแล้ววงการนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด บทความนี้จะพาไปเจาะลึกอาชีพ Game Designer กับคุณภัทรธร ยิ้มแต้ หรือคุณภัทร ผู้ที่จบการศึกษาด้าน Arts in Game Design จาก DigiPen Institute of Technology และปัจจุบันเป็น Game Designer อยู่ที่ Quantumpeaks studio สำหรับคนที่สนใจสายอาชีพนี้ห้ามพลาด

Game Designer คืออะไร

Game Designer คืออะไร? มีหน้าที่ทำอะไร?

ปกติแล้วทีมในการทำเกมหนึ่งเกมจะประกอบไปด้วย 3-4 ทีม (ไม่รวมทีม Management) แล้วแต่ขนาดของบริษัท  ได้แก่ ทีม Art, ทีม Developer (เขียนโค้ด), ทีม Designer และบางบริษัทก็จะมีทีม Sound ด้วย

หน้าที่หลักของ Designer คือการออกแบบ Direction ของเกม และการทำความเข้าใจผู้ใช้ เพราะเวลาจะทำเกมเราไม่สามารถนึกอยากทำอะไรก็สามารถทำได้เลยทันที เราต้องคิดก่อนว่าจะทำเกมไปขายใคร ต้องการผู้เล่นแบบไหน หลังจากนั้นก็เริ่มคิดว่าเกมควรไปในทิศทางไหน เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ที่ตั้งไว้

As a designer, it’s your job! To understand what players needed even when players didn’t know what they needed.

แต่ถ้าพูดถึง Game Designer แบบเจาะลึกลงไปอีก ก็จะพบว่ามีอีกหลายรูปแบบ แต่มี 4 รูปแบบที่สามารถเจอได้บ่อยๆ ในประเทศไทย ได้แก่

  • Narrative Design – ออกแบบ Interaction, Dialogue และเนื้อเรื่องของเกม
  • Level Design – ออกแบบ Landscape และ Level Interaction
  • Gameplay Design – ออกแบบรูปแบบการเล่นโดยตรง เช่น ตัวละครในแต่ละเกมมีความสามารถแตกต่างกันอย่างไร
  • UX/UI Designer – ออกแบบสิ่งที่เป็นฟีดแบ็กกับ Interface ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการ Interact กับผู้เล่นโดยตรง เช่น การบอกว่าตอนนี้มีกระสุนเหลือเท่าไหร่

Game Designer VS Graphic Designer ชื่อคล้ายกันใช่ว่าจะเหมือนกัน

ความแตกต่างระหว่าง Game Designer กับ Graphic Designer นั้นมีความแตกต่างกันมาก ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่ใครหลายๆ คนเข้าใจ โดยในความเป็นจริงแล้วทักษะด้านกราฟิกเป็นสิ่งที่ Game Designer ควรมีติดตัวไว้สักนิดด้วยซ้ำ แต่ Game Designer ก็ไม่ได้มีการทำงานที่ลงเรื่องกราฟิกเท่าไหร่ คนที่ทำกราฟิกให้ส่วนใหญ่จะเป็นทีม Art ส่วน Game Designer จะเน้นไปที่เรื่องรายละเอียดว่าอยากออกแบบตัวละครแบบไหน ก็มีหน้าที่ไปทำการค้นคว้าหาข้อมูลมาส่งต่อให้คนอื่นวาดอีกที

นอกจากนี้ Game Designer กับ Game Developer ก็ไม่เหมือนกัน แค่มีส่วนที่ทับซ้อนกัน เพราะจริงๆ แล้ว Game Designer เป็นส่วนหนึ่งของทีม Game Developer โดย Designer มีหน้าที่เข้าไปช่วยชี้ทางให้ทีม Developer มากกว่า

