เปิดเส้นทางสาย Data Analytics สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ กว่าจะได้งานหลังเรียนจบต้องเตรียมตัวอย่างไร | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เปิดเส้นทางสาย Data Analytics สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ กว่าจะได้งานหลังเรียนจบต้องเตรียมตัวอย่างไร
By Siramol Jiraporn มกราคม 25, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ในโลกของเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอยู่ทุกวัน ทำให้หลายบริษัทโพสต์ตำแหน่งงานใหม่ๆ อยู่ตลอด นี่จึงเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครงานทุกคน แต่นักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่เปลี่ยนอาชีพควรเตรียมตัวอย่างไรหากไม่มีประสบการณ์การทำงานด้าน Data Analytics มาก่อน

แน่นอนว่าบริษัทต่างๆ ต้องการคนมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ถ้าถามว่าหากเราอยู่ในจุดที่กำลังหางานหลังเรียนจบหรือกำลังเปลี่ยนสายงาน เรามีโอกาสจะได้งานหรือไม่? คำตอบก็คือ มี หากเราเตรียมตัวดี แม้ไม่มีประสบการณ์ก็อาจหางานทำได้ไม่ยาก

วันนี้เราจะพาไปดูเส้นทางสาย Data Analytics ของ Rashi ผู้เป็นเด็กจบใหม่และไม่มีประสบการณ์การทำงานเต็มเวลามาก่อน แต่ก็ได้รับข้อเสนองานจนปัจจุบันเธอเป็น Data Analyst อยู่ที่ Blue Cross Blue Shield ในชิคาโก้ 

Data Analytics

การทำโปรเจกต์ที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ

Rashi เริ่มเรียน Data Science ในปี 2018 โดยในตอนนั้นมีความตั้งใจว่าจะเริ่มเรียนรู้ทักษะไปทีละอย่าง และในปัจจุบันก็ได้เป็นพนักงานเต็มตัวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล (Data Professional) ซึ่งวิธีที่จะทำให้มีความรู้ด้านข้อมูลหลายๆ ด้านก็คือ การทำโปรเจกต์ข้ามทักษะหลายๆ อย่าง ถ้าเรากำลังเรียน Python อยู่ ก็ให้เรียนรู้ SQL ตามด้วย R และ Tableau ในขณะที่เรากำลังเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็ให้ทำงานในโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับโปรไฟล์ของตัวเอง

การสร้าง Portfolio ในขณะเรียนเป็นสิ่งสำคัญ โดยการทำทุกอย่างที่ตนเองสนใจ ผ่านการออกไปหาโอกาสจากข้างนอก เช่น การทำโปรเจกต์ฟรีแลนซ์ เพื่อทำงานด้าน Data Analytics ให้ใกล้เคียงกับโลกการทำงานจริงๆ และแม้ว่าการลงคอร์สเรียนเพื่อประกาศนียบัตรเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ควรเตรียมความพร้อมด้วยทักษะที่ธุรกิจต่างๆ ต้องการ

ฝึกงานสร้างประสบการณ์ให้ตัวเอง

การฝึกงานเป็นทางเลือกที่ดีในการได้รับประสบการณ์การทำงานด้าน Data Analytics ในโลกการทำงานจริงๆ ไม่มีโปรเจกต์ไหนหรือประกาศนียบัตรใดที่สามารถช่วยเตรียมความพร้อมสู่การทำงานหลังเรียนจบได้ดีเท่าการฝึกงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ดีที่สุดที่อาจได้จากการฝึกงานก็คือ การได้รับข้อเสนองานหลังฝึกงานจบจากบริษัทนั้นๆ แต่ถึงจะไม่ได้รับโอกาสนี้ เราก็ยังได้รับประสบการณ์การทำงานอย่างคุ้มค่า

