ชีวิตของเด็กจบใหม่ที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ทำงานก่อน’ กับ ‘เรียนต่อ’ จนสุดท้ายติด Top U อเมริกา | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ชีวิตของเด็กจบใหม่ที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ทำงานก่อน’ กับ ‘เรียนต่อ’ จนสุดท้ายติด Top U อเมริกา
By Siramol Jiraporn พฤษภาคม 20, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่ช่วงการตัดสินใจเลือกระหว่าง ‘ทำงาน’ กับ ‘เรียนต่อปริญญาโท’ หลายคนคิดแล้วคิดอีกก็ยังคิดไม่ออกว่าควรเลือกเส้นทางไหนดี เพราะการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากบางคนอาจจะรู้สึกว่าเพิ่งเรียนจบก็อยากจะมีประสบการณ์ทำงานในระดับหนึ่งก่อน แต่ก็รู้สึกว่าอยากเรียนต่อปริญญาโทเพื่อเปิดเส้นทางไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ หรือการย้ายประเทศ 

คุณแพรวา กุลัตถ์นาม เป็นหนึ่งในเด็กจบใหม่ที่ตัดสินใจทำงานก่อนเรียนต่อ เพื่อเป็นตัวอย่างของหนึ่งในทางเลือกที่หลายๆ คนกำลังสับสนอยู่ มาดูกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจทำงานก่อน จนสุดท้ายได้ทุนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของอเมริกา

เด็กจบใหม่

ปัญหาโลกแตกของเด็กจบใหม่: ทำงานก่อน VS เรียนต่อ

ตอนแรกเราก็เป็นหนึ่งในคนที่อยากไปเรียนต่อหลังเรียนปริญญาตรีจบ เพราะเราเห็นรุ่นพี่หลายคนเมื่อเรียนจบแล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโททันที แต่พอถึงจุดที่หาหลักสูตรว่าจะเรียนอะไรดี เรากลับไม่แน่ใจว่าควรเรียนอะไร ประกอบกับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะถามถึงเป้าหมายในระยะยาวว่าเราวางไว้อย่างไร และมีเงื่อนไขว่าต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ทำให้หลังเรียนจบพับโครงการเรื่องเรียนต่อไป

หลังจากนั้นจึงตัดสินใจให้เวลาในการค้นหาตัวเอง ด้วยการทำงานและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากเรียนอะไรกันแน่ แล้วระหว่างที่ทำงานก็ได้คุยกับใครหลายๆ คนที่เคยไปเรียนต่อและได้ทุนมาก่อน ทำให้ได้รู้จักทุนต่างๆ มากขึ้น รวมถึงรู้เส้นทางว่ากว่าจะได้ทุนต้องผ่านอะไรบ้าง เราก็เริ่มเก็บประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วสำหรับเรา เพราะถ้าเทียบตัวเราในตอนนี้กับตัวเราเมื่อ 3 ปีก่อน เราคงไม่สมัครคณะที่สมัครไปตอนนี้ และคงไม่ได้เห็นภาพตัวเองในอนาคตชัดเจนเท่าปัจจุบัน

ชีวิตหลังจากตัดสินใจเลือก ‘ทำงานก่อน’

ก่อนอื่นต้องแนะนำตัวก่อนว่าหลังตัดสินใจทำงานก่อน เราได้ผ่านการทำงานมาแล้ว 3 งาน แต่งานปัจจุบันที่ทำอยู่คือตำแหน่ง Programme Coordinator (International Unit) ที่ HITAP ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยเรามีหน้าที่ 2 อย่างคือ ประสานงานโครงการต่างประเทศและเป็นนักวิจัย เนื่องจาก Core business ของหน่วยงานคือวิจัยและหาหลักฐานมาแนะนำผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ

สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานด้านนี้เป็นเพราะตอนเด็กๆ เคยไปทำค่ายให้กับเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยไปจัดกิจกรรมให้น้องๆ เพื่อให้เขามีทักษะชีวิตเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่ได้เรียนในระบบการศึกษาแล้วจะไปต่ออย่างไร ตั้งแต่ตอนนั้นมาเราก็เริ่มสนใจเรื่องนโยบายสาธารณะและการลดความเหลื่อมล้ำ เรียกได้ว่าพอเริ่มเห็นภาพที่เกิดขึ้นก็คิดว่าแค่เราคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่ประชาชนจะแก้กันเอง หลังจากนั้นเลยเริ่มเรียนคณะรัฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

พอเรียนจบออกมาอยากทำงานที่สร้างอิมแพคต่อสังคนที่เป็นวงกว้าง ซึ่งการทำงานที่บริษัทเอกชนก็สามารถสร้างอิมแพคได้ แต่เป็นอิมแพคแค่กับสังคมในวงแคบๆ จึงหันมาทำงานที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จะเห็นอิมแพคจากสังคมวงกว้าง อีกทั้งยังได้ทำงานเกี่ยวกับด้านนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแพชชันของเรามาตลอด สุดท้ายจึงรู้สึกลงตัวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ว่าด้วยเรื่องการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เด็กจบใหม่

งานที่ทำอยู่ปัจจุบันมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่งานที่รู้สึกว่าสร้างอิมแพคมากที่สุดเป็นงานในประเทศ ปกติองค์กรภาครัฐออกนโยบายหรือโครงการมา แต่ไม่เคยมีการประเมินแบบจริงๆ จังๆ ว่านโยบายที่ออกมาสร้างอิมแพคให้กับกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ แต่เรามีโอกาสได้ทำโปรเจกต์หนึ่งที่ได้กลับไปดูองค์กรที่ทำด้านความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ว่าโครงการต่างๆ ที่ออกมานำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการหรือไม่ ตอนนั้นก็มีโอกาสได้ลงไปสัมผัสกับคนที่ทำงานจริงๆ สิ่งที่ทำให้รู้สึกภูมิใจกับงานนี้เพราะงานนี้เติมเต็มแพชชันของเรา และเราได้เป็นหนึ่งในคนทำงานที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ อีกทั้งยังได้รู้จักกับภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนวัฒนธรรมการทำงานที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรก็ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น เนื่องจากในองค์กรมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ หลังเลิกงานแล้วทุกคนก็จะเคารพเวลาส่วนตัวของกันและกัน เพราะจะไม่มีการตามงานนอกเวลาทำงาน ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากบริษัทเอกชนไทยที่เคยเจอ ตอนนั้นเราทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาส่วนตัว

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำงานอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้คือ ที่นี่จะไม่ค่อยมีช่องว่างระหว่างหัวหน้ากับเรา เราสามารถพูดคุยกันได้ตามตรง เนื่องด้วยที่นี่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราก็จะสามารถเปิดอกคุยกันและฟีดแบ็กกันได้ตามตรงโดยไม่เก็บไปคิดมาก

คนทำงานที่อยากกลับเข้าสู่โลกการศึกษา

อย่างที่บอกว่าเราเคยอยากเรียนต่อ แต่พอมาคิดๆ ดูแล้วกลับไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไรกันแน่ เราเชื่อว่ามีหลายคนที่เป็นเหมือนกัน คำแนะนำที่เราใช้แล้วได้ผลและอยากส่งต่อให้ทุกคนคือ การเอาตัวเองไปลงมือทำจริงๆ และค้นหาตัวเองจากการทำกิจกรรม ถึงแม้เราจะไม่รู้คำตอบในทันทีว่าเราชอบอะไร แต่อย่างน้อยก็จะทำให้รู้ว่าเราไม่ชอบอะไร 