จุดเริ่มต้นความสนใจงาน Game Designer

Game Designer คืออะไร

เริ่มแรกคือเป็นคนติดเกม พอเล่นเกมมาเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าเกมในมุมมองของเราไม่ได้มีประโยชน์แค่เอาไว้เล่นเพื่อความสนุกสนานอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อีกมาก แม้แต่ทางการแพทย์ในสมัยนี้ก็นำเกมไปใช้ในหลายๆ จุด เช่น เกมบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนนี้ทำให้เรามองว่าตลาดของเกมสามารถไปได้อีกไกล เพราะเกมเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ทุกยุคทุกสมัย เราจึงตัดสินใจเริ่มศึกษาจริงจังช่วงมัธยมปลาย พอถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงเลือกเรียนต่อทางด้านนี้โดยตรง

หลังเรียนจบตัดสินใจกลับมาไทย เพราะได้รับข้อเสนองานจากอาจารย์ที่รู้จัก ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก จะเห็นได้ว่าคอนเนคชันเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการหางานในวงการเกม เพราะการร่อนใบสมัครไปเรื่อยๆ แล้วรอบริษัทติดต่อกลับมา จะมีโอกาสน้อยกว่าการมีคนรู้จักหรือมีคนเคยเห็นผลงานมาก่อน ดังนั้นเราจึงควรพาตัวเองออกไปอยู่ในตลาดเพื่อให้คนเห็นหน้าบ่อยๆ จะทำให้การถูกดึงตัวเข้าบริษัทต่างๆ เป็นไปได้ง่ายกว่า

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนี้

สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพในวงการเกมมีหลายอย่างมาก แต่ความเข้าใจผิดใหญ่ๆ มีอยู่สองเรื่องคือ หลายคนคิดว่าคนที่ทำงาน Game Designer จะต้องเล่นเกมทั้งวันกับคิดว่าสายงานนี้ไปต่อไม่ได้ไกล

ประเด็นแรก ถ้าให้พูดตรงๆ Game Designer นั่งจ้องเอกสารพอๆ กับพนักงานออฟฟิศ แต่ก็มีช่วงที่ต้องนั่งจ้องตัวเกมเหมือนกัน แต่จะเป็นเกมที่อยู่ระหว่างกระบวนการสร้าง ดังนั้นจึงเหมือนเรานั่งจ้อง Engine หรือโค้ดมากกว่า เรียกได้ว่าเราได้เล่นเกมในฐานะนักพัฒนาไม่ใช่ผู้เล่น เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สนุกเหมือนอย่างที่ใครๆ คิด

ส่วนเรื่องเส้นทางอาชีพของ Game Designer สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าที่คิด เพราะเราเรียนพื้นฐานเรื่องการออกแบบมา เราก็สามารถเปลี่ยนไปทำสายออกแบบด้านอื่นได้ เช่น Product Design, Web Design และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับทักษะที่เรามี

Game Designer ต้องมีทักษะอะไร

ส่วนใหญ่ทักษะที่ Game Designer มีจะเป็น Soft Skill มากกว่า ทักษะใหญ่ๆ ที่ต้องมี ได้แก่

  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) – การทำเกมจะต้องมีโจทย์ให้แก้เสมอ เช่น นักลงทุนต้องการอะไร เราก็จะมีการกำหนดทิศทางการสร้างเกมต่อไป ดังนั้นทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลจึงสำคัญ โดยเราจะต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนสิ่งที่คิด เพราะทุกการออกแบบจะต้องมีเหตุและผลเสมอ
  • ใจที่เปิดกว้าง (Open-minded) – เมื่อเข้าสู่วงการสร้างเกมแล้ว จะต้องเจอกับการเทสงานซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะใช้ได้ ทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดใจทิ้งงานที่ไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองทุ่มเทเวลาไปกับงานนั้นเยอะมากจนเสียดาย ไม่กล้าปล่อยมันไป แต่หากอยากทำงานสายนี้ต้องจำไว้เสมอว่าต้องมีใจที่เปิดกว้างพอที่จะยอมรับความผิดพลาด
  • การสื่อสาร (Communication) – เนื่องจากการทำงาน Game Designer จะต้องมีการทำงานร่วมกับหลายทีม เช่น ทีม Art, ทีม Developer และทีมอื่นๆ เพื่อให้สามารถสร้างเกมออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทักษะการสื่อสารกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานสายนี้ 

