‘โอสถสภา’ นับว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและแข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผู้คนมากมายย่อมรู้จักและคุ้นเคยกับชื่อขององค์กรแห่งนี้มาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้หลายคนไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว โอสถสภา มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 130 ปี
แล้วอะไร ? คือ เคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้โอสถสภา สามารถก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วนได้อย่างมั่นคง พร้อมกับแนวทางการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค ‘Digital Transformation’ ที่ทำให้องค์กรทันสมัยอยู่ตลอดเวลาและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
จากร้านขายยาเล็ก ๆ ย่านสำเพ็ง สู่องค์กรใหญ่ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทย
จุดเริ่มต้นของโอสถสภา มีที่มาจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็งที่มีชื่อว่า ‘เต๊กเฮงหยู’ ซึ่งก่อตั้งโดย นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2434 โดยสินค้าที่เป็นที่เลื่องลือของผู้คนในสมัยนั้น ได้แก่ ยากฤษณากลั่น ที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาและบรรเทาอาการปวดท้องต่าง ๆ จนกระทั่งถูกทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม
จากความนิยมและชื่อเสียงของยากฤษณากลั่นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการร้านขายของเบ็ดเตล็ดเริ่มขยับขยายและย้ายไปยังถนนเจริญกรุง เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โอสถสถานเต๊กเฮงหยู’ ที่ผลิตยาสามัญประจำบ้านอีกหลายชนิดที่เราคุ้นเคยกันจนถึงทุกวันนี้ เช่น ยาอมโบตัน และยาทัมใจ เป็นต้น
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2492 ด้วยธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงนำไปสู่การขยายฐานการผลิต ด้วยการจัดตั้งโรงงานฝ่ายผลิตย่านซอยหลังสวน โดยติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อรองรับการผลิตที่เติบโต และยังเป็นปีที่ได้จดทะเบียนบริษัท และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด’ นับเป็นการก้าวเข้าสู่วงการในฐานะองค์กรอย่างเต็มตัว
แม้ว่ายาสามัญประจำบ้านหลายชนิด จะเป็นที่นิยมและครองตลาดไทยในยุคนั้นอย่างมาก แต่โอสถสภาก็ยังคงมุ่นมั่นพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดอยู่เสมอ อาทิเช่น
‘ลิโพ’ เครื่องดื่มบำรุงกำลังรายแรกของประเทศไทย ที่ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทโช ฟาร์มาซูติคอล จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2508 และ ‘M-150’ เครื่อมดื่มบำรุงกำลัง ที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของตลาดในประเทศไทย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 จวบจนปัจจุบัน
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2538 บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โอสถสภา จำกัด’ พร้อมกับความสำเร็จในการขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าเดิม ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์โอสถสภาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่งท้ายที่สุด ในปี พ.ศ. 2561 จากการปรับตัวขององค์กรที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แปรสภาพเป็น ‘บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน)’ และได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในองค์กรที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
‘Corporate Cultural Evolution’ ในฐานะกุญแจสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรในยุค ‘Digital Transformation’
สิ่งหนึ่งที่ทำให้โอสถสภา แตกต่างจากองค์กรใหญ่อื่น ๆ ที่อยู่มานานและมักจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คือ ความสามารถในการปรับตัวขององค์กรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุค ‘Digital Transformation’ ที่ทุกอย่างกำลังจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเช่นนี้
เพื่อเป็นการปรับเกมให้ทันต่อความรวดเร็วในยุคดิจิทัล โอสถสภา ได้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ ให้บุคลากรที่เป็นฟันเฟืองหลัก สามารถก้าวข้ามแบบทดสอบครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำมาใช้ คือ แนวคิดการทำงานแบบ Agile
แนวคิดการทำงานแบบ Agile เป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นความคล่องตัว เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี ทั้งนี้การทำงานในรูปแบบ Agile ไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน สินค้าและบริการ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดีกว่า
เมื่อโอสถสภานำแนวคิดการทำงานแบบ Agile มาปรับใช้กับการทำงานภายในองค์กร ทำให้วัฒนธรรมการทำงานมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นองค์กรที่มีการบูรณาการสูง เกิดการร่วมมือกันระหว่างพนักงานและองค์กร จนพัฒนามาเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้พนักงานทั้งองค์กรขับเคลื่อนไปด้วยเป้าหมายเดียวกันได้ดีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับกลยุทธ์ Digital Transformation แล้ว ความท้าทายอีกประการขององค์กรที่อยู่มาอย่างยาวนาน คือ จะทำอย่างไร? ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตได้ โดยไม่เกิดปัญหาทางด้านความแตกต่างของเจเนอเรชั่น เพราะ ถ้าหากคนรุ่นใหม่ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทภายในองค์กรได้ วัฒนธรรมองค์กรที่ปรับเปลี่ยนไปก็อาจไม่ช่วยนำพาองค์กรก้าวไปสู่เส้นทางใหม่ได้จริง
พบกับคุณปาจรีย์ แสงคำ Head of Digitization จากโอสถสภา ที่จะมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดในการปรับตัวขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลง ‘Digital Transformation’ ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตอย่างแท้จริง รวมไปถึงทักษะสำคัญที่คนรุ่นใหม่ต้องมีและองค์กรต่างมองหา เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งบุคลากรและองค์กรจะสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
ห้ามพลาด! ร่วมหาคำตอบไปกับ คุณปาจรีย์ แสงคำ ได้ที่งาน ‘ConNEXT Virtual Job Fair and Career Talk 2021’ powered by Techsauce วันที่ 7-8 สิงหาคม 2564 นี้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี ได้ที่ https://bit.ly/3khigG0
บทความนี้เป็น Advertorial