เมื่อเราเริ่มก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน และจำเป็นต้องวางแผน Career Path ที่ชัดเจนสำหรับก้าวต่อไปในอนาคต ทางเลือกที่มักจะปรากฎอยู่ตรงหน้าให้เราตัดสินใจ ก็คือ เราควรจะเติบโตไปเป็น Generalist หรือ Specialist มากกว่ากัน ? เพราะ ทั้งสองเส้นทางนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ConNEXT จึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Generalist’ และ ‘Specialist’ เส้นทางการเติบโตในชีวิตการทำงานที่แตกต่างกันให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียจากทั้งสองฝั่งอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจไปตามเส้นทางที่คุณเลือกเดิน และออกแบบชีวิตการทำงานที่เหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุด
Generalist VS Specialist คือ อะไร? ทำไมถึงมีความสำคัญต่อการค้นหา Career Path ที่ใช่
Generalist คือ คนที่เก่งและมีความสามารถรอบด้าน แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ หรือที่เรามักจะเข้าใจกันว่า ‘รู้อย่างเป็ด’ นั่นเอง
Specialist คือ คนที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ และมักเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่ทำอย่างเฉพาะเจาะจง
หากพูดถึงในแง่ของบทบาทหน้าที่ในองค์กร การทำงานของ Generalist มักจะได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่า เช่น สำหรับวงการแพทย์ Generalist เปรียบเสมือนแพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่เฉพาะทาง ที่รับรักษาคนไข้ได้หลากหลายกลุ่มมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุ แต่ก็จะอาจจะไม่สามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้ดีเท่าแพทย์เฉพาะทาง
ในทางกลับกัน การทำงานของ Specialist ก็จะค่อนข้างแคบและเฉพาะเจาะจงในด้านใดหนึ่ง แต่ยิ่งเราทำงานแคบมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสั่งสมประสบการณ์และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนกับแพทย์เฉพาะทาง ที่อาจไม่ได้รักษาคนไข้ได้หลากหลายเท่าแพทย์ทั่วไป แต่สามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้ดีกว่า
เพราะฉะนั้น เพื่อค้นหา Career Path ที่ใช่สำหรับก้าวต่อไป เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่า บทบาทและหน้าที่แบบไหนในองค์กรที่เราอยากจะเป็น การเติบโตในเส้นทางไหนที่เหมาะกับความรู้ความสามารถของเรา และที่สำคัญที่สุด คือ ข้อดีและข้อเสีย สำหรับการเป็น Generalist และ Specialist เพื่อให้เราสามารถวางรากฐานไปสู่ก้าวต่อไปได้อย่างเหมาะสมและมั่นคง
ข้อดีและข้อเสียสำหรับการเติบโตในเส้นทาง ‘Generalist’
ข้อดีสำหรับการเติบโตในเส้นทาง Generalist คือ
มองเห็นภาพรวมของการทำงานทั้งระบบได้ดีกว่า เนื่องจากความรู้ความสามารถที่หลากหลาย จะทำให้เราเข้าใจหลักการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานส่วนต่างๆ ขององค์กรได้เป็นอย่างดี และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นภายในองค์กร Generalist ยังสามารถแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายได้อีกด้วย
ความยืดหยุ่นในการทำงาน ด้วยความรู้ความสามารถและทักษะที่หลากหลาย ทำให้ Generalist สามารถย้ายงานและเปลี่ยนสายงานได้คล่องตัวมากกว่า อีกทั้งมักไม่ค่อยมีปัญหาหมดไฟในการทำงาน จากการทำงานแบบ Routine
- เติบโตได้อย่างรวดเร็วในสายงาน Management ผลจากทักษะการแก้ไขปัญหาและการสื่อสารระหว่างทีมที่โดดเด่น ย่อมทำให้ Generalist มักจะเป็นที่หมายปองในสายงาน Management และแน่นอนว่าอนาคตของเหล่า Generalist จะสวยงามแน่นอนในงานสายนี้