หลังจากเราทำงานและเก็บประสบการณ์มาสักพักเราก็รู้ตัวเองว่าอยากเรียนต่อด้านนโยบายสุขภาพ เนื่องจากเมื่อทำงานแล้วรู้สึกว่ายังมีส่วนที่ติดๆ ขัดๆ อยู่ เพราะมีบางส่วนของงานที่ต้องมีความรู้ด้าน Clinical ของสุขภาพโดยตรง เช่น นโยบายวัคซีน ทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้าเรารู้มากกว่าแค่กระบวนการทำนโยบาย เราไม่อยากให้นโยบายที่เราเป็นคนแนะนำเป็นนโยบายที่กว้างๆ มากเกินไป เพราะสุดท้ายอาจจะทำให้ภาครัฐใช้เงินภาษีที่ได้มาไม่คุ้ม จึงตัดสินใจว่าจะเรียนนโยบายด้านสุขภาพโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะไปเรียนต่อ เราก็เริ่มกำหนดขอบเขตว่าสนใจประเทศไหน และประเทศไหนที่เหมาะกับความเป็นตัวเราบ้าง โดยเรามีสองประเทศหลักๆ ในใจคือ อังกฤษกับอเมริกา เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จบจากที่นี่เพราะมีระบบสุขภาพคล้ายกับประเทศไทย ส่วนอเมริกาเป็นที่ที่มีหลักสูตรให้ทำอะไรมากกว่าแค่การเลคเชอร์ในห้องเพราะใช้เวลาในการเรียนนานกว่าอังกฤษ สุดท้ายเราคิดว่าอเมริกาเหมาะกับเรามากกว่า อีกทั้งอเมริกายังมีทุนจากมหาวิทยาลัยโดยตรงและมีขั้นตอนการสมัครไม่วุ่นวายมากด้วย

ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจเรียนต่อเราก็แนะนำให้เริ่มจากการหาหลักสูตรที่ชอบ ประเทศที่อยากจะไปเรียน ดูเรื่องช่วงเวลาการรับสมัครทุนและการสมัครมหาวิทยาลัยให้ดี คร่าวๆ ก็ให้เริ่มต้นจากตรงนี้ หลังจากนั้นก็ให้เลือก 3 มหาวิทยาลัยหลักๆ ที่คิดว่าติดแน่ๆ เลือกมหาวิทยาลัยแบบกลางๆ และเลือกมหาวิทยาลัยในฝันที่อาจจะติดหรือไม่ติดก็ได้ แต่อยากให้ลองสมัครดู ไม่อยากให้ตัดโอกาสตัวเอง เพราะตอนที่เราสมัครมหาวิทยาลัยของอเมริกา เช่น Duke University, Georgetown University เราก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะติดทุกมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่ผลสุดท้ายเราก็ทำได้

ก้าวข้ามกำแพงความคิดที่ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ 

เด็กจบใหม่

การเรียนต่างประเทศเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่ว่าบางคนรู้สึกว่าเส้นทางนี้ไกลเกินกว่าที่จะเอื้อมถึง แต่เราอยากจะบอกว่าเราก็เป็นคนที่เคยรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้มาก่อน เพราะเราก็เป็นแค่เด็กต่างจังหวัดธรรมดาๆ เพียงแต่เราโชคดีที่พ่อแม่ค่อนข้างสนับสนุนความฝันของเรา

สำหรับคนที่ไม่มีทุนส่วนตัวในการไปเรียนต่อมาก เราก็อยากจะบอกอีกว่าตอนนี้เราอาจจะมองไม่เห็นว่าเราจะไปเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างไร แต่ถ้าเราอยากไปจริงๆ และมีแรงขับที่มากพอ สุดท้ายเราก็จะหาทางนั้นจนเจอ เพราะเส้นทางสู่ความฝันของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เส้นทางเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ก็ควรค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเรียนต่อให้ดี เพราะปัจจุบันมีแหล่งข่าวให้อ่านมากมายที่ทำเรื่องการเรียนต่อ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเปิดช่องยูทูปเป็นของตัวเอง เพื่อแชร์ประสบการณ์เรื่องต่างๆ ที่เคยผ่านมาก่อนให้กับคนที่อาจจะกำลังเผชิญเรื่องแบบเดียวกันอยู่ เช่น การแนะนำทุน เพราะเรารู้สึกว่าเรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีคอมมูนิตี้แบบนี้ เราจึงอยากสร้างคอมมูนิตี้นี้ส่งต่อพลังให้กับน้องๆ ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

สำหรับคนที่สนใจสามารถติดตามได้ที่: https://www.youtube.com/c/wawakul


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/should-new-grads-work-or-study-after-graduation