ข้อดี/ข้อเสียของการทำงานเป็น Game Designer

Game Designer

ข้อดีของการเป็น Game Designer คือได้นำสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาสร้างเป็นรูปเป็นร่างที่สามารถจับต้องได้ เรียกได้ว่าเป็นคุณค่าทางจิตใจ เมื่อมีคนเล่นเกมที่เราสร้างก็จะรู้สึกเติมเต็มหัวใจและรู้สึกประสบความสำเร็จมากๆ เพราะกว่าจะทำเกมแต่ละเกมออกมาได้ต้องเจอกับความล้มเหลวหลายต่อหลายรอบ พอเห็นคนเล่นแล้วสนุกเราก็มีความสุขตาม

ส่วนข้อเสียคือ งานนี้เป็นงานที่หนัก เพราะ Game Designer ต้องออกแบบหลายแบบ แล้วมีความคาบเกี่ยวกับการพัฒนาเกม และทีม Art ด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจกระบวนการสร้างเกมทั้งหมด เพื่อที่จะกำหนดขอบเขตของงานได้และต้องไม่ทำอะไรที่เกินขอบเขตนั้น เช่น เรื่องความสามารถของคนในทีมหรืองบประมาณที่มี ดังนั้นงานนี้จึงเป็นงานที่หนักมาก เพราะต้องรู้ทุกอย่าง อีกทั้งยังต้องทำงานกับคนหลายๆ ทีมด้วย

เมื่อพูดถึงข้อเสียแล้ว ก็ต้องพูดถึงความเปิดกว้างของประเทศไทยที่มีต่อวงการเกม เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ค่อยเปิดรับกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ทำให้มีคนเข้าใจเราน้อยมากๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อไทยที่ชอบชี้นำว่าเกมไม่ดี ก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้วงการนี้ดูแย่ลงในสายตาของใครหลายๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วเกมมีผลก่อให้เกิดความรุนแรงไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมมากกว่า 

ส่วนผู้ปกครองคนไหนที่กลัวลูกเล่นเกมแล้วจะแอบเติมเกม ตอนนี้หลายเกมก็มี Parenting Control โดยพ่อแม่สามารถเข้าไปตั้งค่าระบบได้ว่าลูกไม่สามารถซื้อของในเกมได้ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาต แต่ว่าด้วยความที่พ่อแม่บางคนปล่อยปละละเลยปล่อยให้เด็กเล่นเกมโดยไม่สนใจเอง แล้วมาโทษเกมทีหลัง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และก็ทำให้มุมมองที่มีต่อวงการนี้ดูแย่ลงไป

จบไม่ตรงสายเป็น Game Designer ได้ไหม

สำหรับคนที่จบไม่ตรงสาย แต่อยากเป็น Game Designer ก็สามารถทำได้ ตราบใดที่สามารถทำความเข้าใจกระบวนการของการสร้างเกมทั้งหมดได้ เพราะสมัยก่อนที่ยังไม่มีวิชาเรียนเกี่ยวกับ Game Designer ก็มี Programmer หลายคนที่หันมาสร้างเกมเอง หรือบางคนก็มาจากสาย Art ที่เรียนแอนิเมชันมา เขาก็สามารถพัฒนาทักษะไปได้เรื่อยๆ จนสามารถสร้างเกมเองได้ แต่ถ้าใครมาจากสายที่ฉีกมากๆ จาก Art หรือ Programming ก็จะยากหน่อย เพราะต้องมาทำความเข้าใจพื้นฐานของการออกแบบใหม่หมด