Rashi ได้ฝึกงานกับ PepsiCo ถึง 3 ครั้ง ซึ่งการฝึกงานตรงนี้ทำให้ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตและได้รับทักษะอื่นๆ มาอีกมากมาย เพราะการฝึกงานเป็นวิธีที่ดีในการเติมเต็มช่องว่างทางด้านทักษะให้กับตนเอง อีกทั้งยังได้รู้คุณค่าของ Transferable Skill ในสายงาน Data Science และสามารถนำทักษะตรงนี้ไปใช้กับการทำงานเต็มตัวในอนาคตได้

ใบประกาศนียบัตร การฝึกเขียนโค้ด การทำงานในโปรเจกต์ใหม่ๆ การตีพิมพ์บทความ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น การเขียนบล็อก สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่สนามการแข่งขันในการหางานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนแรกๆ ของการหางาน เช่น การสัมภาษณ์

สร้างเครือข่ายและหาเมนเทอร์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย

หลายคนอาจมองว่าการสร้างเครือข่ายคือ การได้รับ Referral หรือเป็นการเปิดประตูไปสู่การได้งานมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วการสร้างเครือข่ายจะทำให้เราได้รู้เกี่ยวกับความคาดหวังในอุตสาหกรรม อะไรคือสิ่งที่ Hiring Manager มองหาจากผู้สมัครงาน รวมถึงการได้เรียนรู้การเจรจาต่อรอง คนที่อยู่ในเครือข่ายของเราจะสามารถให้คำแนะนำในเรื่องเหล่านี้ได้

โดย Rashi โฟกัสไปที่การสร้างเครือข่ายกับคนที่ตัวเองอยากจะเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้า และถามคำถามคนนั้นในสิ่งที่จะทำให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางนั้นได้อย่างถูกต้อง

เมื่อสร้างเครือข่ายแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการหาเมนเทอร์ โดยอาจจะเป็นศาสตราจารย์ ผู้จัดการฝึกงาน เพื่อนจากโรงเรียน หรือใครบางคนที่เรารู้จักบน LinkedIn ก็ได้ วิธีนี้จะทำให้เป้าหมายของเราชัดขึ้น เพราะเมนเทอร์จะช่วยนำทางและเตรียมตัวเราให้เข้าสู่โลกของการทำงานได้

“ธุรกิจต่างๆ มีปัญหาเข้ามาทุกวัน แต่สิ่งสำคัญในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลคือ เราต้องรู้ว่าตัวเองชอบทำงานอะไร และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การรู้ว่าตัวเองไม่ชอบทำงานอะไร” นี่คือสิ่งหนึ่งที่ Rashi ได้เรียนรู้จากเมนเทอร์ของตัวเอง

ค้นหาสิ่งที่ใช่ให้กับตัวเอง

จากคำแนะนำของเมนเทอร์ Rashi จึงได้เริ่มสำรวจว่าตัวเองชอบทำอะไรในช่วงฝึกงานจบ และสื่อมันออกมาในเรซูเม่ของตัวเอง ซึ่งจากการสำรวจนี้ทำให้ได้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบการทำงาน Data Scientist และ 90% ของงานที่ Rashi สมัครไป ก็คือตำแหน่ง Data Analyst

โดยการค้นหาตัวเองสามารถทำได้ตั้งแต่การลองทำโปรเจกต์ต่างๆ การได้รับประกาศนียบัตร การฝึกงาน การสร้างเครือข่าย และการอ่านเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีข้อมูลเป็นจุดเด่น จะทำให้เราเข้าใจความต้องการในบทบาทนี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ถูกปฏิเสธระหว่างการหางานน้อยลงได้

สุดท้ายนี้เป็นคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่กำลังมองหางานว่า ให้มองหาบริษัทที่กำลังเติบโตเพื่อที่เราจะได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีอิมแพคที่ยิ่งใหญ่ มากกว่าการมองหาบริษัทใหญ่ๆ แต่สามารถสร้างอิมแพคได้เพียงเล็กน้อย

ที่มา - Towards Data Science


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/how-to-get-a-first-job-in-data-analytics-with-no-experience