ข้อเสียสำหรับการเติบโตในเส้นทาง Generalist คือ
ขาดความมั่นคงในหน้าที่การงาน เมื่อเปรียบการหาคนเข้ามาทำงานระหว่าง Generalist และ Specialist นั้น การหาคนเข้ามาแทนที่ Generalist ย่อมเกิดขึ้นง่ายกว่า เนื่องจากพวกเขาไม่มีความสามารถหรือทักษะใดเป็นพิเศษ ทำให้ Generalist มักจะเผชิญกับความมั่นคงในหน้าที่การงานมากกว่า
- เหนื่อยล้าจากการทำงานที่หลากหลายเกินไป Generalist มักจะได้รับมอบหมายให้ทำงานในหลากหลายบทบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะมากมายในการทำงาน จนบางครั้งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่หลากหลายเกินไป
ข้อดีและข้อเสียสำหรับการเติบโตในเส้นทาง ‘Specialist’
ข้อดีสำหรับการเติบโตในเส้นทาง Specialist คือ
คู่แข่งน้อยกว่า เนื่องจากในตลาดแรงงานนั้น ปริมาณคนที่มีความสามารถหรือทักษะเฉพาะทางย่อมมีน้อยกว่าคนทั่วไป ยิ่งทักษะและความสามารถของเราเฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ คู่แข่งก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น และอาจส่งผลให้เราสามารถเรียกเงินเดือนได้สูงขึ้นด้วย
พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานได้ดีกว่าเดิม การทำงานในสาย Specialist จะเปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาและฝึกฝนทักษะความสามารถที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ผ่านประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมทุกวัน ทำให้เราสามารถพัฒนากลายเป็น Specialist แบบที่ทุกคนต่างต้องการได้
ข้อเสียสำหรับการเติบโตในเส้นทาง Specialist คือ
ทักษะและความสามารถที่มีอยู่ อาจกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในวันข้างหน้าได้ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายเกิดขึ้นทุกวัน อาจทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ทักษะและความสามารถที่เรามีอยู่ อาจถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เนื่องจาก Specialist มักจะมีความสามารถและทักษะเฉพาะทางในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ทำให้การค้นหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อเหล่า Specialist พบเส้นทางและตำแหน่งงานที่เหมาะสมแล้ว พวกเขามักจะจบลงด้วยการทำงานนั้นหลายปี หรืออาจจะตลอดทั้งชีวิตการทำงานเลยด้วยซ้ำ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเส้นทางไหน คือ เส้นทางที่ใช่สำหรับเรา
ค้นหาก่อนว่า อะไร คือ สิ่งที่เราชอบและอยากจะทำต่อไปในอนาคต แล้วพิจารณาดูว่า เราอยากจะเรียนรู้ในสิ่งนั้นแบบเจาะลึกหรือไม่? หรือเราอยากเรียนรู้ในสิ่งอื่นประกอบกันไปด้วย ขั้นตอนนี้จะเป็นตัวช่วยตัดสินใจในเบื้องต้นว่า เราจะเดินไปตามเส้นทางไหนต่อไป
ถามใจตัวเองว่า ถ้าเราตัดสินใจจะเรียนรู้อะไรสักอย่างแบบเฉพาะเจาะจงแล้ว เราสามารถทุ่มเทและอยู่กับมันได้นานแค่ไหน? เนื่องจากถ้าเราตัดสินใจจะเติบโตในสาย Specialist แล้ว การจะเปลี่ยนใจไปทำงานในสายงานอื่นภายหลัง อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรารู้สึกหลงใหลและมีความสุขที่จะเรียนรู้กับอะไรบางอย่างแล้ว ก็แนะนำว่าไปให้สุดทางเลย แล้วชีวิตการงานของเราจะเป็นไปได้ด้วยดีแน่นอน
พิจารณาข้อดีและข้อเสียของการเป็น Generalist และ Specialist ให้รอบด้าน เพราะ ทุกการกระทำและตัดสินใจย่อมมีทั้งส่วนได้และส่วนเสียเสมอ เลือกว่าอะไรที่เหมาะกับชีวิตเรามากที่สุด เพราะ สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครออกแบบชีวิตให้เราได้ดีเท่าตัวเราเองอีกแล้ว
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn
ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]