อุปสรรคและความท้าทายของการทำงานสายนี้

อุปสรรคของการทำงานสายนี้คือ การสื่อสาร (Communication) เนื่องจาก Game Designer ต้องทำงานร่วมกับหลายทีม ทำให้การสื่อสารถือเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ตัวอย่างเช่น บางทีเรามีไอเดียภายในหัวของเรา การอธิบายให้คนหนึ่งคนฟังสามารถทำได้ แต่การจะต้องอธิบายให้คนทั้งทีมที่มีอยู่สิบกว่าคนให้เข้าใจภาพที่ตรงกันไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้คือต้องมีเครื่องมือหลายๆ อย่างเข้ามาช่วย เช่น การวาดหรือการโปรแกรมให้ดูว่านี่คือไอเดียของเรา วิธีที่จะทำให้ผ่านอุปสรรคเรื่องการสื่อสารไปได้คือ เราต้องฝึกฝนบ่อยๆ และสื่อสารกับคนอื่นให้เยอะๆ

ส่วนความท้าทายคือ การทำให้คนสนใจเกมที่เราสร้างขึ้นมา เพราะปัจจุบันก็มีเกมใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมามากมาย กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ เราต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ของเราคือใคร พอเราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเราก็จะสามารถทำเกมออกมาตอบโจทย์คนเหล่านั้นได้ เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นผู้หญิงที่ชอบแต่งตัว เกมที่สร้างก็จะเป็นเกี่ยวกับแฟชั่น แล้วคนสายแฟชั่นชอบอะไรก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูลกันต่อไปว่าในเกมจะมีอะไรบ้าง เพื่อทำให้ผู้เล่นรู้สึกเพลิดเพลินระหว่างการเล่น

เราไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกชอบเกมของเราได้ แต่อย่างน้อยเราสามารถทำให้คนกลุ่มที่เราสนใจชอบได้

คำแนะนำสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็น Game Designer

สิ่งที่อยากแนะนำเป็นอย่างแรกคือ ต้องถามตัวเองให้แน่ชัดก่อนว่า เราอยากเป็นคนสร้างเกมเพื่อให้คนอื่นเล่นหรือเราแค่อยากเป็นคนเล่นเกมเฉยๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน เพราะงานสายนี้เป็นงานที่ถือว่าหนักพอสมควร จากประสบการณ์ตรงคือมีเพื่อนที่เข้ามาเรียนหรือทำงานสายนี้แล้วล้มเลิกกลางคันเยอะมาก 

เมื่อตอบตัวเองได้แล้วว่าอยากเป็น Game Designer จริงๆ คำแนะนำต่อมาคือ ให้เล่นเกมเยอะๆ และเล่นให้หลากหลายรูปแบบ เพราะการเล่นเกมหลายแบบ จะช่วยให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น เมื่อเล่นเกมก็อย่าเล่นในฐานะผู้เล่น แต่ให้เล่นในฐานะคนออกแบบเกม โดยมองว่าทำไมเกมนั้นถึงเป็นแบบนั้น แต่ละสิ่งในเกมมีความสำคัญอย่างไร เกมนั้นสร้างมาเพื่อใคร เรียกได้ว่าให้เก็บข้อมูลจากการเล่นเกมให้เยอะที่สุด เพราะยิ่งมีฐานข้อมูลเยอะเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเข้าใจปัจจัยสำคัญของเกมมากขึ้นเท่านั้น

สุดท้ายอยากเสริมอีกนิดว่า ให้เริ่มศึกษาขั้นตอนการพัฒนาเกม และมองหาว่า Designer แบบไหนที่เราอยากจะเป็นหรือส่วนไหนของเกมที่เราชอบ เพื่อที่เราจะได้รู้ตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราเหมาะจะอยู่ในทีมไหนในการพัฒนาเกม 


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/game-designer